Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
19 ก.ย. 2019 เวลา 02:05 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 2
ปรัชญาอินหยาง (陰陽) ตอนที่2
คุณลักษณะแห่งอินหยาง
ปรัชญาอินหยางยังมีคุณลักษณะอีกมากมาย ดังจะขอสรุปอธิบายคุณลักษณะของอินหยางออกเป็น 5 ข้อด้วยกันคือ
อินหยางปฏิภาค (陰陽對立)
ปฏิภาคหมายถึงภาคที่อยู่สวนทางกัน อยู่ตรงข้ามกัน ไม่สามารถอยู่ร่วมภาคเดียวกันได้ เหมือนเช่นน้ำและไฟที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้นั่นเอง แม้นจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน แต่อินหยางก็อยู่แบบดึงรั้งซึ่งกันและกันจนเกิดความสมดุล ยกตัวอย่างความร้อนสามารถลดความเย็น ขณะเดียวกันความเย็นก็สามารถลดความร้อนลงได้ ดังนั้นในระหว่างที่ความร้อนและความเย็นเป็นปฏิภาคกันไปมา แต่ก็ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างร้อนและเย็นขึ้น
ร่างกายของมนุษย์ก็คือระบบที่เกิดจากความสมดุลของร้อนและเย็น หากข้างหนึ่งข้างใดมากจนเกินไป ก็จะทำให้เสียสมดุลและเกิดเป็นอาการที่ค่อนไปทางร้อนจัด หรือค่อนไปทางหนาวจัดได้ ดังนั้นเมื่ออินหยางของร่างกายเสียสมดุล ร่างกายก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย บทซู่เวิ่น (素問) ในหวงตี้เน่ยจิง (黃帝內經) ได้กล่าวว่า “หากอินแรงคือโรคหยาง หากหยางแรงคือโรคอิน”
อินหยางอิงอยู่ (陰陽依存)
แม้อินหยางจะเป็นปฏิภาคหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แต่ความจริงอินหยางก็ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ต้องอิงอยู่ซึ่งกันและกัน ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปมิได้ หรือก็คือ หากไม่มีอิน ก็ย่อมไม่มีหยาง หากไม่มีหยาง ก็ย่อมไม่มีอิน ยกตัวอย่างเช่น บนคือหยาง ล่างคืออิน หากไม่มีล่างก็จะไม่มีบน หากไม่มีบนก็จะไม่มีล่าง ร้อนคือหยาง เย็นคืออิน ดังนั้น หากไม่มีร้อนก็จะไม่มีเย็น หากไม่มีเย็นก็จะไม่มีร้อนนั่นเอง
ในซู่เวิ่น (素問) ได้กล่าวไว้ว่า “อินอยู่ใน คือการรักษาไว้แห่งหยาง หยางอยู่นอก คือการผลักดันไปแห่งอิน (陰在內,陽之守也;陽在外,陰之使也.)” หมายความว่า อินอยู่ใน คือตัวช่วยผลักดันให้เกิดเป็นอานุภาพแห่งหยางที่ภายนอก ขณะเดียวกัน หยางที่แสดงอานุภาพที่ภายนอก ก็เป็นตัวช่วยสร้างอินเก็บไว้ที่ภายใน
หากเรานำมาประยุกต์เข้ากับระบบการทำงานของร่างกาย คำว่าอินจะหมายถึงสารอาหาร อิเล็คตรอน หรือ ATP หรือฮอร์โมน หรือน้ำตาล หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ความรู้วิทยาการในปัจจุบันเราสามารถเข้าใจได้ เรารวมเรียกว่าสารอาหาร ส่วนหยางจะหมายถึงพลังงาน หรืออุณภูมิร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือการย่อยการดูดซึม หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เราพอจะเข้าใจได้ในปัจจุบัน เราจะรวมเรียกว่าพลังงาน ดังนั้นสารอาหารที่อยู่ภายใน จึงเป็นตัวผลักดันได้เกิดพลังงานที่ภายนอก เช่นการเคลื่อนไหวหรืออุณหภูมิของร่างกาย ด้วยเหตุนี้ในซู่เวิ่น (素問) จึงกล่าวว่า หยางคือการผลักดันไปแห่งอิน ขณะเดียวกัน การแสดงออกซึ่งพลังงานที่ภายนอก ก็เป็นตัวช่วยสร้างเก็บสารอาหารที่ภายใน เช่นการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย จะเป็นการช่วยให้เกิดการสะสมพลังงานของร่างกาย ดังนั้นในซู่เวิ่นจึงกล่าวว่า อินคือการรักษาไว้แห่งหยาง ด้วยเพราะเหตุนี้ ในตำราเล่ยจิงถูอี้ (類經圖翼) จึงกล่าวไว้ว่า “ไร้อินหยางไม่เกิด ไร้หยางอินไม่มี”
อินหยางเพิ่มลด (陰陽消長)
อินและหยางเป็นภาวะที่ไม่ได้อยู่นิ่ง หากแต่เป็นภาวะหมุนเวียนที่จะคอยเสริมและลดอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่นการเคลื่อนไหวของร่างกาย (หยาง) จะต้องมีการเผาผลาญสารอาหาร (อิน) บางส่วนออกไป นี่ก็คือการเพิ่มอย่างหนึ่งและลดอีกอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกัน การสร้างสารอาหารของร่างกาย (อิน) ก็จำเป็นต้องมีการใช้พลังในการย่อยอาหารด้วยในขณะเดียวกัน (หยาง) การลดอินเพื่อเพิ่มหยาง การลดหยางเพื่อเพิ่มอิน อินและหยางจะมีการเพิ่มลดเช่นนี้จนอยู่ในภาวะสมดุล แต่หากภาวะสมดุลนี้ถูกทำลายไป ก็จะเกิดภาวะเสียศูนย์ที่เป็นอินมากหรือหยางมาก และนี่ก็คือเหตุผลที่ทำให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นเอง
อินหยางพลิกผัน (陰陽轉化)
ภาวะอินและหยางนั้นมิใช่เป็นภาวะที่อยู่นิ่งไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย หากแต่สามารถที่จะพลิกผันไปอีกขั้วหนึ่งได้ในทันที ขอเพียงแต่อยู่ในสภาวะหนึ่ง ๆ ภาวะอินหรือหยางนี้ก็จะสามารถผันแปรไปอีกสุดขั้วหนึ่งก็ได้ หรือก็คืออินสามารถเปลี่ยนเป็นหยาง หยางสามารถเปลี่ยนเป็นอินได้นั่นเอง ในซู่เวิ่น (素問) ได้กล่าวไว้ว่า “เมื่ออินมากก็จะเป็นหยาง เมื่อหยางมากก็จะเป็นอิน” “เมื่อร้อนสุดก็จะกลายเป็นเย็น เมื่อเย็นสุดก็จะกลายเป็นร้อน”
ในตำราได้กล่าวถึงว่าอินหยางสามารถแปรผันเป็นอีกสุดขั้วหนึ่งได้ แต่ขณะเดียวกันก็อธิบายว่า การที่อินหยางจะสามารถแปรผันเป็นฝั่งตรงข้ามได้นั้นจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะอย่างหนึ่ง หากไม่มีเงื่อนไขเฉพาะจากด้านในและด้านนอกก็จะไม่สามารถแปรผันได้ ยกตัวอย่างเช่น อาการตัวร้อนเฉียบพลัน เนื่องจากภายในร่างกายสะสมพิษร้อนจำนวนมาก จึงมีการเผาผลาญพลังที่ดีของร่างกายอย่างมหาศาล หากอยู่ในสภาวะไข้ร้อนเช่นนี้เป็นเวลานาน ก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิร่างกายลดลงโดยเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีสีหน้าซีดขาว แขนขาเย็นเยือก ชีพจรอ่อนเล็กจนเหมือนว่าจะขาดหายไป ในตอนนี้จะต้องทำการช่วยเหลือให้เหมาะสม เพื่อทำให้แขนขาอุ่นขึ้นมาอีกครั้ง ให้พลังหยางฟื้นฟูขึ้นมา เหตุการณ์ก่อนคือจากหยางผันสู่อิน ส่วนเหตุการณ์หลังคือจากอินผันสู่หยาง นี่ก็คือตัวอย่างการแปรผันของอินหยางนั่นเอง
อินหยางหมุนเวียน (陰陽衍化)
อินและหยางจะไม่อยู่คงที่ โดยในอินหยางก็ยังคงมีอินหยางแฝงเร้นอยู่ภายใน เราสามารถแบ่งลักษณะของอินและหยางออกตามระดับที่แตกต่างกันคือ ระดับของอินจะสามารถแบ่งออกเป็น หนึ่งอิน สองอิน และสามอิน ส่วนหยางก็สามารถแบ่งออกเป็น หนึ่งหยาง สองหยาง และสามหยาง โดยสามอินมีชื่อเรียกว่าไท่อิน (太陰) มีความหมายว่าความมากสุดแห่งอิน สองอินมีชื่อเรียกว่าเส้าอิน (少陰) มีความหมายว่าอินที่น้อยลง ส่วนหนึ่งอินมีชื่อเรียกว่าเจวี๋ยอิน (厥陰) มีความหมายว่าอินที่อ่อนมาก ขณะเดียวกัน สามหยางมีชื่อเรียกว่าไท่หยาง (太陽) มีความหมายว่าความมากสุดแห่งหยาง สองหยางมีชื่อเรียกว่าหยางหมิง (陽明) มีความหมายว่าความเจริญแห่งหยาง หนึ่งหยางมีชื่อเรียกว่าเส้าหยาง (少陽) มีความหมายว่าความน้อยแห่งหยาง
5 บันทึก
4
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตำราฝังเข็ม (針灸學) ภาคทฤษฎี บทที่1-9
5
4
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย