14 ก.ย. 2019 เวลา 04:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
นักดาราศาสตร์พบโมเลกุล “น้ำ” บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตได้เป็นครั้งแรก
ภาพจาก https://www.ucl.ac.uk/news/sites/news/files/planet_1.jpg
งานวิจัยนำทีมโดย ดร.อังเยลอส ทซีอารัส (Dr. Angelos Tsiaras) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนได้ศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่กำลังโคจรรอบดาวฤกษ์แม่ในระยะห่างที่ทำให้น้ำอยู่ในสถานะของเหลว และได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy
ดาวเคราะห์ดวงนี้ชื่อว่า K2-18b มีมวลมากกว่าโลก 8 เท่า ห่างออกไป 110 ปีแสง
เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต นับเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่มีทั้งน้ำและอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิต
มันโคจรรอบดาวแคระแดง ชื่อว่า “K2-18” ด้วยคาบ 33 วัน ซึ่งดาวเคราะห์มีระยะห่างจากดาวฤกษ์แม่ในตำแหน่งที่ทำให้น้ำอยู่ในสถานะของเหลวได้ เรียกว่า “เขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต (habitable zone)”
มีน้ำในชั้นบรรยากาศ
แต่ยังเรียกว่าบ้านใหม่ของมนุษย์โลกไม่ได้
ดาวเคราะห์ K2-18b อยู่ในตำแหน่งที่ได้รับรังสีจากดาวฤกษ์แม่ค่อนข้างมาก มีองค์ประกอบทางชั้นบรรยากาศที่แตกต่างจากโลก และมีมวลมากกว่าโลกถึง 8 เท่า หมายความว่ามีแรงโน้มถ่วงที่พื้นผิวมากกว่าโลกค่อนข้างมาก
ทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้จึงยังไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของมนุษย์ แต่เป้าหมายต่อไปของนักวิจัยคือ ศึกษาว่ามีปริมาณน้ำในชั้นบรรยากาศมากน้อยแค่ไหน
ทีมนักวิจัยเชื่อว่าดาวเคราะห์ K2-18b มีแก๊สไนโตรเจน และแก๊สมีเทนอยู่ในชั้นบรรยากาศอีก แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจพบแก๊สดังกล่าวได้
หากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ พร้อมทำงานเมื่อไหร่ ก็สามารถศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่านี้หลายเท่า
เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา