25 ก.ย. 2019 เวลา 12:12 • การศึกษา
“สิ่งที่ควรรู้ไว้ เมื่อต้องกลายเป็นคนค้ำประกัน !?”
ถึงแม้จะมีคำบอกกล่าว หรือสุภาษิตต่าง ๆ มากมายที่คอยเตือนสติเราว่า “อย่าไปค้ำประกันให้ใคร” เพราะนอกจากจะไม่ได้อะไรแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียเงินทอง ถูกฟ้องร้องเป็นคดีความ หากคนที่เป็นลูกหนี้เกิดผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ภายในกำหนด
Cr. pixabay
แต่ด้วยความจำเป็นหรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อาจทำให้เราได้รับเกียรติเปลี่ยนสถานะจากคนธรรมดามาเป็นผู้ค้ำประกันได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ถึงสิทธิต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ค้ำประกัน
ซึ่งในบทความนี้ ผมจะพาทุกคนไปรู้จักสิทธิเหล่านั้นกัน.....ตามมาเลยครับ
Cr. pixabay
คงมีน้อยคนที่ยังไม่รู้จักว่าการค้ำประกันคืออะไร แต่ถ้าจะให้ผมอธิบายให้ฟังง่าย ๆ ในที่นี้ การค้ำประกันก็คือ "การยอมรับผิดแทนลูกหนี้" ยกตัวอย่างจากตัวละคร 3 คนที่เกี่ยวข้อง สมมติว่า A คือลูกหนี้ B คือเจ้าหนี้ และ C คือผู้ค้ำประกัน
นาย A จะขอยืมเงินนาย B 1 แสนบาท แต่นาย A ดูไม่น่าเชื่อถือ ลำพังนาย A คนเดียวนาย B คงจะไม่ให้ยืมเงิน นาย A จึงขอให้นาย C ซึ่งเป็นคนที่มีหน้าที่การงานดูมั่นคงมาช่วยค้ำประกันให้ นาย B จึงยอมให้ยืมเงิน ทีนี้ หากหนี้ถึงกำหนดแล้วนาย A ไม่ยอมคืนเงินนาย B นาย C ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบในเงิน 1 แสนบาทนี้แทน
นี่เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ให้พอเข้าใจคอนเซปต์ของการค้ำประกัน ซึ่งจริง ๆ แล้ว การค้ำประกันเป็นวิธีการซึ่งนำมาใช้ในเกือบทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ การจัดซื้อจัดจ้าง การขอสินเชื่อ การเช่าซื้อรถ การประกันการทำงาน หรือแม้กระทั่งเรื่องที่ไม่ซับซ้อนอย่างการกู้ยืมเงินตามตัวอย่างที่ได้ยกขึ้นมา
1
Cr. pixabay
ซึ่งปัญหาของผู้ค้ำประกันจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อลูกหนี้ผิดนัดและเจ้าหนี้ได้ทวงถามไปยังลูกหนี้แล้ว แต่ลูกหนี้ตัวดีไม่ยอมชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงได้มาทวงถามเพื่อให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทน
และต่อจากนี้ คือสิทธิตามกฎหมายที่ผู้ค้ำประกัน “จะต้องรู้” ไว้ เพื่อจะได้รู้เท่าทันและป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบได้
1) กฎหมายกำหนดให้ เจ้าหนี้จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้ไม่มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในเวลาที่กำหนด ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบในดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และค่าภาระติดพัน ที่เกิดขึ้นหลังจากครบกำหนด 60 วันอีกต่อไป
Cr. pixabay
ยกตัวอย่างจากเรื่องเช่าซื้อรถยนต์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ยอมชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์จึงได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทน แต่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวจำเลยที่ 2 เกินกว่า 60 วันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ซึ่งผลของการมีหนังสือบอกกล่าวล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็คือ...
2
สำหรับหนี้การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อและหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน ซึ่งเป็นหนี้ประธาน แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแก่จำเลยที่ 2 เกิน 60 วัน นับแต่ผิดนัดก็ตาม จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันก็ไม่หลุดพ้น ส่วนหนี้ค่าขาดประโยชน์ถือเป็นภาระติดพันของหนี้ประธาน จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนด 60 วัน (อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 220/2562)
Cr. pixabay
2) ถ้าเจ้าหนี้ได้ตกลงลดจำนวนหนี้ที่ค้ำประกัน รวมถึง ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ค่าภาระติดพันให้แก่ลูกหนี้ หากมีการชำระหนี้ซึ่งได้ลดให้จนครบถ้วนแล้ว ไม่ว่าโดยลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันก็ตาม ผู้ค้ำจะหลุดพ้นจากการค้ำประกันทันที
และหากมีข้อตกลงที่เป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ค้ำประกันมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ข้อตกลงนั้นถือเป็นโมฆะ (เช่น มีการเขียนไว้ในสัญญาว่า เจ้าหนี้ยินยอมลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ แต่สำหรับผู้ค้ำจะต้องชำระหนี้เต็มจำนวน ข้อตกลงอย่างนี้ใช้ไม่ได้นะครับ)
Cr. pixabay
3) สำหรับหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระ หากเจ้าหนี้ยินยอมขยายเวลาการชำระหนี้ให้นานออกไป ซึ่งตามกฎหมายจะมีผลทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้นั้นไปเลย เว้นแต่ผู้ค้ำประกันจะได้ตกลงด้วยในการขยายเวลาดังกล่าว
ซึ่งโดยปกติ เจ้าหนี้มักจะระบุไว้ล่วงหน้าไว้ในสัญญาค้ำประกันเลยว่า หากมีการขยายเวลาให้ถือว่าผู้ค้ำประกันได้ให้ความยินยอมแล้ว แต่ในปัจจุบันหลังจากการแก้ไขกฎหมายเรื่องการค้ำประกัน การระบุไว้ล่วงหน้าในสัญญาว่าผู้ค้ำประกันยินยอมให้ขยายเวลา “ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป” แต่จะต้องทำเป็นข้อตกลงภายหลังจากที่เจ้าหนี้ได้ขยายเวลาให้แก่ลูกหนี้เท่านั้น จะทำล่วงหน้าไม่ได้ หากฝ่าฝืนข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะทันที
2
4) ในสัญญาค้ำประกัน จะกำหนดให้ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดกับลูกหนี้อย่าง “ลูกหนี้ร่วม” (รับผิดโดยไม่จำกัดวงเงิน) ไม่ได้อีกต่อไป และจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ จำนวนเงินที่ค้ำประกัน และระยะเวลาการค้ำประกันให้ชัดเจน หากฝ่าฝืน ข้อตกลงดังกล่าวจะตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน
1
Cr. pixabay
นี่เป็นเพียงบางส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ำประกัน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและไม่ควรมองข้ามหากไม่อยากรับผิดชอบเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ควรที่จะเกิดขึ้น หากลูกหนี้มีความรับผิดชอบ ชำระหนี้ของตนตามเวลาที่กำหนด ไม่ปล่อยปละละเลยให้คนที่ไว้วางใจยินยอมค้ำประกันให้ ต้องมารับผิดชอบในสิ่งที่เขาไม่ได้ก่อไว้
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา