30 ส.ค. 2019 เวลา 09:15 • ไลฟ์สไตล์
ซีรีส์แสงชีวิต ::::: เนื้อคู่ 2/2 :::::
ตอน 'เนื้อคู่ คู่สร้างคู่สม'
'วิธีการเลือกคู่ที่เหมาะสมกัน'
'สมชีวิธรรม'
ที่มา: 84000.org
::::: สำนวนที่ ๑ :::::
วิธีดูเนื้อคู่ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ เลือกยังไงให้ได้คู่ที่เหมาะสม ครองคู่กันอย่างยั่งยืน สมหวังในรัก มั่นคงในรัก คนนี้สิตัวจริง
การเลือกคู่ครองก็เหมือนกับการเสี่ยงดวง บางคนสมบูรณ์พร้อมแต่ไม่คู่ควรกัน บางคนแตกต่างกันมากเกินไป จนครองคู่อยู่กันได้ยาก แล้วเราจะเลือกคู่อย่างไร มาอ่าน วิธีดูเนื้อคู่ในแบบที่เหมาะสม กันดีกว่า ว่าต้องพิจารณาอะไรบ้าง
วิธีดูเนื้อคู่ในแบบที่เหมาะสม โดย ธ. ธรรมรักษ์ อธิบายว่า การที่คนสองคนจะเป็นเนื้อคู่ ก้าวไปสู่การที่จะเป็นคู่ครองกันได้แบบที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า “…ดูก่อนคฤหบดีและคฤหปตานีถ้าภรรยาและสามีทั้งสองหวังจะพบกันและกัน ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ (ชาติหน้า) ไซร้
ทั้งสองคนนั้นแลพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกัน ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ…” (สมชีวสูตร จ. อํ. (๕๕)ตบ. ๒๑ : ๘๐-๘๑ ตท. ๒๑ : ๗๑ ตอ. G.S. II : ๗๐)
ที่มา: 84000.org
การเลือกเนื้อคู่จึงแยกออกเป็น 4 ข้อหลัก
1.ศรัทธาเสมอกัน
หากเรามีความเชื่อและศรัทธาในสิ่งเดียวกัน เราก็จะมีมุมมองในเรื่องเดียวกัน ข้อดีหลัก ๆ ก็คือ เราจะไม่ทะเลาะเบาะแว้งและอยากเอาชนะคะคานกันและกัน ไม่ถกเถียงเพื่อให้ความเชื่อของเราชนะอีกฝ่าย ทำให้ครองคู่กันอย่างอยู่เย็นเป็นสุข นอกจากเรื่องศรัทธาเสมอกัน อีกอย่างที่สำคัญ คือความชอบและรสนิยม หากตรงกันแล้ว ก็จะลดความขัดแย้ง ลดเรื่องที่ต้องทะเลาะในแต่ละวันไปได้
พระพุทธองค์ได้ชี้ทางสว่างให้กับคนที่จะมาเป็นคู่ครองกัน สองคนนั้นควรต้องมีความเชื่อเสมอกันและไปในทิศทางเดียวกัน เช่น เชื่อในหลักศาสนาเดียวกัน เพราะถ้าไม่เชื่ออะไรที่เหมือนกัน ก็จะอยู่ด้วยกันแบบชีวิตไม่สงบสุขแน่นอน
ทั้งนี้ หากเป็นเนื้อคู่ประเภทคู่เวรคู่กรรมกันแล้ว ทั้งคู่มาที่มาพบกันก็เพราะมีกรรมลิขิต วิบากกรรมได้กำหนดไว้แล้ว มีเป้าหมายให้คนทั้งคู่มาชดใช้วิบากกรรมของคนทั้งคู่ที่มีต่อกันให้หมดสิ้นกันไป ซึ่งจะนานหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับวิบากกรรมนั้นจะหนักหรือจะเบา เมื่อหมดแล้วก็ต้องแยกย้ายกันไป หรือคู่ที่เลิกรากัน เปลี่ยนคู่บ่อย ๆ ก็เป็นเพราะอาจจะเป็นเนื้อคู่กันในปางก่อนจริง มาเกื้อกูลกันบ้างในชาติปัจจุบันจริง แต่เมื่อบุญที่ทำร่วมกันมันมีน้อย ใช้บุญกันไปจนหมดแล้วไม่มีทำเพิ่ม ถึงเวลาก็ต้องแยกย้ายกันไป
2.มีศีลเสมอกัน
ศีลเสมอกัน เป็นสิ่งที่คนพูดถึงกันบ่อย ๆ เวลาจะมองหาคู่ครองต้องให้มีศีลเสมอกัน อธิบายง่าย ๆ คือ คนที่รักษาศีล รู้จักยับยั้งชั่งใจ พากันไปสู่สิ่งที่ดีงาม ก็จะทำให้ชีวิตราบรื่น แต่หากสองคนนั้นมีศีลไม่เสมอกัน ก็เป็นเรื่องยากที่จะอยู่ด้วยกันได้
ในเรื่องศีลเสมอกัน ดูง่าย ๆ คนที่ชอบทำบุญ รักษาศีล ถ้าเจอคู่ครองที่ไม่รักษาศีล หรือศีลน้อยกว่า เช่น ชอบการพนัน ตกเย็นคว้าขวดเหล้า หรือทำอาชีพที่ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็ย่อมไม่ฟังในสิ่งที่เราพูด เราตักเตือน ทำให้มีเรื่องขัดข้องหมองใจกันง่าย
หากเราเจอคู่ที่มีศีลเสมอกันพากันเข้าวัด ทำบุญ ทำแต่ความดี ชีวิตย่อมเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน ไม่มีใครฉุดดึงชีวิตอีกฝ่ายให้ต่ำลง
3.จาคะเสมอกัน
คำว่า จาคะ มีความหมายว่า การสละสิ่งของและความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น หมายรวมถึงการสละละทิ้งกิเลส ละความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ ความใจแคบ และการเลิกละนิสัย ตลอดถึงความประพฤติที่ไม่ดี ที่ทำให้เกิดความเสียหาย
จะเห็นได้ว่า คนที่มีจาคะย่อมเสียสละเพื่อส่วนรวมได้ มีความเอื้ออาทรต่อความทุกข์ยาก คอยให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว หากคู่ของเรามีจาคะไม่เสมอกัน คงเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจว่าเพราะอะไรถึงต้องไปช่วยเหลือคนอื่น
คงจะดีไม่น้อย หากเราเลือกครองคู่กับคนที่มีจาคะเสมอกัน เป็นคนใจกว้าง ชอบทำบุญ สามารถช่วยคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนได้เหมือน ๆ กัน เมื่อเรารักจะเป็นผู้ให้ก็จะอิ่มอกอิ่มใจที่ได้ให้ แล้วยังสัมผัสถึงความสุขใจ เมื่อมองเห็นผู้รับยิ้มแย้ม พอใจ ทำให้ความสุขของผู้ให้ทวีเพิ่มขึ้นอีกด้วย
4.ปัญญาเสมอกัน
ปัญญาเสมอกันคืออย่างไร พระราชพรหมยานหรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ พระอริยสงฆ์องค์หนึ่งของเรา ครั้งหนึ่งท่านได้ตอบคำถามให้กับลูกศิษย์ เมื่อลูกศิษย์คนนั้นถามท่านว่า ปัญญาคืออะไร
ท่านจึงได้เมตตาตอบไปว่า ปัญญา ความหมายทั่วไปแปลว่าความรู้ที่เกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณา แปลว่าความเฉลียวฉลาดก็ได้ มิใช่รู้อย่างเดียวต้องนำเอาความรู้ที่ได้นั้นมาพิจารณาด้วย มิใช่ฉลาดอย่างเดียว ต้องมีเฉลียวใจด้วย
พระพุทธองค์ตรัสไว้ในเรื่องของการที่จะมาเป็นคู่ครองกัน ต้องมีปัญญาเสมอกัน ถ้าใกล้เคียงกันมากก็จะยิ่งมีความสุข ความเจริญ ทำอะไรก็ประสบผลสำเร็จ เนื่องด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญที่ทั้งคู่มีได้เกื้อหนุนกันและกัน
ไม่เพียงแต่ศีลเสมอกัน การมีศรัทธาเสมอกัน จาคะเสมอกัน และปัญญาเสมอกัน ก็จะช่วยนำพาให้คู่ครองคิดเห็นในเรื่องเดียวกัน มีความเชื่อในแบบเดียวกัน ครองคู่กันอย่างมีความสุข ยากต่อการทะเลาะเบาะแว้ง วิธีดูเนื้อคู่และการเลือกคู่ครองที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องอาศัยทั้ง 4 ข้อนี้เป็นสำคัญ
ที่มา : torthammarak.wordpress.com
คัดจาก: theasianparent.com
::::: สำนวนที่ ๒ :::::
ไม่ว่าใครก็อยากมีชีวิตคู่ที่ดี มีคู่ชีวิตที่จะครองคู่อยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต การอยู่ครองเรือนของคู่สมรส เป็นการร่วมกันนำชีวิตทั้งสองผ่านเหตุการณ์ทั้งปวงทั้งที่ดีและร้ายไปด้วยกัน เป็นชีวิตที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ทั้งปวง แต่การจะมีชีวิตสมรสที่จะมีความสุข มั่นคงยืนยาวได้นั้น คู่สมรสควรมีคู่ธรรมที่สม่ำเสมอกัน หลักธรรมส่งเสริมให้ชายหญิงที่เป็นคู่สามีภรรยา อยู่ครองเรือนกันอย่างยืดยาวนานจนแก่เฒ่า และตายจากกันไปในที่สุด และแม้ตายแล้วก็มีโอกาสเป็นคู่สามีภรรยากันอีกในชาติต่อไปนั้น มี 4 ประการ เรียกว่า สมชีวิธรรม 4 คือ สมสัทธา สมสีลา สมจาคา และสมปัญญา
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (พระไตรปิฎกเล่มที่ 21) ว่า
“ดูก่อน คฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสองหวังจะพบกันและกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ทั้งสองฝ่ายนั่นแหละพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะ เสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามีทั้งสองนั้น ก็จะได้พบกันและกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า”
จากพระพุทธพจน์นี้ ในหนังสือธรรมนูญชีวิต หมวดสาม คนกับคน ข้อ 13 คนร่วมชีวิต(คู่ครองที่ดี) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้กำหนดเรียกสามีภรรยาที่ประพฤติธรรมทั้ง 4 ประการนี้ว่า คู่สร้างคู่สม และได้ขยายความว่า
“มีหลักธรรมของคู่ชีวิตที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสอดคล้องกลมกลืนกันเป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองกันได้ยืดยาว เรียกว่า สมชีวิธรรม 4 ประการ คือ
1. สมสัทธา มีศรัทธาสมกัน เคารพนับถือในลัทธิศาสนา สิ่งเคารพบูชา แนวความคิดความเชื่อถือ หรือหลักการต่างๆ ตลอดจนแนวความสนใจอย่างเดียวกัน หนักแน่นเสมอกัน หรือปรับเข้าหากัน ลงกันได้
2. สมสีลา มีศีลสมกัน มีความประพฤติ ศีลธรรม จรรยา มารยาท พื้นฐานการอบรม พอเหมาะสอดคล้อง ไปกันได้
3. สมจาคา มีจาคะสมกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความโอบอ้อมอารี ความมีใจกว้าง ความเสียสละ ความพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นพอกลมกลืนกัน ไม่ขัดแย้งบีบคั้นกัน
4. สมปัญญา มีปัญญาสมกัน รู้เหตุรู้ผล เข้าใจกัน อย่างน้อยพูดกันรู้เรื่อง”
::::: สำนวนที่ ๓ :::::
สมชีวิธรรมทั้ง 4 ประการนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) ได้ขยายความหมายเชิงปฏิบัติไว้ (อีกสำนวนหนึ่ง) ดังนี้
1. สมสัทธา สามีภรรยามีศรัทธาเสมอกัน ศรัทธา คือความเชื่อ ความเลื่อมใส ทัศนคติ อุดมการณ์ ความคิดเห็นในเรื่องการทำความดี เรื่องผลแห่งความดีเรื่องบุญบาป เรื่องชาตินี้ชาติหน้า เป็นต้น สามีภรรยาที่มีความเชื่อในเรื่องเหล่านี้เสมอกัน ย่อมอยู่ด้วยกันได้ยืนนานกว่าสามีภรรยาที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันในเรื่องเช่นนี้
2. สมสีลา สามีภรรยามีศีลเสมอกัน ศีล คือความประพฤติ ปกตินิสัย การปฏิบัติตามคุณธรรม งดเว้นการทำผิดพูดชั่ว สามีภรรยาที่มีความประพฤติ มีปกตินิสัยเสมอกันหรือคล้ายคลึงกัน ย่อมเข้าใจกันดีกว่าสามีภรรยาที่มีนิสัยต่างกัน ประพฤติต่างกัน และพูดต่างกัน
3. สมจาคา สามีภรรยามีจาคะเสมอกัน จาคะ คือความเสียสละ ความเอื้อ อารีต่อกัน การบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น สามีภรรยาที่มีใจคอกว้างขวาง มีน้ำใจพอๆกัน ยินดีในการเสียสละ ชอบบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นเหมือนกัน และยินดีในการกำจัดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวของตนให้หมดไปเช่นกัน ย่อมอยู่ด้วยกันยืดกว่าสามีภรรยาที่มีใจคอคับแคบ แม้กระทั่งคู่ครองของตัว เป็นคนเห็นแก่ตัว ทั้งไม่ชอบช่วยเหลือใครๆ
4. สมปัญญา สามีภรรยามีปัญญาเสมอกัน ปัญญา คือความฉลาดรอบรู้ ความเข้าใจในบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ความฉลาดในการทำความดี สามีภรรยาที่มีปัญญามีความฉลาดรอบรู้ และฉลาดในการทำความดีพอๆกัน ย่อมอยู่ด้วยกันยืดยาวกว่าสามีภรรยาที่ต่างคนต่างไม่เข้าใจกัน ต่างไม่มีเหตุผล ไม่ใช้สติปัญญาเข้าหากัน มีแต่ใช้อารมณ์เข้าหากันตลอดเวลา
(พระธรรมกิตติวงศ์ : หลักธรรมสำหรับพัฒนาธรรมจริยา หน้า 116-117)
สามีภรรยาคู่ใดก็ตาม ที่นำหลักธรรมทั้ง 4 นี้ไปประพฤติปฏิบัติ ท่านเรียกสามีภรรยาคู่นั้นว่า คู่ครองที่ดี หรือ คู่สร้างคู่สม คือ มีหลักธรรมของคู่ชีวิตที่จะทำให้คู่สมรสมีชีวิตสอดคล้องกลมกลืนกันเป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะทำให้อยู่ครองกันได้ยืดยาว
(สำนวนที่ ๒ และ ๓ มาจากส่วนหนึ่งของหนังสือพุทธธรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 108 พฤศจิกายน 2552 โดยแก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)
ที่มา : www.manager.co.th/Dhamma
เพจ 'ธรรมะเน้นๆ A Great Degree Dhamma'
วันศุกร์ที่ ๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา