30 ส.ค. 2019 เวลา 05:01 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
* สถานที่มหัศจรรย์ (และอันตราย) ที่ยังไม่ถูกนักวิทยาศาสตร์ค้นพบ
TED talk : The fascinating (and dangerous) places scientists aren't exploring-Ella Al-Shamahi >>
“ฉันมีบางอย่างน่าอายนิดหน่อยจะสารภาพ”
“ตอนอายุ 17 ในฐานะ​ Creationist ฉันตัดสินใจเรียนต่อมหาวิยาลัย มุ่งมั่นศึกษาเรื่องวิวัฒนาการเพื่อจะได้พิสูจน์ว่ามันผิดและทำลายองค์ความรู้นี้ซะ”
“ต่อมาความคิดนี้ก็พังไม่เป็นท่า เพราะสุดท้ายฉันกลายเป็นนักชีววิทยาศึกษาเรื่องวิวัฒนาการเสียเอง”
ใน TED talk ตอนที่แล้ว EveryGreen ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับวิวัฒนาการไว้
ทำให้นึกถึง TED talk ตอนนี้ขึ้นมา เพราะในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์และศรัทธาพระเจ้าจะมีคนไม่เชื่อเรื่องวิวัฒนาการอยู่ ถึงขั้นมีการจัดงานโต้เถียงอย่างเป็นทางการ ความเชื่อทางศาสนาที่ว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกและสร้างสิ่งมีชีวิตทุกอย่างให้เหมือนอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ (Creationism) จึงกลายมาเป็นความเชื่อสำคัญที่ส่งต่อกันมา เกิดเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่มีวันจบสิ้นระหว่าง Creationism และ Evolution (วิวัฒนาการ) ส่วนคนที่เชื่อว่าพระเจ้าคือผู้สร้างโลก จะเรียกตัวเองว่า Creationist ดังที่ผู้พูดคนนี้ได้กล่าวไว้ข้างต้น
”ฉันเป็นนักบรรพชีวินวิทยา ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมาของมนุษย์ มีความเชี่ยวชาญด้านการตามหาฟอสซิลโดยเฉพาะบริเวณที่อันตรายอย่างในถ้ำ ในประเทศที่ไม่สงบหรือเป็นเขตสงคราม”
“ฉันอยากไปประเทศเยเมน (Yemen) ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี ถึงแม้คุณจะบอกได้จากสำเนียงการพูดว่าฉันเป็นคนอังกฤษ แต่ฉันมีลักษณะภายนอกเหมือนคนอาหรับ แน่นอน เพราะครอบครัวของฉันเป็นคนอาหรับมาจากเยเมน”
Homo sapiens หรือมนุษย์ยุคปัจจุบัน มีต้นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา แต่ต่อมาได้อพยพไปทางแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง ดังนั้นถ้าดูจากแผนที่จะพบว่าประเทศเยเมนมีความเป็นไปได้สูงที่จะพบฟอสซิลบรรพบุรุษของมนุษย์
Ella วางแผนจะไปสำรวจพื้นที่บริเวณถ้ำ เพราะถ้ำถือเป็นอสังหาริมทรัพย์ดั้งเดิมของมนุษย์และส่วนใหญ่ฟอสซิลที่ถูกขุดพบในถ้ำจะยังคงมีความสมบูรณ์อยู่มาก เพราะถูกเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิที่เย็นกว่าสภาพแวดล้อมด้านนอก
1
แต่แล้วแผนสำรวจเยเมนของ Ella ก็ต้องถูกระงับเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ไม่กี่วันก่อนหน้าเธอจะบินเข้าประเทศเยเมน มีการวางระเบิดที่สนามบินในเมืองหลวง ส่งผลให้สายการบินถูกยกเลิกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออก สงครามดำเนินต่อไปอีก 4 ปี
แต่ระหว่างนั้นเธอไม่ละความพยายามในการหาทางกลับไปที่ประเทศเยเมน ทำทุกวิถีทางทั้งขอเงินทุนจากหน่วยงานต่างๆ พยายามตั้งกลุ่ม เปิดรับอาสาสมัคร หรือขอความร่วมมือไปยังองค์กรวิชาการเพื่อให้แผนสำรวจฟอสซิลในประเทศเยเมนเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะไม่มีใครกล้าเข้าร่วมหรือให้การสนับสนุนเนื่องจากว่าประเทศเยเมนอยู่ในพื้นที่สงคราม เป็นสถานที่ที่อันตรายเกินไป
แต่โชคชะตาก็ยังไม่ใจร้ายมากนัก เมื่อมีคนแนะนำให้ Ella รู้จักเกาะ Socotra
เป็นเกาะที่ตั้งแยกออกมาและปลอดภัยจากสงคราม ถูกเรียกว่า ‘เกาะกาลาปากอสแห่งมหาสมุทรอินเดีย‘ เนื่องจากเป็นเกาะที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีสภาพแวดล้อมเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใดบนโลกนี้ การเดินทางไปเกาะ Socotra ต้องใช้วิธีเดินเท้า ขี่อูฐ และนั่งเรืออีก 3 วันข้ามไปยังเกาะ เป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยความลำบากและต้องพึ่งพาไกด์ที่ทำหน้าที่ล่ามในตัวด้วย
“แต่เมื่อฉันไปถึง Socotra ฉันพบว่ามันคุ้มค่ามากเพราะเกาะแห่งนี้ไม่เหมือนสถานที่ใดๆในโลก​ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังยืนอยู่บนดาวดวงอื่นมากกว่า"
"90% ของสัตว์เลื้อยคลาน และ 37% ของพืชบนเกาะนี้มีแค่ที่นี่เท่านั้น ไม่ปรากฎที่อื่น รวมถึงต้นเลือดมังกร (Dragon’s blood tree) ที่ให้ของเหลวสีแดงคล้ายเลือดเวลาโดนกรีดนี้ด้วย”
“มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ฉันตกใจกว่านั้น ผู้คนบนเกาะ Socotra บางส่วนยังอาศัยอยู่ในถ้ำ"
"คุณลองคิดดูว่าถ้าถ้ำยังคงเป็นที่อยู่อาศัยหลักของผู้คนในศตวรรษนี้ หมายความว่าอาจมีหลักฐานทางฟอสซิลในยุคไม่กี่พันปีก่อนหลงเหลืออยู่ให้เราขุดค้นพบ และเนื่องจากเกาะนี้เป็นพื้นที่เปราะบางเพราะเผชิญทั้งประเด็นทางเมืองของประเทศเยเมนและกำลังประสบปัญหาภาวะโลกร้อน เราจึงต้องรีบศึกษาเก็บข้อมูลก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป”
”หลายครั้งที่นักบรรพชีวินวิทยาอย่างฉันถูกห้ามไม่ให้เข้าไปศึกษาในประเทศที่ไม่มีความมั่นคงหรือเขตสงคราม แต่ไม่ได้หมายความว่าแค่พื้นที่หนึ่งของประเทศอยู่ในเขตสงคราม แล้วทั้งประเทศจะต้องเกิดสงครามเสียเมื่อไหร่”
อย่างเช่นถ้ำ Shanidar ที่ตั้งอยู่ในประเทศเคอร์ดิสถานติดกับอิรัก เป็นถ้ำที่มีการขุดพบกะโหลกฟอสซิลมนุษย์โบราณ Neanderthal ที่มีความสมบูรณ์มากเป็นครั้งแรก ตั้งชื่อว่า Shanidar 1 ทำให้สามารถใช้เทคโนโลยีจำลองภาพ 3 มิติจากกะโหลกเพื่อดูหน้าตาที่แท้จริงของมนุษย์ Neanderthal ได้
ข้อมูลทางฟอสซิลที่ถูกขุดพบ ทำให้ทราบว่า Shanidar 1 เคยได้รับบาดเจ็บทางร่างกายอย่างรุนแรง และคงไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้ถ้าไม่ได้รับการดูแลจากมนุษย์ Neanderthal คนอื่น หมายความว่ามนุษย์โบราณนั้นมีสังคมช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนพวกเราในปัจจุบัน
นอกจากนั้นภายในถ้ำนี้ยังขุดพบกระดูกของมนุษย์ Neanderthal อีกอย่างน้อย 10 คน หนึ่งในนั้นพบฟอสซิลของเกสรดอกไม้อยู่ใกล้ๆกัน สันนิษฐานได้ว่ามนุษย์ Neanderthal มีพิธีกรรมทำศพโดยใช้ดอกไม้โปรยไว้รอบๆ
“ฉันจะขอกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ภูเขาสูง มหาสมุทรที่ลึกที่สุด หรือแม้กระทั่งในอวกาศ แต่กลับไม่กล้าเข้าไปในพื้นที่ไม่สงบ โดยให้เหตุผลว่าเสี่ยงเกินไป สำหรับคนที่ต้องศึกษาฟอสซิลอย่างฉัน ประเทศเหล่านั้นคือประเทศที่น่าสนใจ ยังมีความรู้ใหม่ๆของมนุษย์ยุคโบราณรอให้เราไปขุดพบ เพื่อที่จะได้พิสูจน์ว่ามันไม่มีอยู่จริงๆหรือเราไม่ได้ออกไปค้นหากันแน่”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา