15 ก.ย. 2019 เวลา 08:48 • สุขภาพ
Lactobacillus (แลคโตบาซิลัส) คือแบคที่เรียชนิดหนึ่งที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี ซึ่งจริงๆแล้วมีหลายสายพันธุ์มากๆ ความดีของคุณคนนี้ก็คือเขาจะอาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ของพวกเราโดยไม่ก่อให้เกิดโรคแต่อย่างไร และนอกจากนี้ยังพบคุณพวกนี้ได้ตามอาหารหมัก เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยวเป็นต้น
ในปัจจุบันมีการนำ Lactobacillus มาทำเป็นยาหรืออาหารเสริมเพื่อป้องกันโรคท้องเสียจากการเดินทาง (Traveler diarrhea) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อเราไปกินอาหารต่างถิ่นต่างแดน และยังนำมาใช้คู่กับยาฆ่าเชื้อหลังจากที่มีการติดเชื้อท้องเสียแล้วอีกด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่าการรับประทานเจ้าพวกจุลินทรีย์ตัวน้อยนี้ยังมีส่วนช่วยในคนที่มีปัญหาลำไส้แปรปรวนแบบท้องผูก โรคร้องโคลิกในเด็กเล็ก การสำรอกนม และยังมีส่วนช่วยทำให้อาการดีขึ้นในคนที่ผ่าตัดลำไส้
ไม่เพียงเท่านั้นในคนที่มีประวัติเป็นโรคผิวหนัง เช่น แผลพุพอง แผลเปื่อย สิว รวมถึงผื่นแพ้ผิวหนัง (Allergic dermatitis) เชื้อตัวน้อยพวกนี้ก็ทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันผ่านระบบ Immunoglobulin ไปต่อสู้กับเชื้อหรือสารต่างๆที่ก่อโรคทางผิวหนังได้อีกด้วย ข้อดีที่สำคัญคือ มีการทดลองประสิทธิภาพและความปลอดภัยพบว่าสามารถใช้ได้ตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ ไปจนถึงทารกแรกเกิดที่มีปัญหาดังกล่าว
ส่วนในผู้หญิงที่เป็นตกขาวบ่อยๆ ทั้งจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย การเสริมด้วยแลคโตบาซิลัสก็จะช่วยให้มีจุลินทรีย์ที่ดีในช่องคลอดเพิ่มมากขึ้น ช่วยป้องกันการติดเชื้อในช่องคลอดซ้ำได้ (แต่ไม่มีผลป้องกันการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์นะคะ)
ส่วนผลข้างเคียงก็น้อยมาก บางคนอาจจะรู้สึกท้องอืด แน่นท้องเพิ่มเท่านั้นเอง แต่ต้องระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีลิ้นหัวใจผิดปกติเนื่องจากมีรายงานการเกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้โดยเฉพาะในช่วงที่มีการผ่าตัดร่วมด้วย ดังนั้นควรงดรับประทาน Lactobacillus ในช่วงเวลาดังกล่าวหรือปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
ผลกระทบต่อยาอื่นที่เด่นๆคือ การรับประทานร่วมกับยาฆ่าเชื้อก็จะทำให้ประสิทธิภาพและปริมาณของ lactobacillus ลดลงควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และการใช้ร่วมกับยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) เช่น azathioprine (Imuran), basiliximab (Simulect), cyclosporine (Neoral, Sandimmune), daclizumab (Zenapax), muromonab-CD3 (OKT3, Orthoclone OKT3), mycophenolate (CellCept), tacrolimus (FK506, Prograf), sirolimus (Rapamune), prednisone (Deltasone, Orasone), corticosteroids (glucocorticoids) จะรบกวนการทำงานของยากดภูมิทำให้ภาวะโรคกำเริบได้
ดังนั้นแล้วแม้ว่าเจ้าแลคโตบาซิลัสจะมีข้อดีมากมายแต่ก็ต้องระวังการใช้ในคนบางกลุ่มเช่นกัน ควรใช้เมื่อมีข้อบ่งใช้ที่เหมาะสมและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง ส่วนใครที่อยากเสริมด้วยอาหารก็สามารถรับประทานเพิ่มจากโยเกิร์ต นมเปรี้ยว ยาคูลท์ ได้จ้า
เอกสารอ้างอิง
LACTOBACILLUS [internet]. 2018. Available from: https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-790/lactobacillus
โฆษณา