7 ก.ย. 2019 เวลา 15:13 • ธุรกิจ
โลกของกองทุน : ตอนที่ 7
NAV
สวัสดีครับก็ห่างหายไปหลายวันกับซีรีส์โลกของกองทุน
วันนี้ผมจะมานำเสนอเรื่องที่คนที่ลงในกองทุนเห็นทุกวันก็คือ NAV นั่นเอง
NAV หรือชื่อเต็มๆว่า Net Asset Value มีชื่อภาษาไทยว่า มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ
โดย NAV นั้นหาได้มาจาก มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาดรวมกับผลตอบแทนสะสม และหักออกจากค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุน
ถ้าเปรียบให้เข้าใจง่ายๆก็คือเราและเพื่อน 5 คนรวมเงินกันได้ 100 บาท ใช้จ่ายซื้อขนมไป 50 บาท เหลือเงิน 50 บาท
ทีนี้บางคนอาจจะงงกับคำว่าราคาตลาด มันคืออะไร
1
ต้องขออธิบายอย่างนี้ครับ ทรัพย์สินหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็น หุ้น หุ้นกู้ ทองคำ น้ำมัน มันจะมีตลาดที่ไว้สำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน
ดังนั้นเพื่อให้ NAV สะท้อนความเป็นจริงมากที่สุดเขาจึงใช้ราคาปิดของการซื้อขายทรัพย์สินนั้นๆมาคำนวณ NAV
เช่น กองทุนที่ลงในหุ้น เขาก็จะเอาราคาปิดของหุ้นที่กองทุนถืออยู่มาคำนวณเป็น NAV
ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นไม่มีการซื้อขายในวันที่คำนวณ NAV ให้ใช้ราคายุติธรรม หรือราคาเสนอซื้อครั้งสุดท้ายแทนได้
ซึ่ง NAV ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนั้นจะเป็น NAV ที่หารจำนวนหน่วยลงทุนแล้ว พูดง่ายๆคือ NAV ต่อหน่วย
ผมเคยเขียนในซีรีส์โลกของกองทุนตอนที่ 4 แล้วว่ากองทุนนั้นมี 2 ประเภทคือ กองทุนเปิด และกองทุนปิด
ซึ่งกองทุนเปิดจะมีการคำนวณ NAV ทุกวันทำการที่มีการซื้อขายหน่วยลงทุน
ส่วนกองทุนปิด NAV จะคำนวณทุกวันทำการวันสุดท้ายของสัปดาห์
ทั้งนี้ราคาของ NAV ไม่ว่าจะ 10 บาท 20 บาท หรือ 100 บาท ก็ไม่ได้บ่งบอกว่ากองทุนนั้นดีหรือไม่ดี กองใดราคาถูกกองใดราคาแพง
สิ่งที่จะนำมาเปรียบเทียบระหว่างกองทุนนั้นคือผลตอบแทนที่กองทุนนั้นทำได้ ซึ่งจะต้องเปรียบเทียบกับกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่เหมือนกันด้วย ไม่ใช่เอากองทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้ ไปเปรียบเทียบกับกองทุนที่ลงทุนในหุ้นสามัญ
การเปรียบเทียบกองทุน LTF โดยใช้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปี จากเว็บ WealthMagik
ดังนั้นเวลาที่เราจะลงกองใดๆควรดูพื้นฐานของทรัพย์สินที่กองทุนนั้นไปลงทุนเป็นหลักดีกว่าครับ และนำไปเปรียบเทียบกับกองของเจ้าอื่น
และก็มีอีกเรื่องนึงที่หลายคนเข้าใจผิดกัน นั่นก็คือ NAV ที่โชว์ในระบบนั้นเป็น NAV ของวันทำการก่อนหน้า ซึ่งในขณะที่ซื้อกองทุนนั้นเราจะไม่รู้ NAV ของวันนั้นเลย
ยกเว้นตอนที่ซื้อกองในช่วง IPO เพราะว่าเขากำหนดมาในหนังสือชี้ชวนส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ 10 บาท
NAV ของกองทุน บลจ. บัวหลวง จะเห็นว่าจะมีการระบุด้วยว่าเป็น NAV ของวันไหน
หลายๆคนจะถามว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น
ผมต้องขอย้ำประโยคนี้อีกทีนะครับ "NAV จะใช้ราคาตลาดในการคำนวณ ซึ่งราคาตลาดนั้นจะใช้ราคาปิด"
สมมติว่าเราต้องการซื้อ LTF (เป็นกองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ มีนโยบายลงทุนในหุ้น)
ซึ่งในระหว่างวันเราสามารถซื้อ LTF ได้ถึงเวลา 15.30 น. แต่ตลาดหุ้นไทยปิดเวลา 16.30 น.
ทำให้กว่าเราจะรู้ NAV ของกองนั้นเนี่ยถ้าเร็วสุดก็หลังตลาดปิดไม่กี่ชั่วโมง หรือช้าสุดก็เช้าของวันทำการถัดไป
ในทางกลับกันในตอนที่เราขายกองทุน NAV ที่โชว์ก็ไม่ได้บ่งบอกว่าเราจะต้องกำไรเท่านี้ เพราะตอนที่ขายจริงเราอาจได้มากกว่าหรือน้อยกว่าที่คำนวณไว้ เราทำได้เพียงกะประมาณคร่าวๆเท่านั้น
อ้างอิง :
ก็จะเห็นนะครับว่า NAV ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่เห็นกันอยู่ทุกวัน แต่มันก็มีอะไรมากกว่าที่คิดนะ
ใครที่ต้องซื้อ LTF คงต้องเคยโดนเจ้าหน้าที่แนะนำให้ซื้อ LTF ตอนหุ้นตกแรงๆใช่ไหมครับ ที่เขาแนะนำอย่างนั้นเพราะว่าทุนที่คุณซื้อไปมันถูกกว่าคนที่ซื้อวันก่อนหน้ายังไงละ
สุดท้ายนี้หากชอบบทความนี้อย่าลืมกดถูกใจ และกดติดตามเพจนี้ด้วยนะครับ ส่วนใครที่อยากอ่านโลกของกองทุนตอนอื่นคลิกได้ที่แถบด้านล่างได้เลยครับ ขอบคุณครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา