30 ส.ค. 2019 เวลา 09:00 • ประวัติศาสตร์
EP.4 | ประเทศที่ปลอมได้เเม้กระทั่งเเผ่นดิน
ถ้าพูดถึงประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิต “ของปลอม” หลายคนคงจะนึกถึง “จีน” เป็นอันดับเเรก !
เเต่รู้หรือไม่ว่า ? มีอีกประเทศหนึ่งที่ทำ “ของปลอม” ได้ดีไม่เเพ้กัน เขาปลอมได้เเม้กระทั่ง “เเผ่นดิน”
เเล้วประเทศนั้นคือประเทศอะไร ? เขาทำเเผ่นดินปลอมกันได้อย่างไร ? | สมองไหลจะเล่าให้ฟัง...
ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีพื้นที่เพียง 377,944 ตร.กม. คิดเป็น 2 ใน 3 ของประเทศไทย เเต่กลับมีประชากรมากถึง 126 ล้านคน (ประเทศไทยมีพื้นที่ 513,115 ตร.กม.)
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนญี่ปุ่นไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการใช้สอย รัฐบาลญี่ปุ่นจึงคิดหาวิธีที่จะเพิ่มเนื้อที่เเผ่นดินของประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ
สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ รัฐบาลญี่ปุ่นได้นำสิ่งที่เรียกว่า “ขยะ” ซึ่งเกิดจากประชากรกว่า 126 ล้านคน มาถมทะเลเพื่อสร้างเป็น “เเผ่นดินปลอม” ก่อนจะเนรมิตเป็นเมืองที่ชื่อว่า “โอไดบะ” เเละเกาะ "สนามบินคันไซ" ซึ่งมีเนื้อที่รวมกัน ประมาณ 1,900 ตร.กม. ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานครประมาณ 20%
1
เเต่กว่าจะมาเป็น “เเผ่นดินปลอม” อย่างที่ทุกคนเห็นกันในวันนี้ เรียกได้ว่าไม่ง่ายเลยเหมือนกัน เพราะญี่ปุ่นต้องใช้เวลาถึง 20 ปี ในการวางแผน ออกแบบเมือง และพัฒนานวัตกรรมกว่าจะออกมาเป็นสิ่งปลูกสร้างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย, บ้านเรือน, อาคารสำนักงาน ตลอดจนห้างสรรพสินค้า และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
เริ่มจากการปลูกฝังตั้งเเต่เรื่องของการเเยกขยะ ประเทศญี่ปุ่นเวลาจะทิ้งขยะต้องแยกขยะอยู่เสมอ แต่ละบ้านของคนญี่ปุ่นจะมีการจัดการแยกขยะแต่ละประเภทไว้ นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้เด็กนักเรียนชั้นประถมต้องมาทัศนศึกษาที่โรงเผาขยะเพื่อให้รู้ว่าการแยกขยะตั้งแต่ที่บ้านจะก่อให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง
เพราะในแต่ละวันจะมีรถมาเก็บขยะที่บ้านไม่ซ้ำประเภทกัน พวกเขาจะรู้ว่าควรทิ้งขยะประเภทใดในวันไหน โดยดูจากโปสเตอร์การทิ้งขยะ เช่น วันจันทร์และวันพฤหัสจะทิ้งขยะเผาได้ วันอังคารจะทิ้งขยะพวกพลาสติกและกระดาษ วันพุธจะทิ้งขวดพลาสติก กระป๋อง แก้ว ส่วนวันศุกร์จะทิ้งขยะที่เผาไม่ได้
หลังจากนั้นก็จะนำขยะไปจัดการตามกระบวนการที่ทันสมัย ก่อนจะนำมันไปถมทะเลเพื่อสร้างเป็น “เเผ่นดินปลอม”
ซึ่งวิธีการถมทะเลนี้เรียกว่า “การถมแบบแซนวิช” คือจะถมเป็นชั้นๆ โดยถมขยะไปก่อน 3 เมตรหลังจากนั้นก็ถมดินลงไปอีก 50 เซนติเมตร สลับกันไปแบบนี้จนมีความสูง 30 เมตร การทำเเบบนี้จะช่วยป้องกันกลิ่น ป้องกันแมลงและป้องกันการเกิดไฟไหม้ได้
เเต่ปัญหาก็คือ เเผ่นดินที่มาจากขยะเวลาฝนตกจะมีน้ำเสียไหลออกมา รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีการจัดการให้น้ำไหลไปที่บ่อเก็บน้ำเพื่อบำบัดน้ำเสียก่อนจะส่งไปที่การประปาโตเกียวเพื่อทำให้น้ำสะอาด
หากคุณมีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวเกาะ “โอไดะบะ” แล้วสังเกตเห็นพื้นที่ว่างๆ มีหญ้าเขียวๆ แทรกตัวขึ้นมาตามกลุ่มอาคาร เหมือนไม่ได้รับการดูแล แต่จริงๆ แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งใจให้พื้นที่เหล่านั้นมีหญ้าขึ้นเอง เพื่อเเสดงให้เห็นว่าผืนดินที่สร้างขึ้นมาจาก “ขยะ” ที่อยู่ใต้ดินนี้ปราศจากมลพิษ ต้นหญ้าเหล่านั้นจึงสามารถเจริญงอกงามขึ้นมาได้...
รู้หรือไม่ว่า ? โรงงานเผาขยะของญี่ปุ่นมีการเผาขยะตลอด 24 ชม. เเต่กลับไม่มีกลิ่นหรือมลภาวะใดๆออกมาจากโรงงานเลย เเถมประชาชนยังสามารถอาศัยอยู่บริเวณโรงงานเผาขยะได้อย่างปกติสุขอีกด้วย
พวกเขาสามารถจัดการกับมลภาวะเหล่านั้นได้อย่างไร เเล้วทำไมโรงงานเผาขยะของญี่ปุ่นถึงอยู่ร่วมกับประชาชนได้ | ซีรีย์ เรื่องเล่าจาก... เเดนอาทิตย์อุทัย ตอนหน้า… สมองไหลจะมาเล่าให้ฟัง !
หากถูกใจบทความนี้ ก็อย่าลืมกดไลค์ กดเเชร์ เเละกดติดตามเพจ "สมองไหล" กันด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดบทความดีๆ ที่มีมาเสริฟให้คุณทุกวัน
ขอบคุณครับ 🙏
Source :
โฆษณา