20 ก.ย. 2019 เวลา 06:27 • ประวัติศาสตร์
"สามเผด็จการผู้กุมอำนาจใต้ฟ้าและเรืองอำนาจมากที่สุดแห่งยุค"
(ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคเซ็นโกคุ)
[เกริ่นนำ]
ยุคเซ็งโงกุ เป็นช่วงเวลาของความไม่สงบใน ญี่ปุ่น อันเกิดจากอำนาจการปกครองของ โชกุนตระกูลอาชิกางะในยุคมูโรมาจิเสื่อมลง ทำให้บรรดาไดเมียวผู้ปกครองแคว้นต่าง ๆ ในญี่ปุ่นต่างพากันตั้งตนเป็นอิสระ โดยเฉพาะไดเมียวที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงเกียวโตมาก และทำสงครามกันเอง ทำให้ญี่ปุ่นลุกเป็นไฟ
ซ้าย : โอดะ โนบุนางะ , กลาง : โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ , ขวา : โตกุงาวะ อิเอยะสุ
เริ่มจากบุคคลแรกก่อนคือ "โอดะ โนบุนากะ" (1534-82) ถือกำเนิดในเทมบุนปีที่ 3 (1534) ในฐานะลูกชายคนโตของโอดะ โนบุชิเดะ ที่เมืองโชะบาตะ
(ปัจจุบันคือเมืองอินาซาวา)
ตอนนั้นเป็นยุคที่อำนาจการปกครองอยู่ใต้โชกุนสมัยมูโรมาจิ การควบคุมหัวเมืองในเรื่องการทหารและการพิจารณาคดีความอยู่ภายใต้ผู้ดูแลที่เรียกว่า ชุโงะ แต่การดำเนินงานมักจะอยู่ภายใต้ชุโงะได หรือตัวแทนชุโงะ ในตอนที่โนบุนากาเกิดมานั้น โชกุนอ่อนแอมากและมีอำนาจควบคุมเพียงรอบๆ เมืองหลวงเกียวโตเท่านั้น
ชิบะ ชุโงะ แห่งเมืองโอวาริ (ซีกตะวันตกของจังหวัดไอจิปัจจจุบัน) เป็นผู้มีชื่อเสียงที่ควบคุมดูแลเมืองเอทจิเซนและโทโอโทมิด้วย จึงไม่ได้อยู่ประจำในเมืองที่ดูแล แต่มอบหมายให้ชุโงะไดดูแลแทนเป็นส่วนใหญ่
ในช่วงความวุ่นวายสูงสุดที่เกิดขึ้นในสมัยโอนิน-บุนเมอิ (1467-77) ชุโงะและชุโงะได ต่างแย่งชิงหัวเมืองเพื่อแผ่ขยายอำนาจอย่างเต็มที่และสร้างเขตอำนาจการปกครองที่เป็นอิสระของตนเองขึ้น เรียกว่า เซนโงชุไดเมียว
ชุโงะได ของเมืองโอวาริ มีตระกูลโอดะทำหน้าที่อยู่ ความแตกแยกภายในตระกูลทำให้เมืองโอวาริแบ่งเป็นซีกเหนือและใต้ โอดะโนบุฮิเดบิดาของโนบุนากาเป็นลูกน้องคนสำคัญของชุโอะไดซีกใต้ โอดะ มิจิคัทสึ และกลายเป็นนักรบคนสำคัญของเมืองโอวาริด้วยอายุเพียง 20 ปี ในปี 1538 โนบุฮิเดะ ใช้อุบายยึดเมืองนาโกยาได้ และยกให้แก่โนบุนากาในปี 1546 เมื่ออายุได้ 13 ปี ในปี 1552 โนบุฮิเดะเสียชีวิต โนบุนากาจึงได้เป็นผู้นำครอบครัวต่อจากบิดา ในปี 1554 โนบุนากาสามารถแย่งชิงตำแหน่งชุโงะไดของโอวาริซีกใต้มาได้ และในปี 1556 ได้เป็นชุโงะโดยไล่ชิบะออกไป
ในปี 1559 ก็สามารถยึดตำแหน่งชุโงะไดของโอวาริ ซีกเหนือได้ และรวบรวมตระกูลโอดะให้เป็นปึกแผ่นได้ในที่สุด
ปี 1549 อิมากาวา โยชิโมโต เริ่มแผ่ขยายอำนาจเข้ามาทางตะวันออกของเมืองโอวาริ ภายหลังจากที่ยึดได้เมืองมิคาวาแล้ว โนบุนากาจึงสร้างค่ายไว้ 5 แห่ง เพื่อยันอิมากาวาไว้ตลอดแนว การที่โยชิโมโตจะยกทัพเข้าเมืองหลวงได้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรบกับโนบุนากา ในปี 1560 การรบครั้งแรกกับมัทสึไดรา โมโตยาสุ (โทกุงาวา อิเอยาสุในภายหลัง) อันเป็นกองทัพส่วนหน้าของอิมากาวาที่มีกำลังทั้งหมดสองหมื่นคนทำให้โนบุนากาเสียที่มั่นไป 2 ค่าย กำลังของโนบุนากามีเพียง 2,000 คนต้องถอยร่นไป ขณะนั้นบังเกิดฟ้าฝนตกอย่างหนัก
หลังฝนหยุดแล้ว โนบุนากานำกำลังเข้าโจมตีกองทัพของอิมากาวาจนโยชิโมโตตายในที่รบ นี่คือ ยุทธการโอเกะฮาซามะอันลือลั่นในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น การรบในครั้งนี้ทำให้โนบุนากาได้ดินแดนเมืองโอวาริซีกตะวันออกพร้อมกับมิกาวามาทั้งหมด
"โอดะ โนบุนากะ"
การรบในครั้งนั้น ทำให้ชะตาชีวิตของโทกุงาวา อิเอยาสุ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเช่นเดียวกัน อิเอยาสุถือกำเนิดที่โอกะซากิในแคว้นมิกาวา บิดาเป็นลูกน้องคนสำคัญของอิมากาวา ในวัยเด็กใช้ชีวิตเป็นตัวประกันอยู่กับโอดะ โนบุฮิเดะ ถึง 14 ปี จึงได้มาอยู่กับอิมากาวาในปี 1549 เมื่อโยชิโมโตตายในที่รบ อิเอยาสุจึงยกกำลังเข้าเมืองโอกะซากิ และปลดแอกตนเองจากชีวิตตัวประกันแต่นั้นมา หลังจากนั้นได้เป็นพันธมิตรกับโนบุนากาโดยการแนะนำของลุง รวบรวมแผ่นดินของมิกาวาให้เป็นปึกแผ่นในเวลาต่อมาด้วยการยึดเมืองโทโอโทมิและลงหลักปักฐานที่เมืองฮามามัทสึ
พันธมิตรกับอิเอยาสุ ทำให้โนบุนากามีสมาชิกจดจ่อกับการบุกเมืองมิโนะ (จังหวัดกิฝุปัจจุบัน) แม้จะรบแพ้หลายครั้งแต่ก็สามารถยึดได้ในที่สุด ในระหว่างการรบกับมิโนะ คิชิตะ ฮิเดโยชิ (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็น ฮะชิบะ และ โตโยโตมิ ตามลำดับ)กลายเป็นลูกน้องที่โดดเด่นคนหนึ่ง ฮิเดโยชิเป็นลูกชาวนาในย่านนากามูระของเมืองโอวาริ มาทำงานกับโนบุนากาตั้งแต่อายุ 18 ปี
หลักฐานที่แสดงว่าฮิเดโยชิ เป็นลูกน้องคนสำคัญของโนบุนากา ได้แก่ เอกสาร 木下秀吉等連署状ที่เกิดขึ้นในปี 1567 และ 木下秀吉書状ที่เกิดขึ้นในปี 1568 ที่แสดงว่า ฮิเดโยชิเป็นผู้ที่มีบทบาทในการรบกับมิโนะ และได้รับมอบหมายให้ดูแลงานรอบๆ เกียวโต พฤติกรรมต่างๆ ของฮิเดโยชิในภายหลังอาจอนุมานได้ว่า เขาเป็นผู้ที่เก่งในการวางแผนเล่ห์เพทุบายและการพูดการเจรจา ทั้งยังเป็นผู้ที่ใช้สถานการณ์ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองเสมอ การที่โนบุนากาเลือกใช้เขาบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถส่วนบุคคลและเป็นที่ถูกตาต้องใจ ถือว่าเป็นโชคดีอย่างมากของฮิเคโยชิ
ปี 1565 อาชิคางะโยชิเทรุ โชกุน มุโรมะจิ ลำดับที่ 13 ถูกลอบสังหารแต่ อาชิคางะโยชิอากิ หนีออกมาได้และตระเวนขอความช่วยเหลือจากไดเมียว (เจ้าเมือง) ต่างๆ ในที่สุดโนบุนาการับปากให้ความช่วยเหลือและยกกำลังสี่หมื่นคนเข้าเมืองหลวงเกียวโต โดยอิเอยาสุได้ตามไปด้วย โนบุนากาสามารถปราบปรามกบฎในเมืองหลวงได้ราบคาบและสถาปนาโยชิอากิ เป็นโชกุนมุโรมะจิ ลำดับที่ 15 ในปี 1565 นั้นเอง แต่เป็นอำนาจการปกครองร่วมกันระหว่างโนบุนากากับโชกุนโยชิอากิ
ความสัมพันธ์เป็นไปด้วยดีได้ไม่นาน โนบุนากาก็ยึดอำนาจทั้งหมดมาไว้ในมือในปี 1570 โยชิอากิจึงได้ออกตระเวนเรียกร้องให้เจ้าเมืองต่างๆ มาล้มโนบุนากาอีก ในครั้งนี้ บุคคลสำคัญที่กลายเป็นวงล้อมโบุนากา ได้แก่ อาซาคุระ โยชิคาเงะ อาไซอิ นางามาสะ และ ทาเคดะ ชินเงน แต่ไม่มีผู้ใดที่มีกำลังเพียงพอที่จะยกเข้าเมืองหวงได้ ในที่สุดโยชิอากิต้องก่อการเพียงลำพังและพ่ายแพ้ในที่สุด อันเป็นการสิ้นสุดสมัยของโชกุนมุโรมะจิ หลังจากนั้น โนบุนากาก็ทะยอยปราบปราม อาซาคุระโยชิคาเงะ และอาไซอิ นางามาสะ จนเหลืองเพียง ทาเคดะชินเงิน ซึ่งก็มาเสียชีวิตลง ทาเคดะคัทสึโยริ ลูกชายสืบทอดต่อมาจนมีกำลังกล้าแข็็งพอที่จะต่อกรกับโนบุนากา และอิเอยาสุ จึงได้ยกกำลังเข้าตีเมืองมิกาวา
อิเอยาสุจึงได้ขอความช่วยเหลือจากโนบุนากาโดยมีกำลังรวมกัน 35,000 คน ตั้งแนวป้องกันเหนือใต้ตามฝั่งแม่น้ำด้านตะวันตกของเรนโงะงาวา ด้วยรั้วหลาวไม้ป้องกันม้ายาวสองกิโลเมตร ทั้งยังมีพลปืนแนวละหนึ่งพันคน 3 แนว ผลัดกันยิงหลังรั้ว ฝ่ายทาเคดะจึงพ่ายแพ้หมดรูป หลังการรบนี้ โนบุนากาจึงกลายเป็นผู้กุมอำนาจใต้ฟ้าอย่างแท้จริงในปี 1575 โนบุนากายกเมืองโอวาริและมิโนะให้โนบุทาดะ ลูกชายคนโตปกครอง ส่วนตนเองย้ายไปปักหลักที่เมืองอาสึจิ ฝ่ายอิเอยาสุก็ยกเข้าตีเมืองโทโอโทมิของทาเคดะในปี 1581 ฝ่ายโนบุทาดะยกเข้าตีเมืองชินาโนะและเมืองไคในปี 1582 ทาเคดะจึงถูกปราบสิ้นซากไปในที่สุด หลังการรบครั้งนั้น อิเอยาสุได้รับจัดสรรให้ดูแลเมืองซูรูงะอีกหนึ่งเมือง เมื่อเริ่มต้น โนบุนากาและอิเอยาสุเป็นพันธมิตรที่มีฐานะเท่าเทียมกัน แต่อิเอยาสุมีฐานะกลายเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจตั้งแต่นั้นมา
"โตกุงาวะ อิเอยะสุ"
ปีเทนโชที่ 10 (1582) โนบุนากา เปิดฉากการรุก 5 ทิศทาง คือ คันโตเหนือ ชายฝั่งด้านเหนือ แถบนาโกยา คันไซ และ ชิโกกุ ด้วยกำลังทหารทัพละ 1-5 หมื่นคน ที่เพียงพอในการรุกรบคืบหน้า อย่างได้ผลดี อาเกจิ มิทสึฮิเดะ ได้รับมอบหมายให้รักษาการณ์รอบพระนคร จึงกระจายกำลังออกเป็นกลุ่มอิสระ รอรับคำสั่งให้สนับสนุนฮิเดโยชิ ซึ่งรับผิดชอบแถบนาโกยา แต่ว่ามิทสึฮิเดะ กลับนำกำลังทหาร 13,000 คน เข้าไปในเกียวโต และโจมตีวัดฮอนโนจิอันเป็นที่พักของโนบุนากาอย่างสายฟ้าแลบ ทำให้โนบุนากาตัดสินใจใช้ดาบฆ่าตัวตาย และโนบุทาดะที่อยู่ห่างออกไป 1 กิโลเมตร ก็ตัดสินคว้านท้องตายเช่นเดียวกัน วันรุ่งขึ้น ฮิเดโยชิได้ข่าวการตายของบุนากาก็รีบยกทัพกลับเกียวโตทันที และรวมกำลังกับอีก 2 ทัพเข้าโจมตีมิทสึิเดะ โดยที่ไม่ทันตั้งตัว จึงพ่ายแพ่และเสียชีิวิตในอีก 10 วันต่อมา
ในการประชุมผู้ใหญ่คนสำคัญของตระกูลโอดะ ฮิเดโยชิ ได้เสนอให้ซำโบชิบุตรของโนบุนากาที่อายุเพียง 3 ขวบ เป็นผู้ปกครองตระกูล โดยที่ฮิเดโยชิมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลัง ซึ่งหมายถึงว่าอำนาจของตระกูลโอดะได้จบสิ้นลง และเปลี่ยนมาอยู่ในมือของฮิเดโยชิแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่ของตระกูลโอดะที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับฮิเดโยชิได้แก่ ชิบาตะ คัทสึอิเอะ โอดะ โนบุทากะ ทากิงาวา อิจิมาสึ พยายามตั้งเมืองปิดล้อม แต่ฮิเดโยชิก็ทะยอยตีทีละเมืองจนเหลือเพียงซะคุมะโมริมาสะ หลานของคัทสึอิเอะ ที่แอบตีค่ายโอโออิวายามาโทริในขณะที่ฮิเดโยชิอยู่ที่เมืองโอโองากิ เมื่อทราบข่าว ฮิเดโยชิ รีบควบกองทัพมาที่คิตะโทโอโทมิ ในระยะทาง 52 กิโลเมตรด้วยเวลาเพียง 5 ชั่วโมง และเกิดปะทะกับกำลังของโมริมาสะ ที่เรียกว่า ยุทธการชิสึงะทาเกะ อันลือลั่นในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ฮิโดโยชิส่งหนังสือถึงลูกน้องคนสำคัญ 9 คน ในการปูนบำเหน็จรางวัลหากได้ชัยชนะในการรบ จึงเกิดความฮึกเหิมและได้ชัยชนะในที่สุด ลูกหลานและบริวารของโนบุนากาต่างถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายไปจนหมด
ในระหว่างการแย่งชิงอำนาจ ภายหลังยุคโนบุนากา อิเอยาสุได้วางตัวออกห่างจากบริวารของตระกูลโนบุนากา แต่หันไปสนใจกับเมืองต่างๆ ทางตะวันออกแทน และเข้าควบคุมเมืองต่างๆ ที่มาอยู่ภายใต้โนบุนากาตั้งแต่ก่อนเสียชีวิตโดยไม่ต้องทำการรบมากนัก ได้แก่ มิกาวา โทโอโทมิ ซูรูงะ ไค และ ชินาโนะใต้
หลังจากการรบที่ชิสึงะทาเกะ ฮิเดโยชิใช้อำนาจแต่ผู้เดียวในการจัดสรรแบ่งปันเมืองต่างๆ ในระหว่างผู้มีความดี
ความชอบทั้งหมด โดยโนบุคัทสึ บุตรชายคนที่ 2 ของโนบุนากา ที่ยังคงสำคัญตัวว่าเป็นผู้กุมอำนาจใต้ฟ้า สืบทอดจากบิดา ถูกฮิเดโยชิย้ายจากเมืองอะสึจิไปยังเมืองคิโยสึ อันเป็นฐานดั้งเดิมของบิดา และมีฐานะเป็นเพียงไดเมียวคนหนึ่งเท่านั้น
ปี 1583 ฮิเดโยชิ เริ่มต้นสร้างปราสาทโอซากา โดยการเกณฑ์บริวารเดิมทั้งหมดของโนบุนากามาช่วยงาน ยิ่งเป็นการแสดงออกถึงอำนาจบารมีของตนในขณะนั้น โนบุคัทสึจึงเริ่มรู้สึกตัวและเคลื่อนไหวต่อต้านฮิเดโยชิ โดยร่วมมือกับอิเอะยาสุ การรบเกิดขึ้นตั้งแต่อิเสะเหนือ โอวาริ โคมากิยามา มิกาวา มาลงท้ายที่มิโนะตะวันตก อิเอะยาสุมีกำลังน้อยกว่าแต่รบด้วยความสุขุม ฝ่ายฮิเดโยชิจึงอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบในการรบมาตลอด ในที่สุดจึงคิดยุทธศาสตร์แยกโนบุคัทสึออกจากอิเอะยาสุและเจรจาให้โนบุคัทสึยอมแพ้ โดยจำกัดให้อยู่ที่โอวารี เพียงเมืองเดียว อิเอะยาสุจึงต้องยุติการรบและยกทัพกลับฮามามัทสึ การรบดังกล่าวลากยาวมาถึงกว่า 8 เดือนแต่ไม่มีการรบขั้นแตกหักเกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว
ทั้งหมดนี้ เป็นยุทธศาสตร์ภาพรวมที่ฮิเดโยชิไม่ต้องการกระทำถึงขั้นหักหาญน้ำใจกัน แม้ว่าประเมินด้วยกำลังแล้ว ชัยชนะจะไม่เป็นเรื่องยากก็ตาม อีกทั้งฐานะการกุมอำนาจใต้ฟ้าของฮิเดโยชิก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ส่วนด้านอิเอยาสุนั้นเล่า ด้วยความตระหนักเต็มอกว่า กำลังน้อยกว่า จึงไม่ต้องการทำสงครามที่จะเกิดความพ่ายแพ้ขึ้น นอกจากนี้อิเอะยาสุยังมีพันธมิตรอยู่ทั่วประเทศ ตั้งแต่โอดาวารา เอทจู คิอิโนะ ชิโกกุ ซึ่งทำให้ฮิเดโยชิก็ต้องคิดหนักเช่นเดียวกัน
"โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ"
ปีเทนโชที่ 13 (1585) ฮิเดโยชิเริ่มเข้าหาพระราชวังจนได้รับโปรดเกล้าจากพระจักรพรรดิให้ดำรงตำแหน่ง คัมปะขุ (??ตามศัพท์ดั้งเดิมแปลว่า ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ แต่ภายหลังหมายถึง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนพระจักรพรรดิ)
ปี 1586 ฮิเดโยชิหาทางให้เจ้าหญิงอาซาฮี น้องสาวของตนได้สมรสกับอิเอะยาสุในฐานะภรรยาหลวง แม้ว่าอิเอะยาสุจะยังไม่อยู่ใต้อำนาจแต่ก็ดูเหมือนความใกล้ชิดมีมากขึ้น พันธมิตรต่างๆ ก็หมดไปจนเหลือเพียงโอโจ อุยิมาสะ ที่ยังพึ่งได้เท่านั้น ความแตกต่างของอำนาจต่อรองกับฮิเดโยชิจึงมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีอะไรจะหยุดยั้งได้ การเข้าพบฮิเดโยชิที่เมืองหวงอันแสดงถึงการยอมรับในอำนาจจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เพื่อรับประกันความปลอดภัย ฮิเดโยชิจะต้องส่งมารดาบังเกิดเกล้าไปเป็นตัวประกันที่โอกะซากิของอิเอะยาสุ
ปี 1586 ฮิเดโยชิ ได้รับพระราชทานนามสกุลเป็น โตโยโตมิ ในปีนี้ ฮิเดโยชิได้ออกโซบุยิเรอิ (คำสั่งให้ยุติสงครามระหว่างเจ้าเมืองเอง) ให้แก่หัวเมืองต่างๆ ทางแถบโออุ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือปัจจุบัน) ซึ่งรวมถึงโฮโจ อุยิมาสะแห่งโอดาวาราด้วย จึงเดือดร้อนถึงอิเอะยาสุให้ต้องเกลี้ยกล่อมให้มาสวามิภักดิ์ด้วย แต่ก็ไม่เรียบร้อยและทำให้ฮิเดโยชิต้องยกทัพใหญ่มาปราบปรามให้สงบ พร้อมกับเปิดให้เจ้าเมืองต่างๆ มาสวามิภักดิ์ด้วย หลังจากนั้น อิเอะยาสุได้รับดินแดนของตระกูลโฮโจทั้งหมดเป็นรางวัลและปล่อยวางมือจากหัวเมือง 5 แห่งทางภาคกลาง มาตั้งหลักที่เมืองเอโดะ ส่วนฮิเดโยชินั้น ถือเป็นการยกกำลังไปปราบเมืองโออุเป็นครั้งสุดท้าย ในการบรรลุการรวบรวมแผ่นดินทั้งหมดให้เป็นปึกแผ่นจริงๆ
ฮิเดโยชิไม่สามารถรักษาอำนาจการปกครองให้มีเสถียรภาพได้ด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ ประการแรก การยกกองทัพบุกเกาหลีประสบความล้มเหลวถึง 2 ครั้ง เจ้าเมืองต่างๆ ภายในประเทศเองก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการทำสงคราม ประการที่สองคือ กรณีของฮิเดจึงุ (เป็นลูกชายของน้องสาวที่ฮิเดโยชิเอามาเลี้ยงเป็นบุตร) ปี 1591 ฮิเดโยชิสละตำแหน่ง คัมปะขุให้ฮิเดจึงุเป็นแทน แต่พอปี 1593 ฮิเดโยชิได้ลูกชายแท้ๆ ของตนเองชื่อ ฮิเดโยริ ฐานะของฮิเดจึงุก็เกิดความหวั่นไหวทันที ในปี 1595 จู่ๆ เขาถูกสงสัยว่าคิดการขบถ ถูกถอดยศคัมปะขุ ถูกเนรเทศให้ไปอยู่ที่ภูเขาโคยะ และถูกบังคับให้คว้านท้องตัวเองที่สุด ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาเพียง 1 เดือน นอกจากนี้บุคคลในครอบครัวกว่า 30 คน รวมทั้งบริวารผู้ใกล้ชิดถูกประหารชีวิตทั้งหมด เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่จะรับช่วงอำนาจการปกครองได้ต้องหมดไปเป็นจำนวนมาก
1
ปี 1598 สุขภาพของฮิเดโยชิ เริ่มทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว เขาเริ่มรู้ชะตาตัวเอง จึงได้ออกหนังสือประกาศให้ทุกฝ่ายซื่อสัตว์ต่อฮิเดโยริ อีกทั้งยังแต่งตั้งไทโร 5 คน และ บุเงียว 5 คน ก่อนตายเพื่อให้ร่วมกันบริหารราชการบ้านเมืองเป็นหมู่คณะจนกว่า ฮิเดโยริจะบรรลุนิติภาวะ หลังจากนั้น ก็ถึงแก่กรรม
ปัจฉิมลิขิตของฮิเดโยชิอย่างหนึ่งก็คือ ข้อห้ามไม่ให้มีการแต่งงานในระหว่างครอบครัวของไดเมียวด้วยกัน แต่ว่ายังไม่ทันไร ลูกชายคนที่ 6 ของอิเอะยาสุก็แต่งงานกับลูกสาวของดาเตะ มาสะมุเนะ และตระกูลของฟุกุชิมา มาสะโนริ ก็แต่งงานกับตระกูลของฮาจิสุกะ อิเอมาสะ หลังจากนั้น แม่ทัพสำคัญ 7 นายทำการโจมตีหมายสังหาร อิชิดะ มิทสึนาริ เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับในการทำสงครามกับเกาหลี อิเอะยาสุเข้าทำการไกล่เกลี่ยและกลายเป็นผู้มีบารมีมากที่สุดไปในทันทีแต่ทำให้มิทสึนาริไม่พอใจ
1
ปี 1599 อุเอะสุงิ คาเงะคัทสึ ถูกกล่าวหาว่าขบถ อิเอะยาสุใช้คำสั่งของฮิเดโยริ ในฐานะคัมปะขุ (โชกุน) ระดมทัพไดเมียวยกไปปราบบริเวณฟุกุชิมาปัจจุบัน มิทสึนาริถือเป็นโอกาสดีที่จะยกกำลังตีตลบหลังเพื่อล้มอิเอะยาสุ กองทัพของอิเอะยาสุและพวกเรียกว่ากองทัพตะวันออก กองทัพของฝ่ายมัทสึนาริและพวก เรียกว่า กองทัพตะวันตก สภาวะที่เกิดขึ้นคือฝ่ายอิเอะยาสุถูกขนาบด้วยกองทัพของอุเอะสุงิ กับ กองทัพตะวันตก อิเอะยาสุตัดสินใจให้ความสำคัญกับกองทัพตะวันตกมากกว่า จึงจัดกำลังเป็น 2 ทัพๆ หนึ่ง อิเอะยาสุนำเอง ใช้เส้นทางโตไคโด (ริมฝั่งทะเล) อีกทัพหนึ่งให้ฮิเดทาดะนำ โดยใช้เส้นทางนากาเซนโด (กึ่งกลางประเทศ) แต่ทัพของฮิเดทาดะเดินทางล่าช้า อิเอะยาสุจึงตัดสินเข้ารบขั้นเด็ดขาดกับกองทัพตะวันตกที่ เซกิงะฮารา อันเป็นยุทธการลือลั่นอีกครั้งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น (เซกิงะฮาราอยู่จังหวัดกิฟุ กึ่งกลางระหว่างเมืองโอโองากิกับนางาฮามาในปัจจุบัน)
1
อิเอะยาสุยังคงมีฐานะเป็นเพียงผู้สำเร็จราชการให้แก่ โตโยโตมิ ฮิเดโยริ ต่อมาในปี 1603 อิเอะยาสุได้รับพระราชทานตำแหน่งเซอิไทโชกุน (โชกุน) จากพระจักรพรรดิอย่างเป็นทางการ และหลุดพ้นจากฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งของตระกูลโตโยโตมิอย่างเด็ดขาด ในขณะนั้น อิเอะยาสุยังหาเหตุผลที่จะเป็นปฏิปักษ์กับฮิเดโยริไม่ได้ อีกทั้งกำลังของตระกูลโตโยโตมิยังคงยิ่งใหญ่ อิเอะยาสุถึงขั้นที่ตัดสินใจให้ลูกสาวคนโตของฮิเดทาดะแต่งงานกับฮิเดโยริเพื่อความปรองดอง ปี 1605 อิเอะยาสุสละตำแหน่งโชกุนให้ฮิเดทาดะรับช่วงต่อ สภาพความเป็นจริงขณะนั้นก็คือ ไดเมียวสายตระกูลโตโยโตมิเองก็รู้สึกชอบและเกรงอิเอยาสุอยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังไม่แน่ใจว่าหลังจากที่ตนเองตายไปแล้ว จะมีการสวามิภักดิ์ต่อฮิเดทาดะหรือไม่
ปี 1609 อิเอะยาสุคิดว่า ถึงเวลาที่จะต้องวัดกำลังกันแล้ว เขาเริ่มต้นด้วยการสร้างปราสาทซาซายามา ที่เมืองทำบะโดยการเชิญไดเมียวต่างๆ ให้เข้ามาร่วมแรงร่วมใจกันด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งปกติในญี่ปุ่น ปีถัดๆ ไปก็ให้สร้างปราสาทนาโกยา ปราสาทอุเอโน และอื่นๆ อีกตามลำดับ ทั้งหมดนี้ กลายเป็นปราสาทที่ล้อมรอบปราสาทโอซากา
ช่วงปี 1611-1614 แม่ทัพในสายตระกูลโตโยโตมิที่ฮิเดโยชิสร้างขึ้นมาต่างทะยอยเสียชีวิตจนความสมดุลย์ทางทหารระหว่างตระกูลโทกุงาวากับโตโยโตมิเปลี่ยนไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่อิเอะยาสุ
ปี 1614 เกิดเหตุการณ์ที่ฮิเดโยริสร้างระฆังถวายวัดโฮโคจิในโอกาสฉลองการก่อสร้างวิหารพระพุทธรูปเสร็จสิ้น ปัญหาอยู่ที่ข้อความที่สลักบนระฆังที่ว่า “โคกขะอันโค คุนชินโฮราขุ” ซึ่งแปลว่า “บ้านเมืองสงบสุข ไพร่ฟ้าหน้าใส” แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือตัวที่ 2 และ 4 อันเป็นชื่อของอิเอยาสุถูกแยกออกจากกัน ในขณะที่หนังสือตัวที่ 6 และ 7 อันเป็นชื่อตระกูลโตโยโตมิอยู่ติดกัน อิเอะยาสุไม่พอใจด้วยเรื่องเพียงเท่านี้ แม้ว่าฮิเดโยริจะส่ง คาตะงิริ คัทสึโมโต ผู้ปกครอง ไปพบอิเอะยาสุ เพื่อขออธิบายแต่ก็ไม่ได้ให้เข้าพบ ฝ่ายโตโยโตมิก็เรียกทัพเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีไดเมียวไหนกล้าออกหน้าด้วย มีเฉพาะโรนิน (นักรบที่ไม่มีเจ้านาย) ที่แตกกระสานซ่านเซ็นจากเซกิงะฮาราเท่านั้น ที่พากันออกมามีจำนวนประมาณ 1 แสนคนเห็นจะได้ ฝ่ายอิเอะยาสุเองมี 2 แสนคน แต่ก็ไม่อาจตีประสาทโอซากาที่แข็งแรงมากได้จนต้องใช้วิธีเจรจาโดยมีเงื่อนไขว่า ให้ทำลายเรือนรับรองที่ 2 และ 3 และให้อภัยโทษพวกโรนิน
ปี 1615 พวกโรนินรวมตัวกันอีก และคูเมืองรอบประสาทที่ถมไปก็ถูกขุดขึ้นมาใหม่ อิเอะยาสุจึงสั่งให้ฮิเดโยริกับโยโดโตโนะ (ภรรยาของฮิเดโยชิ) ไปอยู่เสียที่ปราสาทโคริยามาที่เมืองยามาโต แต่ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติ อิเอะยาสุจึงนำทัพด้วยตนเองเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตด้วยกำลังทั้งสิ้น 155,000 คน แม้ว่าฝ่ายโตโยโตมิจะต่อสู้ อย่างดุเดือด แต่ด้วยกำลังที่แตกต่างกันมาก จึงพ่ายแพ้ในที่สุดหลังจากต่อสู้อยู่ 2 วัน เมื่อหมดหวังแล้ว ฮิเดโยริ กับโยโดโตโนะจึงปลิดชีวิตตัวเองที่เขิงกำแพงเมืองของปราสาทโอซากา ส่วนคุนิมัทสึ ลูกชายที่เกิดแต่ฮิเดโยริกับลูกสาวของฮิเดเทดะ ถูกตัดหัว และลูกสาวถูกบังคับให้บวชชี
ปี 1616 อิเอะยาสุป่วยและเสียชีวิตด้วยวัย 75 ปี ยุคเซนโขขุของญี่ปุ่นจึงสิ้นสุดลง
โนบุนากา ฮิเดโยชิ และอิเอะยาสุ ต่างเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง ความอดทนเป็นสิ่งสำคัญ แต่โชคชะตานั้นสำคัญยิ่งกว่าที่ทำให้อิเอะยาสุได้เป็นผู้กุมอำนาจใต้ฟ้าในที่สุด
ข้อมูล : ดร.ประศาสน์ ตั้งมติธรรม
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านนะครับ ขอบคุณครับ😊🙇"
โฆษณา