10 ก.ย. 2019 เวลา 14:42 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ดาวเคราะห์แห่งความตาย!! (Part2) 😔 = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = =
ก่อนจะมาต่อกันกับเหตุการณ์หายนะของสิ่งมีชีวิตบนโลก และนี่คือโฉมหน้าของ Photosynthetic cyanobacteria ที่ยังอยู่รอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน พวกมันคือหนึ่งในสายพันธุ์ที่ยังคงปฎิเสธการถูกล้างบางในทุกครั้งมาจวบจนวันนี้
Photosynthetic cyanobacteria ในยุคปัจจุบัน ผ่านกล้องจุลทรรศน์ กำลังขาย 2,400 เท่า, Cr: Josef Reischig via Wikipedia
เอาละมาต่อเลยกับ Mass Extinction ครั้งที่ 5 😩
5. The Lau Event
เกิดเมื่อ: 420 ล้านปีก่อน
ความสูญเสีย: 30% ของจำนวนสายพันธฺุ์บนโลก
สาเหตุ: องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนไปจนเป็นพิษต่อบางสายพันธุ์
ซากฟอสซิลของสายพันธุ์หนึ่งในยุค Silurian Cr: listverse.com
หลังจากเหตุการณ์ Ordovician extinction โลกก็ได้เข้าสู่ยุค Silurian ชีวิตเริ่มฟื้นคืน วิวัฒนาการเด่นของยุคนี้ได้แก่ ปลามีกระดูกสันหลัง บรรพบุรุษของปลาฉลาม
มอสและพืชขนาดเล็กกลับมางอกงามบนผืนแผ่นดิน สัตว์ขาปล้อง (arthropods) และแมลงเริ่มคลืบคลานสู่แผ่นดิน แมงป่องทะเลและแมลงที่อาศัยในน้ำยังคงครองมหาสมุทร
พืชขนาดเล็กในยุค Silurian Cr: nature.desktopnexus.com
จนมาเมื่อ 420 ล้านปีก่อน กว่า 30% ของจำนวนสายพันธฺุ์บนโลก ก็มีอันต้องสูญพันธุ์จากการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของอากาศจนเป็นพิษต่อสายพันธุ์เหล่านั้น
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนก๊าซที่เป็นองค์ประกอบของบรรยากาศในยุคนั้นยังไม่แน่ชัด ชีวิตที่เหลือรอดพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอดจนเข้าสู่ยุค Denovian
6. Late Devonian Extinction
เกิดเมื่อ: 374 ล้านปีก่อน
ความสูญเสีย: 75% ของจำนวนสายพันธฺุ์บนโลก
สาเหตุ: องค์ประกอบของอากาศเปลี่ยนแปลงจากการระเบิดของภูเขาไฟยักษ์(Super Volcano Eruption)
อยู่ไม่ไหวแล้วทะเลมันแออัด หนีขึ้นบกดีกว่า Cr: listverse.com
ในยุค Devonian นี้เกิดวิวัฒนาการที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอย่างหนึ่งคือการที่ปลาบางสายพันธุ์ได้เสริมแกร่งให้กับครีบตัวเองจนสามารถคืบคลานขึ้นมาบนแผ่นดินได้
ซึ่งต่อมาก็ไดัพัฒนามาเป็นบรรพบุรุษของสัตว์เลี้อยคลานและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนในทะเลบรรพบุรุษของเหล่าปลาได้ครองพื้นที่แทนพวกแมลงทะเล (trilobites)
บนบกเหล่าพืชได้วิวัฒนาการอย่างหลากหลาย เกิดเป็นพืชมีเมล็ด เฟิร์นยักษ์สูง 8 เมตร
ในยุคนี้ ชีวิตได้แพร่กระจายไปทั้งผืนดินและผืนน้ำเต็มรูปแบบ, Cr: oshonews.com
แต่เหมือนเดจาวู 374 ล้านปีก่อน เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของบรรยากาศอันเนื่องจากการระเบิดของภูเขาไฟยักษ์ 75% ของจำนวนสายพันธุ์บนโลกก็มีอันต้องสูญพันธุ์จากวิกฤตครั้งนี้
7. Carboniferous Rainforest Collapse
เกิดเมื่อ: 305 ล้านปีก่อน
ความสูญเสีย: 10% ของจำนวนสายพันธฺุ์บนโลก
สาเหตุ: โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง
ภาพจำลองของโลกในยุค Carboniferous Cr: listverse.com
ธรรมชาติยังคงตามกระหน่ำซ้ำเติมชีวิตบนโลกให้ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดไม่ได้หยุด เมื่อโลกเข้าสู่ยุค Carboniferous สัดว์บกที่เหลือรอดได้วิวัฒน์ตัวเองให้สามารถวางไข่ได้
แมลงมีปีกเริ่มปรากฎ ต้นไม้ใหญ่เติบโตเต็มผืนดิน ทำให้ระดับออกซิเจนสูงถึง 35% (21% ในปัจจุบัน) โดยพืชตระกูลสนจากยุคนี้ก็ยังคงเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน
และยุคนี้ก็ถือเป็นยุคทองของบรรพบุรุษปลาฉลามซึ่งแทบไม่ต้องปรับตัวเลยจนมาถึงปัจจุบัน พวกมันได้ครอบครองผินมหาสมุทร
จนมาถึง 305 ล้านปีก่อน จู่ ๆ ก็เกิดยุคน้ำแข็งช่วงสั้น ๆ ส่งผลให้พืชยืนต้นขนาดใหญ่ล้มตายไปพร้อมกับสัตว์บก กว่า 10% ของจำนวนสายพันธุ์บนโลก ไม่ได้ไปต่อ
กระบวนการเกิดถ่านหิน, Cr: zoombd24.com
เหล่าไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ตายทับถมก็ได้กลายมาเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิสในรูปของถ่านหินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ โดยชื่อของยุคนี้ก็มาจากความหมายที่ว่า ยุคของการกำเนิดเชื้อเพลิงฟอสซิล
8. Permian-Triassic Extinction
เกิดเมื่อ: 252 ล้านปีก่อน
ความสูญเสีย: 90-99% ของจำนวนสายพันธฺุ์บนโลก
สาเหตุ: ภูเขาไฟยักษ์ระเบิด (Super Volcano Eruption)
ภาพจำลองของโลกในยุค Permian Cr: listverse.com
ชีวิตที่เหลือรอดคืบคลานเข้าสู่ยุค Permian นำโดยสัตว์เลื้อยคลานที่วางไข่ได้ การวิวัฒน์ของพวกมันทำให้เกิดการแตกกิ่งก้านสาขาออกมาเป็นบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ชีวิตเหมือนจะไปได้ดี จนพวกมันต้องเจอกับหายนะครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จากพลังของธรรมชาติ เมื่อภูเขาไฟยักษ์ระเบิดเมื่อ 252 ล้านปีก่อน เกิดเป็น “The Great Dying” หนึ่งในการตายครั้งมโหฬารที่สุดบนผืนพิภพนี้
แค่ภูเขาไฟระเบิดเนี่ยนะ?
ในตอนแรกมีหลายทฤษฎีมาอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์นี้ ทำไมจู่ ๆ ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศพุ่งพรวด
ทำไมทะเลเป็นกรด?
แนวคิดมีทั้งอุกกาบาตชนโลก/ภูเขาไฟยักษ์ระเบิด
แนวคิดที่เป็นไปได้มากสุดอธิบายได้ดังนี้ครับ เมื่อภูเขาไฟยักษ์ระเบิดได้ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลเข้าสู่บรรยากาศ
ซึ่งระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงนี้ทำให้เหล่าแบคทีเรียที่หายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจนในการดำรงชีวิต เติบโตอย่างรวดเร็วและจากกระบวนการหายใจของพวกมันจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมา
ไม่ว่าจะบกหรือทะเล หายนะไปเยือนทุกที่ Cr: newcastlemuseum.com.au
เมื่อก๊าซมีเทนในบรรยากาศมีมากโลกก็ร้อนจัดและยังทำให้ทะเลเป็นกรด หายนะนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิ่งมีชีวิตบนพื้นดินมันยังลามไปยังมหาสมุทรด้วย
การที่ภูเขาไฟยักษ์ระเบิด ครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งอื่น เพราะมันได้แค่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนพื้นดินเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถีงในมหาสมุทรเลยทีเดียว
เชื่อกันว่าเฉลี่ย 96% ของจำนวนสายพันธุ์บนโลกขณะนั้นได้สูญพันธ์ุไป นับว่าเป็น The Great Dying จริง ๆ ครับ
ลองเปรียบเทียบกับฝีมือมนุษย์ ว่ากันว่าเราเราได้ทำให้กว่า 1,000 สายพันธุ์บนโลกต้องสูญพันธุ์ไป แต่ก็จาก 8 ล้านสายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็น 0.01% แม้ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจ แต่ก็จะเห็นได้ว่าพลังการทำลายล้างจากธรรมชาตินั้นน่ากลัวขนาดไหน
ขอจบ Part 2 แต่เพียงเท่านี้ พรุ่งนี้เราจะเข้าสู่ยุค Jurassic กัน และแน่นอนว่าหายนะยังคงรออยู่ 😉

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา