2 ก.ย. 2019 เวลา 05:06 • การศึกษา
大家好!ทักทายเพื่อนๆ ชาว Blockdit และเพื่อนๆ ที่รู้จักกันแล้วในเพจ "ภาษาจีนหรรษา" โพสต์ที่เราเอามาแปะที่นี่ ยังไม่เคยโพสต์ในเพจ และอาจจะค่อนข้างยาว ก็เลยเอามาเก็บไว้ที่นี่ ให้ได้ค้นหากันง่ายๆ
โพสต์แรกเราขอเริ่มจาก "北漂一族" (เป่ย เพียว อี้ จู๋) หรือที่เรียกกันสั้นๆ "北漂" (เป่ย เพียว)北 ในที่นี้คือ 北京 หรือปักกิ่ง 漂 แปลว่า "ลอย" หนังสือ Handbook of New Chinese Term Used in Economic News ที่พิมพ์เมื่อปี 2005 ให้นิยาม "北漂" คือกลุ่มคนที่เข้ามาทำงานในกรุงปักกิ่ง โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านวัฒนธรรม การแสดงและกีฬา แต่ปัจจุบันใช้ได้กับคนทุกกลุ่มที่เข้ามาทำงานในปักกิ่ง คำนี้จึงอาจไม่ใช่คำใหม่ล่าสุด แต่ก็ถือเป็นคำประดิษฐ์ขึ้นใหม่ไม่กี่ปีมานี้ที่สะท้อนสังคมจีนได้ดีทีเดียว เราก็เลยขอหยิบยกคำนี้มาคุยกันในโพสต์แรกนี้
นับแต่ประเทศจีนปฏิรูปและเปิดประเทศ (改革开放) เศรษฐกิจของประเทศก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างก้าวกระโดด ความเป็นเมืองหรือ urbanization (城市化) เพิ่มขึ้น คนในชนบทหลั่งไหลกันเข้ามาแสวงหาโอกาสในเมืองใหญ่กันมากขึ้น ทั้งเพื่อการศึกษาและหางานทำ คนที่เข้ามาอยู่ในปักกิ่งแต่ไม่มีทะเบียนบ้านในเมืองกรุง และไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อพยพย้ายที่อยู่บ่อยครั้งจึงเป็นที่มาของคำว่า 北漂一族 หรือ 北漂 นอกจากเมืองหลวงอย่างปักกิ่งแล้ว อีกเมืองใหญ่ทางตอนใต้ของจีนที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจคือ 上海(เซี่ยงไฮ้) ก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีคนเข้าไปทำงานจำนวนมาก จึงมีคำเรียกว่า 上漂 (ซั่งเพียว) หรือ 沪漂 (ฮู่เพียว) คือคนที่อพยพเข้ามาทำงานในนครเซี่ยงไฮ้แต่ไม่มีบ้านหรือทะเบียนบ้านในเซี่ยงไฮ้
ภาพในสถานีรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้ช่วงชั่วโมงเร่งด่วน
ระบบ 户口 (ฮู่โข่ว)หรือทะเบียนบ้านของจีนนำมาใช้ครั้งแรกปี 1951 เดิมใช้ติดตามการเคลื่อนย้ายของประชากร ต่อมาปี 1958 มีการประกาศใช้ระเบียบฮู่โข่ว ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐออกใบอนุญาตควบคุมการเดินทางเข้าออกจากถิ่นฐาน แม้ต่อมาจะมีการปรับปรุงระบบฮู่โข่วเป็นระยะ แต่การบังคับใช้โดยหลักๆ แล้วยังเหมือนเดิม เนื่องจากระบบฮู่โข่วในปัจจุบันแบ่งเป็นทะเบียนบ้านชนบท (农业户口) และทะเบียนบ้านที่ไม่ใช่ชนบท (非农业户口) ซึ่งออกให้สำหรับคนที่อยู่ในเมือง หากถือทะเบียนบ้านชนบท แต่ต้องการเข้ามาทำงานในเมือง ก็ต้องยื่นเรื่องกับทางการเพื่อขอเข้ามาทำงานในเมือง การแบ่งทะเบียนบ้านเช่นนี้นับเป็นการจำกัดสิทธิหลายประการ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา หากบุตรของแรงงานอพยพเหล่านี้ต้องการเข้าศึกษาในโรงเรียนในเมืองที่พ่อแม่ทำงานอยู่ก็เป็นเรื่องยุ่งยากมาก หรือที่นั่งเรียนไม่เพียงพอ คนกลุ่มนี้จึงมักเผชิญกับปัญหาต่างๆ เมื่อเข้ามาทำงานในเมือง และเป็นที่มาของ "北漂" เพราะการซื้อบ้านยาก เมื่อพวกเขาใช้วิธีเช่าก็อาจจะต้องย้ายที่อยู่ไปบ่อยๆ นั่นเอง
ช่วงหลังๆ มานี้มีการใช้ "北漂" เยอะในข่าวของไต้หวัน แต่ "เป่ยเพียว" ของคนไต้หวันหมายถึงคนต่างเมืองที่ย้ายไปทำงานใน 台北 หรือไทเป โดยรับคำว่า "北漂" มาจากศัพท์สแลงของจีนนั่นเอง
เมื่อพูดถึง"北漂" ก็เลยนึกถึงเพลง漂向北方 Stranger In The North ของ Namewee แร็ปเปอร์ชื่อดังชาวมาเลเซียกับหวางลี่หง ที่ยอดวิวตอนเขียนโพสต์นี้อยู่ที่ 157 ล้านวิว ฟังเพลงนี้ในยูทูปได้ที่ลิงค์นี้ (https://www.youtube.com/watch?v=qIF8xvSA0Gw) มีซับอังกฤษด้วย หรือจะดูคำแปลภาษาไทยก็มีลิงค์นี้https://mgronline.com/china/detail/9600000037317
โพสต์นี้ลากันไปด้วยเพลงซึ้งๆ ความหมายดีๆ ของ Namewee แล้วพบกันใหม่โพสต์หน้า 再见!
โฆษณา