11 ก.ย. 2019 เวลา 03:52 • ไลฟ์สไตล์
ซีรีส์แสงชีวิต
ตอน 'ความคิด' 101
'เราทุกข์(ใจ)เพราะเราคิด'
'ที่ทุกข์ก็เพราะคิด'
'ถ้าไม่คิดก็ไม่ทุกข์'
https://pin.it/l2k4x5s5tlhwyr
"คนเราทุกข์เพราะความคิด ต้องหยุดคิดให้ได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิด นั่นแหละจึงรู้" - หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
หลวงปู่ดูลย์กล่าวสอนอยู่เสมอว่า
“อย่าส่งจิตออกนอก” ("ลักคิด"-จิตที่ส่งออกนอกเป็น "สมุทัย" และ ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็น "ทุกข์")
“จงหยุดคิดให้ได้” (คือ หยุดความลักคิด จะห้ามจิตไม่ให้คิดไม่ได้ เพราะจิตมีหน้าที่คิด แต่หยุดการลักคิดได้ คือ เห็นความคิดที่เข้าข้างตนเอง แต่ไม่เข้าไปในความคิด seeing the 'biased' thought, but not indulging the thought)
“คิดเท่าไร ก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดให้ได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิด นั่นแหละจึงรู้” (หลวงพ่อชาได้สอนไว้เช่นกันว่า แม้จะคิดจนสมองระเบิด ก็ไม่อาจเห็น"อนัตตา"ได้ ต้องเห็นด้วยวิปัสสนาญาณ)
"คนสมัยนี้เขาเป็นทุกข์เพราะความคิด” - หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
"คนเราทุกข์เพราะความคิด” - หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
การที่คนเราทุกข์เพราะความ(ลัก)คิด คือ คิดด้วยตัณหา แฝงไว้ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง
ในมหาสติปัฏฐานสูตร มีกล่าวถึง ความคิด ในลักษณะที่เรียกว่า "วิตก (disturbing thought) และ วิจาร (Obsessive thought) ว่า ความคิดเริ่มเกิดขึ้นมาจาก อายตนะ 6 กระทบกันระหว่าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กับ รูป รส เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธรรมารมณ์ เกิด -> ผัสสะ -> เวทนา (รู้ด้วยจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ชิวหาวิญญาณน ฆานวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ) -> สัญญา (pure perception) -> สัญเจตนา (biased perception คือ เห็นด้วยอัตตา) -> ตัณหา -> วิตก -> วิจาร
นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันพยายามค้นหามากว่า 100 ปีแล้ว แต่ยังหาอัตตาไม่พบ และ Antonio Damasio, M.D., Professor of Neuroscience, Head of Brain and Creativity Institute, University of Southern California; previously Head of Neurology, University of Iowa ยอมรับว่า ความเป็นอัตตาเกิดขึ้นคู่ขนานกันกับการสร้างรูปลักษณ์ขึ้นในใจขณะที่สมองกำลังการรับรู้ต่อวัตถุใดหนึ่ง (In parallel with generating mental patterns for an object, the brain also generates a sense of ‘self’ in the act of knowing.)
หากแต่พระพุทธองค์ได้ทรงเห็นลึกซึ้งละเอียดลงไปยิ่งกว่านั้นอีกว่า การรับรู้ด้วยอัตตา (biased perception) หรือสัญเจตนา มิได้เกิดขึ้นขณะเดียวกัน แต่เกิดตามมาติดๆหลังการรับรู้ซื่อๆหรือสัญญา (pure or unbiased perception) และสามารถสกัดกั้นไม่ให้เกิดความเป็นอัตตาขึ้นมาได้ด้วยสติ-ความรู้สึกตัว (สัมปชัญญะ) ซึ่งสามารถฝึกให้เกิดขึ้นได้ด้วยวิปัสสนากรรมฐาน
นับเป็นธรรมทานซึ่งเป็นทานสูงสุดและใหญ่ยิ่งที่พระศาสดาทรงเมตตามอบไว้ให้มวลมนุษย์
คนเราเวลาติดอยู่ในความคิด แล้วเป็นทุกข์ มักไม่รู้ตัวหรือไม่เห็นว่าเป็นผลมาจากต้นตอ คือ ความ(ลัก)คิดที่เข้าข้างตนเอง (อัตตา) แต่จะกลับไปแสดงออกที่ปลายทางในรูปลักษณ์ของความพอใจ ไม่พอใจ ความรัก ความโกรธ ดีใจ เสียใจ หรือ ตัณหา (Craving) มานะ (self- conceit) ทิฏฐิ (Ideation, Concept) อัสมิมานะ (ego)
เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน มีสติและความรู้สึกตัว (สัปชัญญะ) จะเริ่มจับความคิดได้ แต่เมื่อจับได้ มันก็ดับไปชั่วครู่ เดี๋ยวความคิดก็แอบโผล่กลับมาอีก ไล่จับกันเหมือนแมวจับหนู (ดังที่หลวงพ่อเทียนเปรียบเทียบให้ฟังไว้) จนกระทั่งแมวหมดกำลัง เพราะยังเป็นเพียงแค่ลูกแมว ไม่แข็งแรงพอ หน้าที่ของเราคือ เลี้ยงหรือขุนแมวให้โตขึ้นเป็นแม่แมวเท่านั้น
เมื่อปฏิบัติวิปัสสนามากขึ้นๆ ด้วย ศรัทธา วิริยะ สมาธิ และ ปัญญา สติแก่ตัว มีกำลังเพิ่มพูนมากขึ้น ก่อตัวเป็นสตินทรีย์ และสติพละ ตามลำดับ เสมือนหนึ่ง ลูกแมวเติบโตขึ้นเป็นแม่แมว สมาธิ ก็เริ่มแก่กำลังมากขึ้น เป็นสมาธินทรีย์ และสมาธิพละ (อินทรีย์ 5 และ พละ 5) ตามลำดับเช่นกัน เป็นแม่แมวที่มีพละกำลัง คล่องตัว ว่องไว ปราดเปรียว พร้อมที่จะทำหน้าที่ของมัน
เมื่อจิตรู้เท่าทันความคิด ความคิดจะสั้นลงๆ และเกิดน้อยลงๆ ไม่ฟุ้งซ่านเหมือนเมื่อก่อน ประดุจว่าสามารถหยุดความคิดได้เป็นครั้งคราวหรือบ่อยๆ จิตดูสงบราบเรียบ (จิตท่องเที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ ใครควบคุมจิตนี้ได้ ย่อมพ้นจากบ่วงมาร - ธรรมบท 37) ปลอดจากความคิด
ทุกข์ดูจะบางเบาลงหรือลดน้อยลง เพราะขาดความคิดที่คอยก่อหวอด แต่ความคิดไม่ได้หายไปไหนจริงๆ หรอก เพียงแต่หลบซ่อนอยู่ ประดุจหนูที่กลัวแม่แมวหรือสติที่มีกำลังแก่กล้า หลบซ่อนอยู่ในรูหนู ฉันนั้น
แต่พอมีเรื่องกังวลใจในเรื่องของตนหรือคนที่ตนรักเข้ามารบกวนใจ หรือมีความเสียดายรุมเร้าใจอยู่ด้วยความอยากได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งหรืออยากพบคนที่รักหรือชอบพอ จิตจะคอยหมกมุ่นวนเวียนอยู่ในอารมณ์เช่นนั้นไม่วางวาย แต่กลับไม่รู้หรอกว่า กำลังติดอยู่ในความคิดที่คอยหวลกลับมาเป็นพักๆ ไม่หยุดหย่อนวางวาย กล่าวคือ ความหมกมุ่นเร้ารุมใจนั้น ความจริงก็คือ ความคิดที่ยืดเยื้อเรื้อรัง เสมือนหนึ่งหนูคอยออกมาวิ่งเพ่นพ่านเวียนวน เพราะแมวมัวแต่หลับในและฝันหวานอยู่ในจินตนาการ (Imagination) หรือนามรูป (mental Image หรือ 'self-image hologram') นั่นเอง
แต่ด้วยจิตที่เคยฝึกฝนมาดีในสติ-ความรู้สึกตัว มีสมาธิดี จิตที่ตั้งมั่นจะเกิดฉุกคิดเฉลียวใจ ระลึกรู้เท่าทันความคิดและสภาวธรรมที่แปลกปลอมเข้ามานั้นขึ้นมาได้เองอย่างคาหนังคาเขา เห็นความหมกมุ่นกังวลรุมเร้ารนใจนั้น สติพละร่วมผนึกกำลังกับสมาธิพละเป็นสัมมาสมาธิ ตัดความคิดที่รุมเร้ายืดเยื้อเรื้อรังอยู่นั้นโดยฉับพลัน
นั่นคือแม่แมวที่กำยำได้มีสติระลึกรู้ตื่นตัวตะปบหนูที่กำลังออกมาวิ่งเพ่นพ่านกัดของเสียหาย และเถลไถลอยู่ไกลรูห่างรังของมัน หนูวิ่งกลับรังเข้าหารูที่ห่างไกลโพ้นนั้นไม่ทัน ถูกตะปบตายคาสนามหรือช็อคตายอยู่นอกรังขณะที่กำลังเพ่นพ่านอยู่นั้น นั่นคือ สัมมาสติและสัมมาสมาธิตัดความคิดขาด ต่อกลับไม่ติด ไม่เกิดการกระทบหรือผัสสะระหว่างความคิดกับจิต ขาดจากกัน มโนวิญญาณขาด(วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท) หยุดหมกมุ่น หยุดคิด(สังขาร) หายโง่(อวิชชา)ขึ้นมาทันที
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง อยู่เหนือความคิด จะบังคับจิตให้กลับไปคิดอีกก็ไม่ได้ เพราะหายโง่ ฉลาดด้วยเกิดปัญญาเสียแล้วและรู้แล้วว่า ที่เคยเสียดายหรือเคยกังวลใจอยู่นั้น ก็คือเจ้าตัววายร้ายหรือความคิดที่แอบแฝงซ่อนรูปมานั่นเอง คอยก่อกวนให้วุ่นวายใจอยู่ไม่วางวาย
ซึ่งแต่เดิมโง่อยู่ เพราะไม่เห็นไม่รู้ จนกระทั่งสัมมาสติและสัมมาสมาธิตามมาทันและตัดความ(ลัก)คิดได้โดยเด็ดขาดอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ “คิดเท่าไร ก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดให้ได้จึงรู้"
"แต่ต้องอาศัยความคิด นั่นแหละจึงรู้” เพราะถ้าปราศจากความคิด ก็เสมือนไม่มีอะไรให้จิตเป็นเครื่องสังเกต แม้จะมีสติและสมาธิอยู่ แต่จิตที่ว่างๆ ราบเรียบอยู่นั้น ไม่มีอะไรมารบกวนจิตหรือกระเพื่อมจิตให้เป็นที่สังเกตระลึกรู้ แต่ที่แท้หนูหรือความคิดยังอยู่ เพียงแต่ไม่ออกมาให้เห็น หลบซ่อนแอบอยู่ในรู หรือผลุบๆ โผล่ๆ ให้เห็นเพียงแค่หางหรือเงาลางๆ ของความคิดเท่านั้น ยังไม่ขาดหายไปหรือหนีหายไปไหน
แต่เมื่อหนูถูกจับได้คาหนังคาเขาขณะที่กำลังออกมาวิ่งเพ่นพ่านทำความเสียหายอยู่นั้น หนูถูกแม่แมวตะปบช็อคตาย ความคิดขาดสะบั้นลง ไม่มีตัวก่อหวอดสร้างปัญหาให้เกิดทุกข์ได้อีกต่อไป จิตจึงหลุดพ้น นั่นคือ "ต้องหยุดคิดให้ได้จึงรู้"
ความคิดจึงเปรียบเสมือนเครื่องกีดขวาง (Hurdle) ที่นักวิ่งข้ามเครื่องกีดขวางจะต้องสังเกตเห็นและวิ่งข้ามพ้นให้ได้ เพราะความคิดเกิด-ดับตลอดเวลา เสมือน Hurdle ที่ผลุบโผล่ขึ้นมารบกวนจิต หากปราศจากหนูหรือความคิด ไม่มีอะไรสะกิดใจสะเทือนจิต ให้จิตกระเพื่อมหวั่นไหว ย่อมขาดความแปรปรวนของสภาวธรรมให้เป็นเครื่องสังเกตแก่จิตให้ระลึกรู้ ด้วยตัวจิตเองมีธรรมชาติที่ปราศจากรูปร่างหน้าตา แต่เมื่อความคิดเข้ามารุมเร้าก่อกวนปรุงแต่งจิต เกิดการแปรปรวนของสภาวธรรมให้จิตระลึกรู้ สัมมาสติและสัมมาสมาธิจับความคิดหรืออาการเคลื่อนไหวของจิตได้ทันท่วงที จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็น "มรรค" (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) หรือ "รู้สึกใจ ตื่นใจ" (หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ) ตัดต้นตอต้นเหตุที่ก่อเรื่องเดือดร้อนให้เป็นทุกข์ ให้หมดสิ้นไป นำให้เกิด ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็น"นิโรธ" นั่นเอง
หลวงปู่ดูลย์จึงได้เน้นสอนไว้ว่า "แต่ต้องอาศัยความคิด นั่นแหละจึงรู้” (ซึ่งก็ไม่ใช่คิด และไม่เข้าไปในความคิด)
จากหนังสือ "โลกแปรผัน อัศจรรย์พุทธวิทัศน์"
โดย ศ.นพ.คงศักดิ์ ตันไพจิตร
เพจ Buddhism&Science
เพจ 'ธรรมะเน้นๆ A Great Degree Dhamma'
วันพุธที่ ๑๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา