13 ก.ย. 2019 เวลา 09:21 • การศึกษา
“ลูกจ้างหัวใจศิลปิน เปิดเพลงเสียงดังรบกวนคนอื่นในเวลางาน ผลที่ตามมาอาจร้ายแรงกว่าที่คิด !!”
“ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” จริงครับ...ผมเชื่อว่าทุกคนมีดนตรีในหัวใจอยู่แล้ว บางคนอาจชอบร้อง บางคนอาจชอบฟังเพลง บางคนอาจชอบเล่นเครื่องดนตรี ซึ่งไม่ว่าจะชอบทางไหนก็ล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งนั้น แต่ความชอบของเราจะต้องไม่ไปรบกวนสิทธิของคนอื่นนะครับ ไม่อย่างนั้นอาจจะเป็นเหมือนกับลูกจ้างรายนี้ได้
Cr. pixabay
คุณพี่ท่านนี้เป็นลูกจ้างของสหกรณ์แห่งหนึ่ง ผมขอเรียกแกว่า “พี่จั๊บ”
พี่จั๊บมีตำแหน่งใหญ่โตเพราะเป็นถึงผู้จัดการสหกรณ์ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด โดยสหกรณ์ดังกล่าวเป็นสถาบันการเงิน มีหน้าที่รับฝาก ถอนเงิน หรือให้กู้เงินแก่บุคคลที่เป็นสมาชิก
เหตุเกิดขึ้น เพราะพี่จั๊บแกชอบเปิดเพลงเสียงดังในเวลาทำงาน แต่เปิดเพลงอย่างเดียวคงยังไม่สะใจเพราะแกเล่นปรบมือและกระทืบเท้าตามจังหวะเสียงเพลง พอมีคนมาเตือนแทนที่จะหยุดกลับไปต่อว่าเค้าซะอีก การกระทำของพี่จั๊บจึงสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ลูกจ้างคนอื่นเป็นอย่างมาก
เมื่อสหกรณ์ผู้เป็นนายจ้างได้ทราบเรื่อง จึงได้ออกหนังสือเตือนให้พี่จั๊บหยุดพฤติกรรมดังกล่าวซะ แต่พี่จั๊บก็ไม่ได้สะทกสะท้าน แทนที่จะปรับปรุงตัว แกยังคงมีพฤติกรรมเหมือนเดิมจนเป็นที่เอือมระอาแก่ผู้ร่วมงาน
สหกรณ์จึงออกหนังสือเตือนพี่จั๊บอีกครั้ง โดยหวังว่าอะไร ๆ จะดีขึ้น...แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จนในที่สุดสหกรณ์จึงตัดสินใจเลิกจ้างพี่จั๊บ โดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
พี่จั๊บจึงไปร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน โดยกล่าวหาว่าสหกรณ์เลิกจ้างแกโดยไม่ชอบ เพราะในหนังสือเลิกจ้างไม่ได้ระบุสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่าได้กระทำผิดซ้ำคำเตือนไว้
พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้สหกรณ์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่พี่จั๊บ
1
สหกรณ์จึงได้นำเรื่องมาฟ้องต่อศาลแรงงาน เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน เพราะเห็นว่าได้เลิกจ้างโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
ซึ่งเรื่องนี้ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาดังนี้ครับ
นายจ้างเป็นสหกรณ์ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน กิจการต้องได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากสมาชิกในการนำเงินมาฝากและกู้เงิน ลูกจ้างมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการเป็นผู้บริหารสูงสุดต้องประพฤติตนให้เหมาะสมเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาและเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจแก่สมาชิก
การที่ลูกจ้างเปิดเพลงเสียงดัง ปรบมือและกระทืบเท้า รบกวนการทำงานของลูกจ้างคนอื่นในเวลาทำงาน ย่อมทำให้การทำงานของลูกจ้างขาดประสิทธิภาพ และผู้ใต้บังคับบัญชาหมดความยำเกรง เสียการปกครอง เกิดความเสียหาย อาจเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง และการเลิกจ้างมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหาย คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 8636 – 8637/2560)
งานนี้พี่จั๊บคงดีใจเพราะจะได้มีเวลาฟังเพลงเต็มที่ แต่ฟังที่บ้านนะไม่ใช่ที่ทำงาน
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา