Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คิด อย่าง สถาปนิก
•
ติดตาม
17 ก.ย. 2019 เวลา 09:05 • ศิลปะ & ออกแบบ
การเลือกทำเลที่ตั้งของบ้าน
คำว่า "บ้าน" สำหรับใครหลายๆคนนั้น เป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย
หลายคนเพียรพยายามทั้งชีวิตเพียงเพื่อขอพื้นที่ที่เป็นของเราจริงๆสักแห่ง
แต่จะเป็นพื้นที่ที่เราใฝฝันจริงหรือไม่นั้น บางทีเราก็ไม่อาจจะรู้
คนโบราณกล่าวว่า " 3 สิ่งที่เราไม่อาจเลือกได้คือ
1.พี่-น้อง
2.เจ้านาย
3.เพื่อนบ้าน
เมื่อดูจากทั้งสามข้อ เพื่อนบ้านดูจะมีโอกาสต่อรองได้มากที่สุด นี่พูดถึงในกรณีที่เรามีโอกาสจะเริ่มต้นใหม่
ตามตำราการเลือกทำเลที่ตั้งบ้านเรือนของจีนหรือที่เรียกกันว่าหลักฮวงจุ้ยนั้น กล่าวว่า
ที่ดินที่เป็นมงคลนั้นควรเป็นที่ดินรูปสี่เหลี่ยม จะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือผืนผ้าก็ได้นั้น
ถ้าเรายึดถือแค่นี้เพียงอย่างเดียวแล้วจบคงจะไม่ใช่และชีวิตคงไม่สำเร็จรูปขนาดนั้น
คำว่ามงคลที่ว่าถ้าหมายถึงความร่ำรวยเงินทองก็ไม่น่าจะใช่ เพราะจะร่ำรวยหรือไม่ น่าจะมาจากความขยันขันแข็งและวิสัยทัศน์มากกว่า
แต่ถ้าหมายถึงการจัดวางพื้นที่ล่ะก็ไม่แน่ เพราะที่ดินรูปสี่เหลี่ยมนั้นจัดแบ่งพื้นที่ได้ง่ายกว่าที่ดินรูปอื่น อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากให้พินิจคิดตรึกตรอง
ถ้าข้อมูลแม่น วางแผนดีและมีสติ ไม่ต้องกลัวว่าความเป็นสิริมงคลนั้นจะหนีหายไปไหน
ต่อไปนี้ คือหลักคิดในการเลือกทำเลที่ตั้งของบ้าน
1. ปัจจัยของทำเลที่ตั้ง
ควรพิจารณาประเด็นต่างๆให้เห็นเป็นภาพรวมแล้วนำมาเปรียบเทียบกันเป็นข้อๆในแต่ละทำเล
ทั้งเรื่องของการเดินทาง(บางแห่งดูเหมือนใกล้แต่ต้องไปกลับรถเสียไกล) สภาพการจราจรบริเวณนั้น ราคาที่ดิน(ทั้งตอนซื้อและยามที่คิดจะขาย) สภาพแวดล้อม(โรงเรียนของเด็ก สวนสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวก ระบบขนส่งมวลชน) สภาพของพื้นที่(น้ำท่วมไหม มีไฟฟ้าประปารึยัง ที่ดินต้องถมหรือไม่)
ถ้าเป็นที่ดินในโครงการหมู่บ้านก็ต้องดูเพิ่มเติมเช่น ความน่าเชื่อถือของเจ้าของโครงการ สาธารณูปโภคส่วนกลาง(รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เราต้องเสียรายเดือน) รวมไปถึงลักษณะการจัดการโครงการว่าต่อไปเมื่อโอนย้ายหมดจะเป็นแบบไหน เป็นนิติบุคคลหมู่บ้านหรือไม่ เป็นต้น
หลากหลายข้อแม้แบบนี้ แค่พูดก็มึนแล้ว วิธีหนึ่งที่เหล่าอาจารย์แนะนำให้กับนักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์สถาปัตย์ก็คือ
ให้นำทำเลที่ตั้งที่เราสนใจ มาเปรียบเทียบกัน โดยการทำเป็นตารางแยกแยะออกเป็นหัวข้อ จากนั้นให้คะแนนแต่ละหัวข้อ
วิธีการแบบนี้ช่วยลดความชอบหรือไม่ชอบโดยไม่มีเหตุผลลงได้มาก สุดท้ายเราจะเห็นเองว่า ในแต่ละทำเลนั้นมีคะแนนมากน้อยต่างกันอย่างไร
2. กฎหมาย
ถ้าให้ดีและรอบคอบ ควรพิจารณาตั้งแต่กฎหมายผังเมือง ว่าที่ดินที่ดูอยู่นั้นอยู่ในโซนสีอะไรในผังเมืองรวมจังหวัด (เสิร์ชหาดูได้จากกูเกิ้ล)
เพื่อดูข้อกำหนดเฉพาะของพื้นที่ เพราะบางพื้นที่ห้ามสร้างสูงเกิน 8 เมตร บางพื้นที่อาคารต้องถอยร่นจากที่ดินของเราเองเข้าไป 12 เมตรเป็นต้น
ดูข้อกำหนดกฎหมายการปลูกสร้างอาคารทั่วไปว่าขัดแย้งกับสิ่งที่เราวาดภาพไว้ในใจหรือไม่
รวมไปถึงถ้าจะให้ดีลองเช็คเรื่องการเวนคืนที่ดินด้วย จะช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้น
รวมไปถึงเอกสารทางกฎหมาย ที่ดินมีติดจำนองหรือไม่ มีเอกสารสิทธิ์หรือยัง ถ้ามีเป็นเอกสารแบบใด บางรายอยากซื้อที่ทำบ้านตากอากาศ ไปไปมามาเมื่อจ่ายเงินมัดจำหรือซื้อไปแล้วถึงมารู้ว่าอยู่ในเขตอุทยาน กรณีแบบนี้มีให้เห็นอยู่เสมอ
3. สภาพแวดล้อมโดยรอบที่ดิน
ว่าทำเลตรงนั้นสอดคล้องต่อวิถีชีวิตของเราหรือไม่
เช่นบริเวณโดยรอบเป็นแหล่งเสื่อมโทรม เป็นเขตปลอดทางเปลี่ยวหรือไม่ (ห่างไกลชุมชนจะซื้อบะหมี่ซักห่อต้องขับรถออกมาซื้อ)
ใกล้กับโรงงานหรืออยู่กลางความเจริญแบบขนาบข้างด้วยเธคและผับไหม
นำมาเปรียบเทียบกับการดำเนินชีวิตตามความเคยชินของเรา ว่าชอบแบบไหนและที่ชอบมันดีจริงหรือไม่
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น เราเป็นมนุษย์ฟรีแลนซ์ ทำงานเวลากลางคืนเป็นหลัก แบบนี้ สภาพรถติดในซอยช่วงเวลาเร่งด่วน อาจจะไม่มีผลต่อเรามากเท่ากับร้านข้าวต้มโต้รุ่งที่เราจะใช้เป็นที่ฝากท้องยามดึก เป็นต้น
4. ลักษณะความต้องการในการใช้ที่ดิน
ข้อนี้หมายถึง ที่ดินที่ดูไว้นั้นสอดคล้องกับที่คิดวางแผนไว้หรือไม่
เช่นบางท่านคิดว่าพอลูกๆเติบโต ก็จะตัดแบ่งแปลงที่ดินให้ แต่ที่ดินที่ซื้อมาเป็นที่ดินหน้าแคบ บ้านเดิมสร้างอยู่ด้านติดถนน พื้นที่ที่จะแบ่งให้จึงเป็นแปลงด้านใน แรกคิดอาจจะดูไม่เป็นปัญหา แต่ต่อไปเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่แล้วหรือมีความจำเป็นที่จะต้องขายกลับเป็นความยุ่งยาก เพราะที่ด้านในเป็นที่ดินตาบอดจะทำอะไรต้องพึ่งพาที่ดินด้านหน้า ตัดแบ่งก็ยุ่ง ขายต่อก็ยาก
หรือบางท่านมีความคิดอยากใช้พื้นที่ด้านหน้าทำร้านอาหารเล็กๆแบบโปร่ง โล่ง สบาย ให้แขกมานั่งเล่นยามเย็น แต่ลืมดูทิศว่า หน้าที่ดินอยู่ทางตะวันตกดิน เปิดรับแดดยามบ่ายเต็มที่ พอทำร้านเข้าจริงต้องมีชายคาบังกันแดดกันยุ่บยั่บ ความโปร่งโล่งที่อยากได้คิดไว้ก็กลายเป็นสิ่งต้องห้าม
ดังนั้นผู้ที่อยากจะมีบ้าน จำเป็นจะต้องทำการบ้าน
โดยเริ่มจากทำเลที่ตั้ง คิดภาพความต้องการที่อยากได้ให้ชัดเจนที่สุด เพื่อนำไปทาบทับกับผืนที่ดินที่ไปดู แต่ก็จงอย่ายึดติดจนเบียดบังความต้องการพื้นฐานของชีวิต
และเมื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปบอกเล่าให้สถาปนิกที่ทำการออกแบบให้ทราบ จะมีประโยชน์อย่างที่สุด
ข้อมูลยิ่งมาก การออกแบบยิ่งตรงประเด็น ภาพบ้านในฝันของท่านยิ่งชัดเจน ตรงใจผู้อยู่มากที่สุด
ซึ่งในครั้งหน้าผู้เขียนจะพูดถึงข้อมูลต่างๆที่สถาปนิกอยากรู้ และเจ้าของควรจะบอก เพราะความร่วมมือที่ดี จะทำให้เป็นบ้านที่ใช่ของคุณจริงๆ
3 บันทึก
9
7
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
การออกแบบบ้าน
3
9
7
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย