31 ส.ค. 2019 เวลา 14:43 • ธุรกิจ
โลกของกองทุน : ตอนที่ 6
Share Class ของกองทุนรวม
หากว่าคุณสนใจลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนพวกอสังหาริมทรัพย์ ก็คงพอรู้จักกองที่ชื่อ cimb-principal iprop มาบ้าง
แต่ถ้าวันนี้ต้องการจะซื้อกองดังกล่าว ปัจจุบันไม่มีกองชื่อนี้แล้ว
ก็เพราะว่าเขาเปลี่ยนชื่อเป็น principal iprop แทนยังไงละ
อ่านมาถึงตรงนี้อย่าเพิ่งหมั่นไส้ผมแล้วกดกดยกเลิกติดตามเพจนี้เลย ขอร้องนะ ส่วนใครที่เพิ่งอ่านบทความของเพจนี้ครั้งแรก ช่วยกดติดตามด้วยนะครับ
เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า หากว่าสนใจลงทุนในกอง principal iprop จะพบว่ามีหลายกองให้เลือกตั้งแต่ principal iprop-a, principal iprop-d, principal iprop-r แล้วมันคืออะไรกัน
Class ต่างๆของกอง principal iprop (ภาพจากแอพ nomura ifund)
ในความเป็นจริงแล้วทั้ง principal iprop-a, principal iprop-d, principal iprop-r เป็นกองเดียวกัน (อันนี้ผมไม่ได้ล้อเล่นเหมือนอันบนนะ)
แต่เป็นกองทุนที่มีการแยกชนิดหน่วยลงทุน หรือ Share class ให้มีความแตกต่างกันตามความต้องการของผู้ลงทุน
ในบทความนี้จะขอกล่าวเฉพาะ Share class ที่นักลงทุนทั่วไปสามารถซื้อได้
1. Class A
Class A เป็นชนิดหน่วยลงทุนประเภทสะสมมูลค่า พูดง่ายๆก็คือลงทุนแล้วไม่จ่ายปันผลให้
2. Class D
Class D เป็นชนิดของหน่วยลงทุนที่มีการจ่ายปันผลให้แก่ผู้ลงทุน
ทั้งนี้ทั้ง Class A และ Class D ผู้ลงทุนส่วนใหญ่จะเข้าใจได้ง่าย และคุ้นเคยเป็นอย่างดี
3. Class R
Class R เป็นชนิดของหน่วยลงทุนที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนให้บางส่วนให้แก่ผู้ลงทุนโดยอัตโนมัติ
หรือที่คนขายมักจะพูดว่า Auto redeem นั้นแหละ
อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจจะคิดว่า แล้วจะมี Class R มาเพื่ออะไร
ความจริงแล้ว Class R เกิดมาเพราะว่าต้องการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อปิดจุดอ่อนของ Class D
นั่นเพราะหากกองทุนที่ถืออยู่ประกาศจ่ายปันผล เงินปันผลนั้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ทันที
แต่ถ้าลงทุนกองทุนที่มีนโยบาย Auto redeem ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน เงินที่ได้จากการ Auto redeem นั้นจะไม่เสียภาษีใดๆ เพราะว่ากำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษี
ทั้งนี้กองทุนรวมชนิดหน่วยลงทุน แบบ Class R จะไม่มีใน LTF และ RMF เพราะว่าถ้ามีจะเข้าข่ายผิดเงื่อนไขทางภาษีทันที
ทั้งนี้ในรายละเอียดความต่างระหว่าง Class D และ Class R ถ้าเขียนลงในตอนนี้ทั้งหมดเลยอาจจะทำให้ยาวมาก ดังนั้นขอยกไปเขียนในตอนอื่นแทนครับ
นอกจากทั้ง 3 Class แล้วนั้นยังมี Class E ซึ่งในตอนนี้มี บลจ. ไทยพาณิชย์จัดจำหน่ายอยู่แห่งเดียว
ซึ่ง Class E ดังกล่าว เป็นชนิดหน่วยลงทุนที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมในการจัดการ และไม่คิดค่าธรรมเนียมตอนที่ผู้ลงทุนซื้อ
ซึ่งจะมีข้อดีคือจะทำให้ผู้ลงทุนจ่ายค่าธรรมเนียมที่ถูกลง
แต่ Class E ของ บลจ. ไทยพาณิชย์จะมีข้อแม้ว่าต้องซื้อผ่านแอพเท่านั้น
โฆษณาของ กองทุน SCBSET ประเภท E-Class (ภาพจากเว็บของ บลจ. ไทยพาณิชย์)
หลายคนที่พึ่งติดตามผมอาจจะสงสัยว่าตอนที่แล้วผมเขียนตอนที่ 0 แล้วทำไมตอนนี้ถึงเป็นตอนที่ 6 ไปได้
ความจริงแล้วผมเขียนตอนที่ 1-5 ก่อนหน้านั้นแล้ว และเนื้อหาในตอนที่ 0 มันมีเนื้อหาที่เป็นพื้นฐานในการลงทุนในกองทุน
ถ้ากำหนดเป็นตอนที่ 6 เลยก็อาจจะทำให้เนื้อหาดูข้ามไปข้ามมา
แต่ถ้าตั้งเป็นตอนที่ 1 ใหม่ อาจจะมีปัญหาต้องมาเรียงเลขตอนใหม่ เลยกำหนดเป็นตอนที่ 0 ไปเลยจะดีกว่า
สุดท้ายนี้ หากต้องการอ่านบทความในซีรีส์โลกของกองทุนสามารถคลิกได้ที่ลิงก์ด้านล่างได้เลยนะครับ ขอบคุณครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา