Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กฎหมายย่อยง่าย by Natarat
•
ติดตาม
5 ก.ย. 2019 เวลา 14:51 • การศึกษา
“เซ็นสัญญาจ้างไปแล้ว แต่ถูกเลิกจ้างทางโทรศัพท์ก่อนเริ่มงาน จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ ?”
ในปัจจุบัน การที่ใครซักคนจะเปลี่ยนงานโดยการลาออกจากที่เก่าเพื่อไปทำที่ใหม่นั้น โดยปกติก็มักจะหางานใหม่ให้ได้ก่อนที่จะยื่นใบลาออกจริงมั้ยครับ
Cr. pixabay
แต่ถ้าใครที่ไม่ได้เป็นอย่างที่ว่ามา ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณผิดปกตินะครับ เพราะแต่ละคนก็มีภาระหน้าที่แตกต่างกันไป
สำหรับคนที่ทางบ้านพร้อมจะช่วยเหลืออยู่แล้ว หรือเป็นคนที่มีความพร้อมทางด้านการเงิน ก็คงไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้ซักเท่าไหร่
แต่สำหรับคนที่ยังมีภาระหนังอึ้งแบกอยู่ที่หลัง การจะลาออกแต่ละครั้งก็คงต้องคิดแล้วคิดอีก คิดหลาย ๆ รอบ คิดไปคิดมาจนไม่ได้ลาออก เผลอแป๊ป ๆ ก็เกษียณพอดี (ฮา...)
Cr. pixabay
การเซ็นสัญญาจ้าง คือ สิ่งที่การันตีว่าเราได้งานใหม่แล้ว แต่อนาคตเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ใครจะไปรู้ว่าขนาดเซ็นสัญญากันไปแล้วแต่อยู่ดี ๆ นายจ้างเกิดนึกอยากจะบอกเลิกสัญญา เลยหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาและกล่าวคำอำลากันสั้น ๆ ว่าเราเลิกกันเถอะ จิตใจของคนที่เป็นลูกจ้างก็คงตกไปอยู่ที่ตาตุ่มแน่นอน
แล้วจะทำยังไงต่อไปดีล่ะ ในเมื่อที่เก่าก็ลาออกมาแล้ว ที่ใหม่อยู่ดี ๆ ก็มาบอกเลิกสัญญา อย่างนี้คนที่เป็นลูกจ้างจะมีสิทธิเรียกร้องอะไรได้บ้าง
เราไปดูตัวอย่างนี้กันครับ
คดีนี้ ลูกจ้างเป็นโจทก์ฟ้องนายจ้างเป็นจำเลย โดยอ้างว่า เดิมโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท A ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์รวมเดือนละ 93,000 บาท
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 โจทก์สมัครงานกับจำเลยตำแหน่งผู้จัดการแผนกจัดซื้อ ตกลงค่าจ้างเดือนละ 95,000 บาท สิทธิประโยชน์อื่นเดือนละ 23,500 บาท โบนัสสิ้นปี 168,000 บาท โดยตกลงเริ่มงานวันที่ 1 กันยายน 2557
Cr. pixabay
ในวันที่ 5 และวันที่ 8 สิงหาคม 2557 จำเลยได้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ และส่งตัวไปตรวจสุขภาพตามลำดับ โจทก์จึงลาออกจากที่ทำงานเดิม
ในวันที่ 14 สิงหาคม 2557 จำเลยโทรศัพท์ขอยกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์
การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอบังคับให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 95,000 บาท ค่าจ้าง 474,000 บาท โบนัส 168,000 บาท ค่าเสียโอกาสในการทำงาน 190,000 บาท รวมทั้งหมด 927,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
1
จำเลยให้การว่า การยกเลิกการจ้างก่อนโจทก์เริ่มเข้าทำงานไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเป็นการกระทำก่อนสัญญาจ้างแรงงานจะเกิดขึ้น โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ
Cr. pixabay
ศาลแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานโดยโจทก์มิได้กระทำความผิด จำเลยผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหาย แต่เห็นว่าค่าเสียหายสูงเกินไป จึงพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 285,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายจ้างจะต้องรับผิดชอบในการที่จะต้องจ่าย "สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า" ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานนั้น "นายจ้างกับลูกจ้างจะต้องมีการทำงานกันจริง" กรณีของโจทก์ "โจทก์ถูกเลิกสัญญาก่อนจะเริ่มงานให้จำเลย" โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ที่ศาลแรงงานพิพากษามานั้นชอบแล้ว พิพากษายืน
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 7994/2560)
📌 สรุป เรื่องนี้ต้องแบ่งประเด็นการพิจารณาออกเป็น 2 เรื่อง
เรื่องที่ 1 กรณีนายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานแล้ว "แต่ก่อนถึงวันเริ่มงาน นายจ้างโทรศัพท์ยกเลิกสัญญาจ้าง" ถือว่านายจ้างผิดสัญญาจ้างแรงงาน ลูกจ้างฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
เรื่องที่ 2 กรณีสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับก็ต่อเมื่อมีการทำงานกันจริง เมื่อลูกจ้างถูกเลิกสัญญาก่อนเริ่มทำงาน จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินส่วนนี้
Cr. pixabay
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻
24 บันทึก
182
50
38
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กฎหมายแรงงาน
24
182
50
38
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย