16 ก.ย. 2019 เวลา 09:03 • การศึกษา
“ผ่อนบ้านต่อไม่ไหว หากปล่อยให้ยึดและขายทอดตลาด หนี้จะระงับหรือไม่ ?”
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เข้าฟังการบรรยายในหัวข้อหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ซึ่งพบว่าสถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเลยทีเดียว เนื่องจากอายุของผู้ก่อหนี้เริ่มจะน้อยลงมาเรื่อย ๆ
ยิ่งสภาวะเศรษฐกิจโลกที่แกว่งไปแกว่งมาเหมือนกับลูกตุ้มในตอนนี้ ประกอบกับการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยี ทำให้คนถูกเลิกจ้างและตกงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
และเมื่อถูกเลิกจ้างแล้วจะเอาเงินจากไหนไปใช้หนี้ที่มีอยู่ ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต และหนี้อื่น ๆ อีกสารพัด
โดยเฉพาะหนี้บ้าน (รวมถึงคอนโด) ซึ่งเป็นหนี้ที่มียอดค้างชำระสูง และมีระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยาวนาน ทำให้คนที่กู้เงินเพื่อซื้อบ้านต้องตกอยู่ในสถานการณ์เหมือนถูกแขวนไว้อยู่บนเส้นด้าย เพราะหากถูกเลิกจ้างขึ้นมาเมื่อไหร่ การชำระหนี้อาจจะต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย
ทีนี้เมื่อคนกู้ไม่ชำระหนี้ สุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นการถูกฟ้องร้องและบังคับคดีนำทรัพย์สินมาขายทอดตลาดเป็นบ้านมือสอง ซึ่งจะมีราคาต่ำกว่าท้องตลาดพอสมควร
ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อบ้านมือสองมีราคาถูก จึงส่งผลให้ราคาบ้านมือหนึ่งตกลงไปด้วย คนที่กู้เงินเพื่อซื้อบ้านมือหนึ่งเมื่อราคาไม่ขยับขึ้นแถมเผลอ ๆ ยังตกลงไปอีก (เช่น กู้เงินซื้อบ้านราคา 5 ล้านบาท ต่อมาราคาลดลงเหลือ 4 ล้าน ซึ่งยังไม่รวมดอกเบี้ยที่สูงพอ ๆ กับราคาบ้านอีก)
หลายคนจึงหาทางออกโดยใช้วิธี “งดชำระค่าบ้านและปล่อยให้ธนาคารยึดไป” เพราะคิดว่าถือต่อไปก็ไม่คุ้ม
ทุกอย่างจึงวนลูปมาที่เดิม คือ ธนาคารยึดและขายทอดตลาด ----> บ้านมือหนึ่งราคาตก ---->ไม่ผ่อนต่อปล่อยให้ธนาคารยึดขายทอดตลาด
สาเหตุที่บางคนกล้าทำอย่างนี้เพราะคิดว่า เมื่อปล่อยให้ธนาคารยึดไปแล้วไม่ว่าจะขายทอดตลาดได้ราคาเท่าไหร่ หนี้ที่มีอยู่ก็เป็นอันจบกัน
1
“ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด”
แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 จะกำหนดไว้ว่า ถ้าเอาทรัพย์สินขายทอดตลาดและได้เงินน้อยกว่าที่ค้างชำระ เงินยังขาดอยู่เท่าไหร่ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดอีกก็ตาม
1
แต่เนื่องจากกฎหมายมาตรานี้เป็นเรื่องในทางแพ่งและไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่สัญญาจึงสามารถ “ตกลงยกเว้นกันได้”
ใครที่เคยกู้เงินธนาคารเพื่อซื้อบ้าน ลองกลับไปอ่านสัญญาจำนองดูดี ๆ ครับ เพราะจะเจอกับข้อความทำนองว่า “หากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ที่ค้างชำระ ลูกหนี้ยินยอมชำระหนี้ที่เหลืออยู่แก่เจ้าหนี้จนครบจำนวน”
ซึ่งข้อความในสัญญานี้เอง ที่ทำให้ธนาคารยังคงมีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้กู้ได้อีก แม้จะขายทอดตลาดทรัพย์สินไปแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ทั้งหมดก็ตาม
แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องจำนองเพิ่มเติมขึ้นมาว่า ในกรณีที่ผู้จำนองได้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันการชำระหนี้ของคนอื่น ผู้จำนอง "ไม่ต้องรับผิดชอบเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด" และ "ห้ามทำข้อตกลงยกเว้น" ก็ตาม
แต่ข้อกฎหมายดังกล่าวจะนำมาใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ “ผู้จำนอง จำนองทรัพย์สินของตนเองเพื่อประกันหนี้ของคนอื่น” เท่านั้น
ส่วนกรณีที่ผู้กู้ ได้กู้เงินเพื่อซื้อบ้านและนำบ้านไปจำนองเพื่อประกันการชำระหนี้ของตัวเองนั้น ผู้กู้ยังคงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เดิม นั่นก็คือ “หากขายทอดตลาดได้เงินเท่าไร ผู้กู้ไม่ต้องชำระหนี้ส่วนที่ขาด เว้นแต่จะมีข้อสัญญากำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระส่วนที่เหลือ”
รู้อย่างนี้แล้ว ใครที่คิดจะปล่อยให้ธนาคารยึดบ้าน เพราะคิดว่าขายทอดตลาดไปแล้วหนี้เป็นอันระงับล่ะก็ ต้องขอให้พิจารณาดูใหม่ เพราะธนาคารอาจมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ในส่วนที่ยังเหลืออยู่ได้ครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา