27 ก.ย. 2019 เวลา 12:07 • การศึกษา
“ทำยังไงดี เมื่อมีโรงงานมาอยู่ใกล้บ้านและทำให้เราเดือดร้อน ?”
จะทำอย่างไร หากบ้านที่เราใช้ชีวิตอย่างสงบสุขมาโดยตลอด แถมตั้งอยู่ในชุมชนซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัย อยู่ ๆ ก็มีโรงงานหรือร้านค้า ย้ายมาประกอบกิจการใกล้ ๆ และสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ก่อให้เกิดมลภาวะ ไม่ว่าจะเป็นทางเสียง ทำให้เกิดฝุ่นละออง ส่งกลิ่นเหม็น น้ำเสีย หรือขยะมูลฝอย
Cr. pixabay
เราจะสามารถเรียกร้องให้โรงงานหรือร้านค้าเหล่านั้นหยุดสร้างความรบกวนเดือดร้อนรำคาญได้มั้ย หรือจะขอให้ย้ายออกไปเลยได้รึเปล่า ?
ผมขออธิบายอย่างนี้ครับ
การที่เราได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการของโรงงานหรือร้านค้าที่อยู่ใกล้เคียง เช่น มีเสียงดัง มีการพ่นสี ส่งกลิ่นเหม็น หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ส่งผลกระทบและทำให้เราได้รับความเสียหาย ต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย หรือทรัพย์สินก็ดี ซึ่งตามกฎหมายนั้น ถือว่าเราได้ถูกทำละเมิดไปแล้ว
Cr. pixabay
และเมื่อถูกกระทำละเมิด เราจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโรงงานหรือร้านค้าเหล่านั้น อันเนื่องมาจากการประกอบกิจการดังกล่าวได้ โดยการฟ้องต่อศาลเป็น คดีแพ่ง
ขอยกตัวอย่างจากคดีจริงเพื่อให้เห็นภาพ
“โจทก์ทั้งสอง (ผู้เสียหาย) เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 332/7 ถนนจิระ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยพักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2532
ส่วนจำเลยทั้งสอง (โรงงาน) มาเช่าบ้านเลขที่ 332/6 ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านโจทก์ทั้งสองประมาณ 3 เมตร มีถนนซอยคั่นกลางตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2533 ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการทำหลังคารถยนต์และเต็นท์ผ้าใบ
ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2536 จำเลยทั้งสองได้ซื้อที่ดินที่อยู่ติดกับหลังบ้านที่เช่า เนื้อที่ 2 งานเศษ แล้วสร้างอาคารโรงงานเลขที่ 332/8 เป็นสถานที่ประกอบกิจการเพิ่มเติม
Cr. pixabay
สำหรับการประกอบกิจการของจำเลยทั้งสอง มีการเคาะเหล็ก เชื่อมเหล็กและเจียระไนเหล็ก ส่งเสียงดังและมีการพ่นสีส่งกลิ่นเหม็น เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแก่อนามัยและเดือนร้อนรำคาญ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
จำเลยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิจะดำเนินการเพื่อทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญนั้นให้หมดไป โดยไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทนอีกด้วย”
นี่เป็นส่วนของการเรียกค่าเสียหาย ซึ่งศาลได้พิพากษาให้จำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์
ซึ่งในคดีนี้ โจทก์ทั้งสองนอกจากจะฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยแล้ว ยังได้ขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้จำเลยย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่นอีกด้วย แต่จะทำได้รึเปล่านั้น....ไปอ่านกันต่อเลยครับ
Cr. pixabay
“โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานอันเป็นสถานที่ประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองไปอยู่ที่อื่นได้หรือไม่ ?
ซึ่งเรื่องนี้ศาลเห็นว่า.....
จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของโรงงานย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยโรงงานอันเป็นทรัพย์สินของตนได้ เพียงแต่ต้องอยู่ภายในบังคับแห่งกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น
หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลที่ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายและเดือนร้อนรำคาญแก่โจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองชอบที่จะขอให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญระงับสิ้นลง
1
การตั้งโรงงานของจำเลยแม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.โรงงานฯ แต่เป็นการ กระทำผิดต่อรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่น”
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 8309/2548)
1
Cr. pixabay
สรุปว่า ในส่วนของการขอให้โรงงานย้ายออกไปจากบริเวณที่เป็นที่อยู่อาศัยนั้น
ศาลแพ่งไม่มีอำนาจพิพากษาสั่งให้ได้ เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูแลและสั่งการ เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด
ซึ่งหากแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า ผู้เสียหายจึงสามารถใช้สิทธิฟ้องหน่วยงานดังกล่าวต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ปฏิบัติตามหน้าที่ได้
จริง ๆ แล้ว หากเราไม่ต้องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเหมือนกับคดีตัวอย่างที่ได้ยกมา เราสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้เข้าไปดูแลและสั่งการ เพื่อหยุดการกระทำที่ทำให้เราได้รับความเดือดร้อนเสียหายได้ ไม่จำเป็นต้องไปฟ้องศาลเสมอไปครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา