5 ต.ค. 2019 เวลา 01:57 • ศิลปะ & ออกแบบ
สถาปนิก คือ ใครน่ะ ?
มักจะมีคำถามเสมอว่า
เมื่อจะสร้างบ้านต้องมีแบบไหม ?
จำเป็นต้องใช้สถาปนิกรึไม่ ?
เอาแบบที่เห็นตามโบรชัวร์ รูปตามหนังสือ มาสร้างได้หรือไม่ ?
ถ้าให้ตอบแบบบ้านบ้าน(โดยยังไม่ต้องอ้างอิงเรื่องกฎหมายกฎเกณฑ์ต่างๆ)
งานก่อสร้างมันก็เหมือนงานจ้างทำของน่ะครับ ถ้าเจ้าของบ้านสามารถอธิบายให้คนสร้างเข้าใจถึงความต้องการได้อย่างชัดเจนตอบโจทย์ทุกอย่างได้ ก็ไม่ต้องมีแบบหรือสถาปนิกหรอกครับ
เหมือนชาวบ้านชาวเขาที่เค้าสร้างบ้านกันเอง อยากได้ยังไง ก็สร้างอย่างนั้น(ถ้ามีฝีมือพอ)
ดังนั้น หน้าที่ของสถาปนิกผู้ออกแบบ
จริงๆก็คือ การเชื่อมประสานตรงนี้
ทำแบบบ้านออกมาให้ตรงใจ ตรงงบประมาณ ตรงกับการใช้สอยและตรงกับเทคนิควิธีการก่อสร้างที่จะไม่เกิดปัญหาตามมาทีหลัง
บ้านแต่ละแบบ แต่ละขนาด ก็มีข้อแม้และเรื่องราวของมัน
สถาปนิกที่มีประสบการณ์จะไม่สนใจดูแค่ขนาดพื้นที่ที่จะจ้างออกแบบ
แต่จะดูไปถึงนิสัย ไลฟ์สไตล์เจ้าของ พฤติกรรมของคนในครอบครัว  ทำงานอดิเรกอะไร นอนตื่นสายไหม ปาร์ตี้บ่อยแค่ไหน  เยอะแยะจิปาถะ
เพื่อจะมาประมวลเป็นรูปแบบการจัดวางฟังค์ชั่นในแปลน
ซึ่งขั้นตอนนี้ สถาปนิกจะร่างแบบมาให้เจ้าของพิจารณา ไม่ถูกใจก็ร่างมาใหม่
เรียกว่าแก้รื้อกันบนกระดาษดีกว่าไปทุบรื้อกันหน้างาน
หลังจากได้แบบที่ลงตัวแล้ว สถาปนิกจะทำงานร่วมกับวิศวกร เขียนแบบลงรายละเอียดต่างๆเพื่อนำไปยื่นขออนุญาตกับทางราชการและให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง
ยังครับ งานสถาปนิกยังไม่หมดครับ
หลังจากนั้นระหว่างการก่อสร้าง อาจจะมีปัญหาจุกจิกตามมาอีก เช่น วัสดุที่ระบุไว้เลิกผลิต  เจ้าของอยากแก้แบบเพราะมีไอเดียเพิ่ม มีญาติย้ายมาอยู่ด้วย ลูกชายจะแต่งงาน บลาบลาบลา
สถาปนิกก็จะเป็นคนที่ช่วยปรับแก้ไขแบบให้หน้างานไม่สะดุด งบไม่บานปลาย รวมไปถึงอาจจะช่วยตรวจรับงานก่อสร้างให้ด้วยถ้าตกลงกับเจ้าของไว้ก่อน
นี่พูดถึงแค่เรื่องตอบโจทย์การใช้งานมาตรฐานนะครับ  ยังไม่ได้พูดถึงเรื่อง รูปแบบเอกลัษณ์เฉพาะตัว ความโอ่อ่าสง่าบารมีต่างๆ
จะเห็นว่ามีรายละเอียดและมีคนมากมายเข้ามาเกี่ยวข้องในงานก่อสร้าง
สถาปัตยกรรมจึงเป็นทั้งเรื่องศาสตร์และศิลป์
ดังนั้นจึงไม่แปลกหรอกครับ ที่วิชาชีพนี้จะใช้เวลาเรียนในระดับปริญญาตรีถึง 5 ปี
เป็นวิชาชีพที่ต้องมีสภาสถาปนิกกำกับและมีเลขทะเบียนประกอบวิชาชีพในการทำงาน
เพราะบ้านคือพื้นที่ที่กำหนดคุณภาพชีวิตของคุณ ไม่ใช่เสื้อโหลที่ไม่ถูกใจก็จะเปลี่ยนใหม่ได้เรื่อยๆ
เชื่อผมเถอะ ผมเรียนมา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา