7 ก.ย. 2019 เวลา 08:24 • ประวัติศาสตร์
"12 สุดยอดนินจาญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในยุคเซ็นโกคุ" (ค.ศ.1336 - 1573)
ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมีเรื่องราวของผู้คนที่อาศัยในเงามืด ซึ่งปรากฏว่าเรื่องราวของพวกเขาเป็นที่สนใจจากทั่วโลกมาก ถึงขั้นที่กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นยุคโบราณไปเลย นั่นคือเรื่องราวของ “นินจา” (Ninja) หรือ “ชิโนบิ” (Shinobi)
ถ้าซามูไรคือตัวแทนของนักรบผู้เปี่ยมด้วยวิถีชีวิตอันเคร่งครัดตามหลักบูชิโด นินจาก็เป็นอีกขั้วหนึ่งของเหรียญเดียวกัน ตามที่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ทั้งจากเอกสารต่างๆ ไปจนถึงภาพลักษณ์ที่นักเขียนหลายคนปั้นแต่งเสริมเพิ่มให้ จึงทำให้นินจาเป็นกลุ่มคนที่เต็มไปด้วยความลี้ลับ มีกลุ่มตระกูลและเครือข่ายพวกพ้อง ดูผิวเผินแล้วเหมือนจะตั้งตนเป็นอิสระ แต่ขณะเดียวกันก็ทำงานอยู่ใต้สังกัดของเหล่าขุนศึกหรือไดเมียวผู้ครองแคว้นด้วย งานหลักของพวกนินจาเกี่ยวข้องกับงานจารชน สืบหาข้อมูล ลาดตระเวน ลอบเข้าพื้นที่เสี่ยงตายของแคว้นฝั่งตรงข้ามเพื่อสืบหาข้อมูล หรือหลายครั้งอาจถึงขั้นตองแทรกซึมไปเข้ากับฝ่ายศัตรู เพื่อล้วงข้อมูล และหาโอกาสลอบสังหาร
"ยุคเซ็งโงกุ" เป็นช่วงเวลาของความไม่สงบใน ญี่ปุ่น อันเกิดจากอำนาจการปกครองของ โชกุนตระกูลอาชิกางะในยุคมูโรมาจิเสื่อมลง ทำให้บรรดาไดเมียวผู้ปกครองแคว้นต่าง ๆ ในญี่ปุ่นต่างพากันตั้งตนเป็นอิสระ โดยเฉพาะไดเมียวที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงเกียวโตมาก และทำสงครามกันเอง ทำให้ญี่ปุ่นลุกเป็นไฟ บ้านเมืองไม่มีขื่อแป โชกุนที่เกียวโตไม่สามารถทำอะไรได้เพราะเป็นเพียงหุ่นเชิดของไดเมียวที่มีอำนาจ สมัยเซ็งโงกุเป็นสมัยแห่งวีรบุรุษ โดยเฉพาะวีรบุรุษทั้งสามที่รวมประเทศญี่ปุ่นให้กลับเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งเป็นการสิ้นสุดสมัยเซ็งโงกุ ได้แก่ โอดะ โนบูนางะ, โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ, และ โทกูงาวะ อิเอยาซุ
ในยุคเซ็นโกคุ (Sengoku) ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่พวกนินจาปรากฏตัวออกมามีบทบาทในทางการเมืองและการทำสงครามชิงอำนาจระหว่างแคว้นของพวกไดเมียวมากที่สุด อีกทั้งในยุคนี้ก็เป็นช่วงที่นินจาหลายตระกูลและหลายหมู่บ้านเริ่มตั้งตัวขึ้นมา แล้วทำงานรับใช้พวกไดเมียว แต่บ้างก็ตั้งตนเป็นอิสระแล้วต่อต้านไดเมียวที่เป็นฝ่ายศัตรู ในยุคนี้จึงมีนินจาชื่อดังหลายคน ที่ชื่อเสียงของพวกเขากลายเป็นตำนานเล่าขานสืบทอดต่อมา เป็นแรงบันดาลใจให้พวกนักเขียนนิยาย นักเขียนการ์ตูน และผู้กำกับภาพยนตร์ได้นำเรื่องราวของพวกเขามาเล่าในมุมที่แตกต่างกันไป
วันนี้เราลองมาดูกันบ้างว่า เมื่อเราพูดถึงสุดยอดนินจา มีใครบ้างที่มีชื่อเสียงและวีรกรรมโด่งดังเป็นพิเศษ ซึ่งเรารวบรวมนินจาในตำนานที่หลายท่านน่าจะคุ้นชื่อ หรือบ้างก็อาจจะเพิ่งเคยได้ยินชื่อของพวกเขาเป็นครั้งแรก โดยเรารวบรวมมาได้ 12 คน ดังนี้
1.คาโต้ ดันโซ (โทบิ-คาโตะ)
ค.ศ.1503-1569 หรือ ????
ตระกูลนินจา : ไม่แน่ชัด
สังกัดขุนศึก : อุเอสึงิ, ทาเดคะ
วิชาถนัด : คาถาลวงตา วิชาแยกร่าง แปลงโฉม วิชาตัวเบา
อาจกล่าวได้ว่า คาโต้ ดันโซ คือคนแรกที่ทำให้พวกนินจามีภาพลักษณ์ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีพลังพิเศษ มีคาถาอาคม มีวิชาลี้ลับเหนือคน ได้ฉายาว่า โทบิ-คาโตะ
ตำนานเล่าว่า ดันโซคือผู้เชี่ยวชาญวิชานินจาพิสดารมากมาย โดยเฉพาะวิชาเหาะเหินเดินอากาศ และคาถาแยกร่าง ทำให้คู่ต่อสู้มองเห็นร่างของเขามีมากกว่า 10-20 ร่างได้ แล้วยังถนัดคาถาอาคม วิชาลวงตา จึงเชื่อกันว่าเขามีทักษะในการสะกดจิต เป็นนักจิตวิทยาชั้นยอดที่ใช้เครื่องมือบางอย่างทำให้ประสาทการรับรู้ของฝ่ายตรงข้ามมีปัญหา และใช้สภาพแวดล้อมให้เป็นประโยชน์ ไม่แน่ชัดว่าดันโซฝึกปรือวิชานินจามาจากไหน ตำนานของเขาค่อนข้างลึกลับและไร้ที่มาที่สุดในบรรดานินจาชื่อดังทั้งหมด
ชื่อของดันโซโด่งดังมากในแถบคันโต ทำให้อุเอสึงิ เคนชิน ขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่แห่งเอจิโกะต้องการได้ตัว จึงเชิญดันโซมาพบ แล้วทดสอบความสามารถจนเป็นที่ประจักษ์ ในตำนานเล่าว่า ดันโซผ่านด่านทดสอบด้วยการฝ่าวงล้อมทหารเฝ้าปราสาทของนาโอเอะ คาเนสึงุ ขุนพลหนุ่มคู่ใจของเคนชิน แล้วเข้าไปขโมยดาบของอีกฝ่ายมาได้ เคนชินชื่นชมมาก แต่ดันโซก็อยู่กับเคนชินได้ไม่นาน เชื่อกันว่าเพราะคาเนสึงุไม่ค่อยชอบใจเขานัก บ้างก็ว่าต่อมาเคนชินเองก็เกิดความระแวง ดันโซจึงแปรพักตร์ไปอยู่กับทาเคดะ ชินเก็น ขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่อีกคนหนึ่ง และเป็นศัตรูคู่ปรับตลอดกาลของเคนชิน แต่สุดท้ายแล้วชินเก็นก็ระแวงว่าดันโซจะมาเป็นไส้ศึกหรือป็นสายลับสองหน้าให้เคนชินนั่นเอง ชินเก็นจึงสั่งให้จับดันโซมาประหารชีวิต
2
แต่ก็มีตำนานเล่าว่า ที่ตายไปนั้นเป็นแค่ตัวปลอม แท้จริงแล้วดันโซยังมีชีวิตอยู่ และทำงานให้ตระกูลอุเอสึงิอย่างลับๆ บ้างก็ว่าเขาออกเร่ร่อนพเนจรไปทั่ว ตำนานของดันโซจึงเป็นเสมือนเรื่องลี้ลับในหมู่นินจาอีกทอดหนึ่ง
2.โมจิซึกิ ชิโยเมะ
ปีเกิดและตายไม่ทราบแน่ชัด
ตระกูลนินจา : โคงะ
สังกัดขุนศึก : ทาเดคะ
วิชาถนัด : แผนหญิงงาม อาวุธซัด ลอบสังหาร
โมจิซึกิ ชิโยเมะ คือหญิงงามผู้มีจิตใจเหี้ยม หาญที่สุดคนหนึ่ง เป็นผู้ก่อตั้งกองกำลังนินจาหญิง หรือที่เรียกกันว่า “คุโนอิจิ” (Kunoichi) แล้วศึกษาศิลปะศาสตร์หลายอย่าง มุ่งเข้าประชิดเป้าหมายเพื่อสืบหาข่าวและลอบสังหารเป็นหลัก เป็นกำเนิดของเกอิชาที่เป็นทั้งผู้ให้ความบันเทิงและมือสังหารหญิง
เดิมทีชิโยเมะเป็นภรรยาของ โมจิซึกิ โนบุมาสะ ซึ่งเป็นหลานของทาเคดะ ชินเก็น ขุนศึกผู้ยิ่งยง ตำนานเล่าว่าเดิมทีชิโยเมะเป็นคนจากหมู่บ้านโคงะ จึงมีวิชานินจาติดตัว ความสามารถเหนือกว่าหญิงสาวทั่วไป แม้จะมีรูปโฉมงดงาม แต่ก็มีจิตใจห้าวหาญ กร้าวแกร่งด้วย ต่อมาสามีของนางเสียชีวิตในการทำศึกกับอุเอสึงิ เคนชิน ทำให้นางแค้นมาก แล้วขอร้องชินเก็น ยอมอนุญาตให้เธอรวบรวมหญิงสาวที่เป็นหม้าย และพวกเด็กผู้หญิงไร้บ้าน หรือเป็นเหยื่อเคราะห์ร้ายจากสงคราม มาก่อตั้งองค์กรเครือข่ายที่จะสะท้านสะเทือนฟ้าดินขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด นี่จึงเป็นการถือกำเนิดขององค์กรคุโนอิจิ มีฐานที่มั่นอยู่ที่หมู่บ้านนาสุ เครือข่ายคุโนอิจิของชิโยเมะนั้นเชื่อว่าได้กระจายตัวออกไปในภูมิภาคต่างๆมากกว่า 300 คน
ชิโยเมะฝึกฝนหญิงสาวเหล่านี้ด้วยศาสตร์ของนินจาโคงะ ทั้งวิชาการต่อสู้ การใช้อาวุธลับ วิชาหอก ทวน แต่ที่โดดเด่นมากคือการผสมผสานกับศาสตร์ของนางรำ การใช้เสน่หาความงดงามในการร่ายรำ การเล่นดนตรี คุโนอิจิเหล่านี้จึงกลายเป็นเกอิชาที่เชี่ยวชาญศิลปศาสตร์และการใช้เสน่ห์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างเต็มเปี่ยม และบางส่วนก็ได้เป็นบวชชี หรือเป็นมิโกะในศาลเจ้า คอยสืบหาข่าว และงานลอบสังหาร เพราะในสมัยนั้น วัดและศาลเจ้ามีอิทธิพลสำหรับผู้ครองแคว้นแต่ละแห่งสูงมาก
หลังจากชินเก็นป่วยหนักแล้วสิ้นชีพอย่างกะทันหันในปีค.ศ.1573 ชิโยเมะก็หายตัวไป แต่เครือข่ายคุโนอิจิของนางก็ยังคงเคลื่อนไหวและทำงานให้ตระกูลทาเคดะอย่างลับๆ จนกระทั่งวันที่ตระกูลทาเคดะสิ้นสลายลงไปแล้ว สมาชิกขององค์กรก็แทรกซึมตัวเองเข้าอยู่ในสังคมนับแต่นั้น
3.โมโมจิ ซานาดะยู
ปีเกิดและตายไม่ทราบแน่ชัด
ตระกูลนินจา : อิงะ
สังกัดขุนศึก : ไม่มี
วิชาถนัด : ไม่แน่ชัด
หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มนินจาอิงะ ได้รับการยกย่องให้เป็น 1ใน 3 นินจาอิงะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ร่วมกับ ฮัตโตริ ฮันโซ และ ฟูจิบายาชิ นางาโตะ
ตัวตนของซานาดะยูค่อนข้างลี้ลับ และมีข้อมูลน้อยมาก เราพอจะทราบเพียงว่า ชื่อของเขาปรากฏในบันทึกเอกสารของโอดะ โนบุนางะ ที่กล่าวถึง ศึกเท็นโช ซึ่งเป็นศึกที่โนบุนางะเคลื่อนทัพใหญ่เข้ากวาดล้างกองกำลังนินจาอิงะอย่างรุนแรงนานนับปี ศึกครั้งนี้ส่งผลให้ฐานที่มั่นหลักของนินจาอิงะโดนกวาดล้างจนแทบจะสิ้นสลายไป
1
เชื่อกันว่า ซานาดะยู ได้ยืนหยัดต่อสู้กับทัพโนบุนางะในศึกเท็นโชจนสิ้นชีพ แต่ก่อนหน้านี้เขาได้คิดหาทางป้องกันความพินาศไว้ก่อน ด้วยการแตกตระกูลอิงะออกเป็นสามสายหลัก แล้วซานาดะยูก็มีภรรยาสามคน ซึ่งเป็นหญิงสาวที่มาจากทั้งสามสายหลัก เพื่อหากว่าสายใดเกิดปัญหา อีกสองสายก็จะเข้าช่วยเหลือ หรือกรณีเลวร้ายที่สุด สายที่ยังรอดอยู่ก็จะได้รับช่วงสืบทอดอิงะต่อไป
4.ฮัตโตริ ฮันโซ
ค.ศ.1542-1596???
ตระกูลนินจา : อิงะ
สังกัดขุนศึก : โตคุงาวะ
วิชาถนัด : แทรกซึม พรางตัว ลอบสังหาร วิชาหอก
ชื่อเสียงและความสามารถในฐานะนินจาของฮันโซมักได้รับการกล่าวขานถึงเป็นอันดับต้นๆของเหล่านินจาอยู่เสมอ อาจกล่าวว่าเขาคือนินจาที่เก่งที่สุด และยังเป็นนินจาที่ประสบความสำเร็จในด้านตำแหน่งหน้าที่ทางราชการและการเมืองมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะเขาเป็นนินจาคนแรกที่สามารถผันตัวเองจากโลกมืดออกมาอยู่เบื้องหน้า มีตำแหน่งสูงในฐานะครูสอนดาบและที่ปรึกษาส่วนตัวของโชกุน โตคุงาวะ อิเอยาสุ
ฮันโซเป็นผู้นำนินจาอิงะซึ่งผงาดขึ้นมาสร้างชื่อเสยงโด่งดังมาก เข้ารับใช้อิเอยาสุตั้งแต่เริ่มตั้งตัว เข้าร่วมสนามรบและสร้างผลงานหลายครั้ง โดยเฉพาะในยุทธการศึกที่ทุ่งมิคาตากะฮาระ ซึ่งศึกนี้อิเอยาสุพ่ายแพ้ให้กับทาเคดะ ชินเก็นอย่างหมดรูป แต่หลังจากนั้นคืนเดียว อิเอยาสุก็ได้พลิกสถานการณ์กลับมาตอบโต้ชินเก็นอย่างกล้าหาญ โดยการใช้แผนปราสาทว่าง เพื่อล่อชินเก็นให้เกิดความระแวง ต้องตั้งค่ายรอเชิงอยู่ แล้วในคืนนั้น ฮันโซก็นำนินจาอิงะลอบโจมตีเพื่อก่อกวนชินเก็น จากนั้นไม่นานชินเก็นก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินทัพ แต่แล้วชินเก็นก็ป่วยหนักแล้วสิ้นชีพลงกะทันหัน จนเกิดเป็นตำนานเล่าว่า ฮันโซสามารถเข้าถึงตัวขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่อย่างชินเก็นแล้วลอบสังหารอีกฝ่ายได้สำเร็จ แต่พวกทาเคดะปิดข่าวการตายไว้
ฮันโซอยู่รับใช้อิเอยาสุเรื่อยมาอีกนับสิบปี เนื่องจากฮันโซไม่ได้เป็นนินจาธรรมดา แต่มีทักษะหลายอย่างของซามูไรและเสนาธิการ โดยเฉพาะวิชาหอกและการวางแผนกลยุทธ์ทางทหาร แล้วยังเชี่ยวชาญวิชาพรางตัวมาก จนได้ฉายาเป็นนินจาเงาหรือนินจาปีศาจ ต่อมาอิเอยาสุจึงแต่งตั้งให้เขาเป็นขุนนาง มีศักดินาและปราสาทในปกครองของตนเอง ในช่วงบั้นปลาย ฮันโซจึงฝึกฝนนินจาอิงะชุดหนึ่งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้เป็นหน่วยองครักษ์ของอิเอยาสุ ซึ่งต่อมาเมื่ออิเอยาสุขึ้นเป็นโชกุน หน่วยนี้ก็ได้พัฒนามาเป็นหน่วยองรักษ์สำหรับพิทักษ์โชกุนของโตคุงาวะมาทุกรุ่น ในชื่อ โอนิวาบันชู
1
ฮันโซมีความภักดีต่อตระกูลโตคุงาวะมาก เมื่ออายุเข้าช่วง 54-55 ปี ก็ได้ออกบวชเป็นพระแล้วสร้างวัดเพื่อให้โนบุยาสุ บุตรชายของอิเอยาสุที่โดนโนบุนางะสั่งให้ปลิดชีพตนเองไปก่อนหน้านี้
สำหรับการตายของฮันโซก็ไม่แน่ชัดนัก บางตำนานเล่าว่าเขาโดนนินจาฟูมะ โคทาโร่ ลอบสังหาร
5.ฟูจิบายาชิ นางาโตะ
ค.ศ.???-1581
ตระกูลนินจา : อิงะ
สังกัดขุนศึก : ไม่มี
วิชาถนัด : ไม่แน่ชัด
เขาเป็น 1ใน 3 นินจาอิงะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ร่วมกับ ฮัตโตริ ฮันโซ และ โมโมจิ ซานาดะยู เรื่องราวของเขาไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก จากข้อมูลที่มีทำให้ทราบว่าเขาเป็นรองหัวหน้าของนินจาอิงะที่อยู่ใต้สังกัดของซานาดะยูอีกทีหนึ่ง แล้วร่วมกันสร้างวิชานินจาและหมู่บ้านอิงะจนโด่งดัง ในขณะที่ฮันโซนั้นนำนินจาอิงะบางส่วนออกไปทำงานรับราชการกับอิเอยาสุ
เมื่อครั้งที่โนบุนางะส่งทหารบุกกวาดล้างนินจาอิงะในศึกเท็นโช เขาเป็นคนหนึ่งที่ยืดหยัดช่วยเหลือซานาดะยูในการทำศึกต่อต้านโนบุนางะ แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้แล้วโดนสังหาร
1
เรื่องราวของนางาโตะเป็นที่รู้จักขึ้นได้นั้น เพราะเขาเป็นผู้เขียนคัมภีร์เคล็ดวิชาลับของนินจาอิงะ ซึ่งสืบทอดกันมาในตระกูลฟูจิบายาชิ ทำให้คนญี่ปุ่นรุ่นหลังได้ทราบเรื่องราวและวิชานินจาของอิงะได้
6.โทโมะ สุเคซาดะ
ปีเกิดและตายไม่ทราบแน่ชัด
ตระกูลนินจา : โคงะ
สังกัดขุนศึก : อิมากาวะ, โตคุงาวะ
วิชาถนัด : แทรกซึม ลอบโจมตี
ถ้าพวกอิงะคือกลุ่มนินจาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด กลุ่มนินจาโคงะก็เป็นคู่แข่งสำคัญไม่แพ้กัน ทั้งสองฝ่ายมีความขัดแย้งกันพอสมควร และเมื่อครั้งที่โนบุนางะเข้ากวาดล้างพวกอิงะนั้น พวกโคงะก็เลือกจะอยู่ฝ่ายตรงข้ามมากกว่าด้วย แต่ภายหลังนินจาโคงะส่วนใหญ่ก็มาเข้าด้วยกับตระกูลโตคุงาวะ ทำให้พวกเขาได้ทำงานร่วมกับนินจาอิงะต่อมา แต่ชื่อเสียงเกียรติภูมิของโคงะก็ยังเป็นรองอิงะอยู่ อีกทั้งนินจาชื่อดังของโคงะก็มีน้อยกว่าด้วย
สุเคซาดะ คือนินจาโคงะที่มีชื่อเสียงและความสามารถสูงส่งไม่แพ้พวกอิงะ เดิมทีพวกโคงะเคยทำงานรับใช้ตระกูลอิมากาวะซึ่งเป็นเจ้านายของโตคุงาวะอีกที แต่หลังจากพ่ายศึกให้โนบุนางะ ตระกูลอิมากาวะก็ล่มสลายในเวลาต่อมา ทายาทที่ยังเหลือก็กลายเป็นข้ารับใช้ของโตคุงาวะไปแทน พวกโคงะจึงได้เข้าไปทำงานรับใช้โตคุงาวะด้วย ครั้งหนึ่ง สุเคซาดะและนินจาโคงะจำนวนหนึ่งได้สร้างผลงานแทรกซึมแล้วบุกโจมตีปราสาทคามิโนกุจนแตกพ่าย อิเอยาสุจึงครองอำนาจในสุรุกะได้ ผลงานนี้ทำให้พวกโคงะได้เข้ามารับใช้อิเอยาสุจนถึงในสมัยของโชกุนฮิเดทาดะ
7.อิงาซากิ โดจุน
ค.ศ.???-1584
ตระกูลนินจา : อิงะ
สังกัดขุนศึก : รคคาคุ, ไร้สังกัด
วิชาถนัด : พรางตัว ลอบโจมตี วางเพลิง
เขาเป็นนินจาอิงะระดับสูงที่จ้างงานอิสระ ผลงานลือชื่อของโดจุนและพรรคพวกคือ การรับจ้างจาก รคคาคุ โยชิทากะ ไดเมียวผู้ครองปราสาทซาวายามะ ให้ทำการวางเพลิงปราสาทซาวายามะ และยังรับงานจากรคคาคุในการลอบโจมตีข้าศึกอีก โดจุนและพรรคพวกเชี่ยวชาญเทคนิคพรางตัวหรือวิชาหายตัวของพวกนินจาในการแทรกซึมเข้าไปยังป้อมค่ายหรือปราสาทที่เป็นเป้าหมายได้ แล้วเขายังทำงานร่วมกับพวกโคงะได้ด้วย ผลงานของโดจุนจึงช่วยให้ประจักษ์ถึงเคล็ดวิชาลับของพวกนินจาอิงะในการพรางตัวและแทรกซึมเข้าที่มั่นศัตรูว่าสามารถทำได้โดยการใช้อุปกรณ์บางชนิดในการอำพรางอย่างได้ผลดีมาก
ภายหลังเมื่อฮิเดโยชิและอิเอยาสุเปิดศึกกันที่โคมากิ-นางากุเตะ พวกอิงะบางส่วนที่อยู่กับอิเอยาสุได้แปรพักตร์ไปให้ข่าวกับฮิเดโยชิ เชื่อว่าโดจุนเป็นแกนนำของฝ่ายที่แปรพักตร์ เขาจึงโดนผู้นำของอิงะในเวลานั้นคือฮันโซสังหารทิ้ง
8.ฟูมะ โคทาโร่
ค.ศ.???-1603???
ตระกูลนินจา : ฟูมะ
สังกัดขุนศึก : โฮโจ
วิชาถนัด : ลอบสังหาร คาถาอาคม แทรกซึม พรางตัว
เดิมทีแล้วตระกูลฟูมะเป็นกลุ่มนินจาที่แตกย่อยเป็นอิสระออกมาจากพวกอิงะและโคงะ แล้วพัฒนาทักษะวิชานินจาที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกตนขึ้นมาแทน ลักษณะเฉพาะตัวของพวกนินจาฟูมะคือ การผสมผสานวิชานินจาที่มีความเหนือคนเข้ากับทักษะในการลอบโจมตี ปล้นชิง และภารกิจเสี่ยงตาย การทำงานของพวกฟูมะจึงมีความดุดันและลี้ลับเป็นพิเศษ
นินจาฟูมะมุ่งทำงานรับใช้เจ้านายเพียงคนเดียวคือตระกูลโฮโจ เจ้าของปราสาทโอดาวาระ และคนที่โด่งดังที่สุดเพียงคนเดียวก็คือ ฟูมะ โคทาโร่ ผู้นำรุ่นที่ห้าของนินจาฟูมะ ชื่อเสียงของเขาเป็นที่หวาดหวั่นของข้าศึกมาก ด้วยเทคนิคพิสดารเฉพาะตัวของนินจาฟูมะเอง โคทาโร่ทำงานจู่โจมและสร้างความปั่นป่วนให้ค่ายทหารของข้าศึก ทำให้กองทัพโฮโจเรืองอำนาจมาก ยากที่จะตีแตกได้ เมื่อครั้งที่ทาเคดะ คัตสึโยริ คิดจะบุกโจมตีปราสาทโอดาวาระ ก็โดนพวกนินจาฟูมะทำงานร่วมกับกลุ่มโจร ลอบโจมตีจนต้องถอยร่นไป
แต่หลังจากปราสาทโอดาวาระแตกในปีค.ศ.1590 ตระกูลโฮโจก็พ่ายแพ้ให้โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ พวกนินจาฟูมะจึงติดตามโคทาโร่ไปเป็นกลุ่มโจร แล้วเชื่อกันว่าอีกหลายปีต่อมา โคทาโร่ก็บุกไปสังหารฮัตโตริ ฮันโซแห่งอิงะจนถึงแก่ความตาย เพราะฮันโซเป็นผู้นำนินจาอิงะ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวหน้าของการบุกปราสาทโอดาวาระ แต่หลังจากนั้น โคทาโร่ก็โดนอดีตนินจาทาเคดะคือ โคซากะ จินไน จับกุมตัวได้ สุดท้ายจึงโดนอิเอยาสุสังหารเพื่อแก้แค้นให้ฮันโซ ซึ่งเป็นคนสนิทของตน
9.อิชิคาวะ โกเอมอน
ค.ศ.1558-1594
ตระกูลนินจา : อิงะ และไร้สังกัด
สังกัดขุนศึก : ไร้สังกัด
วิชาถนัด : ปล้นชิง วิชาตัวเบา
อันที่จริงแล้ว โกเอมอนโด่งดังในฐานะหัวขโมยมากกว่าในฐานะนินจา เขาเป็นศิษย์ของซานาดะยูแห่งอิงะ แต่ก็หนีออกจากหมู่บ้าน เชื่อว่าเพราะเขาไปมีสัมพันธ์กับอนุภรรยาของอาจารย์ แต่บ้างก็ว่าเพราะเขาเริ่มออกสันดานโจรแล้วไปขโมยดาบล้ำค่าของอาจารย์เข้า จากนั้นโกเอมอนจึงใช้ชีวิตเป็นโจร ปล้นชิงพวกพ่อค้า เศรษฐี ผู้มีอำนาจ แล้วนำเงินมาให้ชาวบ้านผู้ยากไร้ จึงเป็นเหมือน โรบินฮูดของญี่ปุ่น ชื่อเสียงของโกเอมอนโด่งดังมาก และเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ทางการตามล่าตัว โกเอมอนมีภาพลักษณ์ว่าชอบแต่งตัวฉูดฉาดแบบพวกคาบุกิ ใช้จ่ายเงินที่ปล้นมาได้อย่างเต็มที่ แล้วสร้างกลุ่มโจรของตนเองอยู่ที่คันไซ
ตำนานเล่าว่า โกเอมอนพยายามลอบสังหารผู้มีอำนาจอย่างเช่น โนบุนางะ และ ฮิเดโยชิ เพื่อจะแก้แค้นให้ภรรยา แต่ก็ล้มเหลว เขาจึงโดนสั่งตามล่าตัว สุดท้ายโกเอมอนก็โดนขุนพลของฮิเดโยชิจับตัวได้ (เชื่อว่าคนที่จับตัวได้คือ เซ็นโกคุ ฮิเดฮิสะ) โกเอมอนโดนจับได้พร้อมลูกชายที่ยังเล็กอยู่ แล้วโดนลงโทษด้วยการจับไปต้มในหม้อที่ร้อนระอุ แต่โกเอมอนฝืนใช้กำลังที่เหลือยกตัวลูกชายไว้เหนือศีรษะจนกระทั่งตัวเขาสิ้นใจไปแล้ว แต่มือก็ยังยกลูกชายเอาไว้ ฮิเดโยชิสะเทือนใจ จึงยอมละเว้นชีวิตลูกชายของเขา เรื่องราวของโกเอมอนจึงกลายเป็นตำนานที่โด่งดังและเล่าต่อกันมา
10.ซารุโทบิ ซาสุเกะ
ตระกูลนินจา : โคงะ
สังกัดขุนศึก : ซานาดะ
วิชาถนัด : วิชาตัวเบา ความเร็ว ลอบโจมตี
ซาสึเกะเป็นนินจาที่มีตัวตนจริงแล้วโด่งดังที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักและอ้างถึงไม่แพ้ฮันโซเลย ชื่อเสียงของซาสึเกะมาจากสองเรื่องคือ เขาเป็นนินจาที่ได้ชื่อว่ากระโดดได้สูงและว่องไวที่สุดเท่าที่มีมา วิชาตัวเบาเฉพาะตัวของเขาคือการกระโดดไปมาบนกิ่งไม้อย่างรวดเร็วจนไม่มีใครตามได้ทัน จนได้ฉายาว่านินจาวานร และน่าจะเป็นนินจาที่ฝึกฝนมาจากโคงะแล้วดังที่สุด
อีกสาเหตุที่ทำให้ชื่อของซาสึเกะโด่งดังมาก มาจากการที่เขาเป็นผู้นำของกลุ่มสิบนินจาที่รับใช้ตระกูลซานาดะ ในตำนานและนิยายหลายเรื่องเรียกพวกเขารวมกันว่า “สิบผู้กล้าซานาดะ” อยู่ใต้สังกัดของซานาดะ ยูคิมูระ ขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่น จึงทำให้ตำนานของพวกสิบผู้กล้าโด่งดังตามไปด้วย ซาสึเกะและไซโซ ได้ชื่อว่าเป็นสองคนที่ดังและเก่งที่สุดในกลุ่ม เมื่อครั้งที่ยูคิมูระทำศึกป้องกันปราสาทโอซาก้าจากการโจมตีของอิเอยาสุที่มีกำลังทหารเหนือกว่ามาก ซาสึเกะและพรรคพวกได้สร้างผลงานลอบโจมตีและก่อกวนทัพของอิเอยาสุอยู่หลายครั้ง แต่สุดท้ายปราสาทก็โดนตีแตก ยูคิมูระเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บ แต่ไม่มีบันทึกว่า ซาสึเกะและกลุ่มสิบผู้กล้านั้นสิ้นชีพไปด้วยกันหมดหรือไม่ ส่วนมากเชื่อว่าถ้าไม่หนีตายออกมาได้ บางคนก็น่าจะปลิดชีพตัวเองตามเจ้านายไป หรือไม่ก็สิ้นชีพไปด้วยกันทั้งหมด
เรื่องของซาสึเกะ เป็นที่ประทับใจของผู้คนมาก จึงได้นำมาเป็นวัตถุดิบ สร้างเป็นภาพยนตร์ นิยาย การ์ตูน และเกม อยู่หลายครั้ง เพราะเรื่องราวความภักดีและความสัมพันธ์ที่เขามีให้กับยูคิมูระ
11.คิริงาคุเระ ไซโซ
ตระกูลนินจา : อิงะ
สังกัดขุนศึก : ซานาดะ
วิชาถนัด : ลอบสังหาร พรางตัว คาถาลวงตา
ในบรรดาสิบผู้กล้าซานาดะ นอกจากซาสึเกะแล้ว ไซโซก็คือคนที่ดังที่สุด ในฐานะสหายและคู่ปรับของซาสึเกะ เขาเป็นนินจาอิงะ ซึ่งเวลานั้นไม่ค่อยถูกกันกับโคงะ ไซโซมีภาพลักษณ์ด้านตรงข้ามกับซาสึเกะที่จะมีภาพว่าเป็นผู้ภักดีต่อเจ้านายอย่างซานาดะ ยูคิมูระ อย่างลึกซึ้ง แต่ไซโซมีภาพลักษณ์ในสื่อว่าเป็นนินจาผู้ไม่สนใจไยดีต่อโลก มีความสันโดษ และหยิ่งทระนงในตัวเองสูงมาก
ตำนานเล่าว่า เนื่องจากพวกอิงะส่วนใหญ่ทำงานให้อิเอยาสุ เขาจึงได้รับคำสั่งให้บุกไปลอบสังหารฮิเดโยชิ แต่ภารกิจล้มเหลว แล้วเขาก็ไปปวารนาตนรับใช้ฮิเดโยชิแทน ภายหลังจึงได้มาทำงานอยู่ในสังกัดของซานาดะ ความสามารถของไซโซนั้น มาตามแนทางของพวกอิงะคือเชี่ยวชาญวิชาพรางตัว คาถาลวงตา การใช้หมอกควันเพื่อลอบโจมตี ภาพลักษณ์ของไซโซเป็นที่ประทับใจนักประพันธ์มาก จึงได้นำมาใช้สื่อถึงนินจาผู้รักสันโดษและรักอิสระ
12.ยางิว จูเบ มิตสึโยชิ (ยางิว จูเบ)
ตระกูลนินจา : ยางิว
สังกัดขุนศึก : โตคุงาวะ
วิชาถนัด : วิชาดาบ ลอบโจมตี อาวุธซัด วิชาต่อสู้มือเปล่า
ยางิว มิตสึโยชิ หรือที่รู้จักในชื่อ ยางิว จูเบ นับว่าเป็นชื่อที่โด่งดังมากผ่านทางสื่อของญี่ปุ่นจากในภาพยนตร์ ซีรีย์ เรื่องเล่า นิยาย การ์ตูน อนิเมะ ที่สำคัญคือ จูเบ มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เขาเป็นหลานชายของปรมาจารย์ดาบยางิว เซคิชูไซ และเป็นลูกชายของ ยางิว มุเนโนริ ครูดาบของโชกุนโตคุงาวะ ฮิเดทาดะ ประวัติและเรื่องราววีรกรรมของจูเบมีมากมาย เรื่องราวของเขาได้รับการบอกเล่าและเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมาก ทั้งในฐานะซามูไร ยอดนักดาบ และในฐานะนินจาด้วย เพราะตระกูลยางิวดั้งเดิมก่อนจะพัฒนาวิชาดาบชินคาเงะริวนั้น ก็เป็นหมู่บ้านที่ฝึกฝนวิชานินจามาก่อน ต่อมาเมื่อมุเนโนริเข้ารับใช้โชกุน ก็นำพวกนินจายางิวมาทำงานให้รัฐบาลด้วย
ภาพลักษณ์ของจูเบที่ผู้คนจำได้คือ มีที่ปิดตาไว้หนึ่งข้าง เชื่อว่าตาของเขาบอดข้างหนึ่งเพราะอุบัติเหตุสมัยเด็กในระหว่างฝึกดาบของบิดามุเนโนริ แต่บ้างก็ว่า เพราเขาต้องการท้าทายความสามารถตนเอง จึงปิดตาไว้หนึ่งข้าง
ในช่วงที่จูเบเข้าวัยหนุ่มนั้น สำนักดาบยางิวได้สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศญี่ปุ่นแล้ว ปู่ของเขาได้ชื่อว่าเป็นนักดาบอันดับหนึ่งของแผ่นดิน ส่วนบิดาก็เป็นครูดาบของโชกุน ตัวเขาก็ได้ทำงานรับราชการเป็นครูดาบให้โชกุนอิเอมิทสึต่อมา แต่เนื่องจากความรักอิสระ ไม่ชอบผูกมัด และวิธีการสอนดาบที่พิสดารนอกกรอบซึ่งทำให้อิเอมิทสึรู้สึกว่าฝึกดาบตามแนวทางของจูเบแล้วทำได้ยาก เขาจึงลาออกจากตำแหน่งครูสอนดาบโชกุน แล้วออกผจญภัยเร่ร่อนไปทั่ว ช่วงนี้เองที่เรื่องราวของเขากลายเป็นตำนานบอกเล่ามากมาย นักเขียนนิยายในศตวรรษที่ 19 จึงนำไปปั้นแต่งจนชื่อเสียงของเขาผงาดขึ้นมาเทียบเคียงกับมิยาโมโตะ มูซาชิ ซึ่งถือว่าเป็นคนในยุคสมัยเดียวกันเลยทีเดียว
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านนะครับ ขอบคุณครับ😊🙇"
ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือ
ยศไกร ส.ตันสกุล (2559). โอดะ โนบุนางะ พลิกวิถีผู้นำญี่ปุ่น, กรุงเทพ: แสงดาว
Anthony Cummins (2015). “Samurai and Ninja” The real story behind the japan warrior myth
the shatter the Bushido Mystique. North Cleredon: Tuttle Publishing.
Stephen K. Hayes (1990). The Ninja and Their Secret Fighting Art. North Cleredon: Tuttle
Publishing.
Stephen Turnbull (2003). Ninja: AD 1460-1650. University Park, Ill.: Osprey.
Stephen Turnbull (2007). Warriors of Medieval Japan. Oxford: Osprey Publishing.
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
โฆษณา