Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
17 ก.ย. 2019 เวลา 23:16 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 2
ปรัชญาอินหยาง (陰陽) ตอนที่1
ปรัชญาอินหยางเป็นปรัชญาเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณกาล เป็นปรัชญาที่เกิดจากการสังเกตธรรมชาติ และคนไทยก็รู้จักปรัชญาอินหยางมาเนิ่นนานในลักษณะของการเรียกว่าหยินหยาง แต่การที่มีการอ่านออกเสียงลักลั่นกันเช่นนี้ คาดว่าน่าจะเกิดจากการรับข้อมูลมาจากภาคภาษาอังกฤษเสียมากกว่า
1
อักษรจีนเป็นอักษรที่มีความแปลกที่สุดในโลก เพราะอักษรจีนจะเป็นอักษรภาพ เป็นตัวอักษรที่เกิดจากการสังเกตรูปร่างลักษณะของธรรมชาติ แล้วนำรูปร่างนั้นมาเขียนเป็นตัวหนังสือ ดังนั้น อักษรจีนจึงมีลักษณะเป็นคำ หนึ่งคำตัวอักษรก็คือหนึ่งความหมาย ไม่เหมือนอย่างภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษที่เป็นแบบสะกด หนึ่งคำจะต้องเกิดจากการใช้ตัวอักษรหลายตัวรวมเข้าไว้ด้วยกัน ถึงแม้เราจะไม่รู้ความหมายของคำนั้น แต่เราก็ยังสามารถอ่านออกเสียงจากการสะกดได้
แต่ภาษาจีนจะไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเป็นอักษรภาพ ต่อให้เราได้เห็นตัวหนังสือก็ยังไม่สามารถอ่านออกเสียงได้ ดังนั้นในระบบภาษาของภาษาจีนจึงต้องมีวิธีการอ่านออกเสียงกำกับอีกระบบหนึ่ง และระบบการอ่านออกเสียงที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันจะมีอยู่สองระบบ ระบบแรกคือ “ระบบจู้อิน (注音)” ซึ่งเป็นระบบที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายที่ไต้หวัน อีกระบบหนึ่งคือ “ระบบพินอิน (拼音)” เป็นระบบที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายที่ประเทศจีน
ระบบพินอินเป็นระบบการออกเสียงที่ประยุกต์จากระบบการออกเสียงของภาษาอังกฤษ ดังนั้นจึงทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ระบบการออกเสียงได้ในเวลาอันรวดเร็ว ขอยกตัวอย่างการออกเสียงอินหยาง คือ “อิน” ภาษาจีนคือ “陰” การเขียนออกเสียงโดยระบบพินอินคือ “Yin” อ่านว่า “อิน” ส่วนหยางนั้น ภาษาจีนคือ “陽” การออกเสียงโดยระบบพินอินคือ “Yang” อ่านว่า “หยาง” ดังนั้นอินหยางหรือที่ภาษาจีนเขียนว่า “陰陽” นั้น ในทางระบบพินอินจะกำกับการออกเสียงว่า “Yin Yang” เมื่อคนจีนเห็นพินอินว่า “Yin Yang” ก็จะสามารถอ่านออกเสียงได้ในทันทีว่า “อินหยาง” แต่คาดว่าคนไทยที่ไม่เข้าใจระบบการออกเสียงพินอินนี้ เมื่อเห็นคำว่า Yin Yang ก็จะออกเสียงตามวิธีการออกเสียงของเราว่าหยินหยาง ซึ่งเป็นการออกเสียงที่ผิด และทำให้เราใช้ผิดตราบจนทุกวันนี้
ปรัชญาอินหยางเป็นปรัชญาที่เกิดขึ้นจากการสังเกตธรรมชาติของเหล่านักปราชญ์ ด้วยเพราะนักปราชญ์แต่โบราณครั้นได้เห็นความหลากหลายของธรรมชาติแล้ว ก็มีความพยายามที่จะค้นหาต้นกำเนิดของธรรมชาติที่มีความหลากหลายเหล่านี้ ครั้นเมื่อสังเกตดูความหลากหลายของธรรมชาติแล้วก็พบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความเป็นลักษณะสองขั้วทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น ชาย-หญิง ร้อน-หนาว สุริยัน-จันทรา สูง-ต่ำ รวย-จน เป็นต้น ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกล้วนมีลักษณะเป็นสองขั้ว ดังนั้นนักปราชญ์แต่โบราณจึงได้กำหนดนามให้กับปรากฏการณ์นี้ว่าอินหยาง
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนหนีไม่พ้นวัฏจักรแห่งอินหยาง
ดังนั้นคำอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหมดของจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโหราศาสตร์ที่ดูเรื่องต้นไม้ ภูเขา ลำธารที่เรารู้จักกันในนามว่าฮวงจุ้ย หรือปรัชญาดาราศาสตร์ที่ขงเบ้งใช้ในการดูดาวแล้วรู้ความเป็นไปของอดีตปัจจุบันและอนาคต หรือกระทั่งปรัชญาทางการแพทย์ที่ศึกษาระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์ หรืออีกหลาย ๆ แขนงปรัชญา ก็ ล้วนหนีไม่พ้นปรัชญาอินหยางนี้ทั้งสิ้น
ด้วยเพราะจักรวาลทั้งหมดล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยระบบของอินหยางนั่นเอง
ปรัชญาอินหยางสามารถอธิบายให้จบได้ด้วยรูปภาพ 2.2 ในรูปนั้นมีลักษณะวงกลม วงกลมเป็นตัวแทนของเต๋า ซึ่งหมายถึงสภาวะที่อยู่เหนืออินและหยาง คือไม่มีการผันแปรเกิดดับ และภายในเต๋าหรือวงกลมนั้นจะเห็นรูปที่มีลักษณะคล้ายปลาสองตัว โดยสีขาวเป็นตัวแทนของหยาง สีดำเป็นตัวแทนของอิน ส่วนที่มีพื้นที่สีขาวมากสุด หมายถึงมีความเป็นหยางมากที่สุด ในทางตรงกันข้าม ส่วนที่เบียดกับส่วนที่มีพื้นที่สีขาวมากที่สุดนั้นคือส่วนที่มีพื้นที่สีดำน้อยที่สุด หมายความว่า เมื่อหยางมากสุดอินก็จะน้อยที่สุดนั่นเอง
เมื่อเข้าใจความหมายของภาพดังนี้แล้วก็จะรู้ได้ว่า เมื่อหยางมากสุดอินย่อมต้องน้อยที่สุด เมื่ออินน้อยสุดหยางย่อมต้องมากที่สุด และในระหว่างที่หยางค่อย ๆ ลดน้อยถอยลงนั้น อินก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ตราบกระทั่งหยางเหลือน้อยที่สุดนั้น ก็เป็นเวลาที่อินมีพลานุภาพมากที่สุดนั่นเอง
นอกจากนี้ ในพื้นที่สีขาวยังมีจุดเล็ก ๆ ที่เป็นสีดำ ส่วนในพื้นที่สีดำก็ยังมีจุดเล็ก ๆ ที่เป็นสีขาว ตรงนี้หมายความว่า ในหยางมีอินดำรงอยู่ ขณะเดียวกัน ในอินก็ย่อมมีหยางดำรงอยู่ สองสิ่งไม่สามารถแยกขาดออกจากกัน ไม่สามารถดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวในธรรมชาติ เพราะสองสิ่งคือสิ่งที่เกื้อหนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นพลวัตรไม่รู้จักจบสิ้นนั่นเอง
19 บันทึก
22
2
12
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตำราฝังเข็ม (針灸學) ภาคทฤษฎี บทที่1-9
19
22
2
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย