Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
19 ก.ย. 2019 เวลา 15:23 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 2
ปรัชญาอินหยาง (陰陽) ตอนที่3
การประยุกต์ใช้ปรัชญาอินหยางในทางการแพทย์แผนจีน
ปรัชญาอินหยางไม่เพียงแต่นำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ของโลกเท่านั้น หากยังสามารถนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ของร่างกายและนำไปสู่การประยุกต์การรักษาโรคได้อีกด้วย
ใช้อธิบายโครงสร้างของร่างกาย
ในเบื้องต้น ทางการแพทย์แผนจีนมีความเชื่อว่าร่างกายเป็นองค์รวมที่ไม่สามารถแยกส่วนได้ และมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงเสริมลดซึ่งกันละกันในลักษณะของอินหยาง ซึ่งจุดนี้จะมีความแตกต่างจากการอธิบายปรากฏการณ์ทางร่างกายของแพทย์แผนตะวันตกโดยสิ้นเชิง
ในทางการแพทย์แผนจีน ได้มีการนำปรัชญาอินหยางมาใช้ในการอธิบายโครงสร้างของร่างกายดังนี้คือ หากดูในเชิงโครงสร้างของร่างกายแล้ว ส่วนบนของร่างกายคือหยาง ส่วนล่างคืออิน แผ่นหลังคือหยาง หน้าท้องคืออิน ผิวกายคือหยาง ภายในคืออิน ด้านนอกของแขนขาคือหยาง ด้านในของแขนขาคืออิน
ทั้งนี้ หากดูในส่วนของอวัยวะภายในแล้ว อวัยวะตันคืออิน อวัยวะกลวงคือหยาง แต่ทั้งนี้ แม้จะเป็นอวัยวะเดียวกัน แต่ก็ยังสามารถแบ่งเป็นอินและหยางลงไปได้อีก เช่น หัวใจก็มีหัวใจอินและหัวใจหยาง ไตก็มีไตอินและไตหยาง เป็นต้น นอกจากนี้ ในทางเส้นลมปราณก็ยังมีการแบ่งออกเป็นอินหยางได้อีกคือ เส้นลมปราณประเภทอินและเส้นลมปราณประเภทหยาง
ใช้อธิบายการทำงานของร่างกาย
ในปรัชญาอินหยางได้อธิบายไว้ว่า การทำงานของร่างกายเกิดจากการทำงานที่เป็นปฏิภาคอย่างสมดุลของอินหยาง ยกตัวอย่างเช่น การเคลื่อนไหวหรือการทำงานของร่างกายคือหยาง สารอาหารที่อยู่ภายในคืออิน สารอาหารและการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นปฏิภาคต่อกัน หากไร้สารอาหาร การเคลื่อนไหวขององคาพยพต่าง ๆ ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกัน หากองคาพยพของร่างกายไม่มีการเคลื่อนไหวเลย ร่างกายก็จะไม่สามารถสะสมสารอาหารได้ นอกจากนี้ การทำงานของอินหยางยังทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันร่างกาย และทำให้ร่างกายไม่ได้รับผลกระทบที่เกิดจากพิษร้ายต่าง ๆ จากภายนอกเข้ากระทำ
ร่างกายของเราจะเกิดจากการทำงานอย่างสมดุลของอินหยางอย่างมิอาจแยกขาดออกจากกัน แต่หากเมื่อใดที่อินหยางมิสามารถหมุนเวียนปฏิภาคและแยกออกจากกันแล้ว เมื่อนั้นย่อมหมายความว่าการทำงานของชีวิตถึงคราวสิ้นสุดลงนั่นเอง
ใช้อธิบายพยาธิสภาพ
ในปรัชญาอินหยางได้อธิบายไว้ว่า ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายล้วนเกิดจากปัญหาการขาดความสมดุลของอินหยางทั้งสิ้น หากจะอธิบายให้แจ่มชัดหน่อยก็คือ ร่างกายของเราเกิดจากการต่อสู้ของสองพลัง คือพลังที่ดี (正氣) และพลังที่ร้าย (邪氣) พลังร้ายประกอบด้วย อินร้าย (陰邪) และหยางร้าย (陽邪) ส่วนพลังดีจะประกอบด้วย สารอิน (陰液) และพลังหยาง (陽氣)
1
หากได้รับผลกระทบจากภายนอกร่างกาย คือเมื่อหยางร้ายก่อโรค ยามนั้นจะทำให้หยางแกร่งและทำร้ายอิน จึงทำให้เกิดอาการร้อนแกร่งขึ้น หากอินร้ายจากภายนอกก่อโรค ย ามนั้นจะทำให้อินแกร่งและทำร้ายหยาง จึงทำให้เกิดอาการหนาวแกร่งขึ้น
หากเป็นผลกระทบจากภายในเอง คือ หากพลังหยางอ่อนและไม่สามารถคุมอิน ยามนั้นก็จะเกิดอาการหนาวหลอก (虛寒) ที่เกิดจากอาการหยางพร่องอินแกร่ง หากสารอินพร่องและไม่สามารถคุมหยาง ยามนั้นก็จะเกิดอาการร้อนหลอก (虛熱) ที่เกิดจากอาการอินพร่องหยางแกร่ง
ทั้งนี้ หากพลังหยางหรือสารอินของร่างกายได้เกิดการพร่องลงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งพร่องลงตามไปได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นหากมีอาการเบื่ออาหารเป็นเวลานาน อาการเบื่ออาหารก็คือสัญญาณที่พลังหยางของม้ามเริ่มอ่อนแรง เมื่อพลังม้ามอ่อนแรงก็จะทำให้เลือดของร่างกายซึ่งเป็นสารอินอ่อนลงตาม นี่ก็คือเมื่อฝ่ายหนึ่งพร่องลงก็จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งพร่องตาม นอกจากนี้ ยังสามารถยกอีกหนึ่งตัวอย่างคือ สำหรับคนที่มีอาการสูญเสียเลือดโดยฉับพลัน เนื่องจากเลือดซึ่งเป็นอินพร่องขาดลงอย่างมากมาย ยามนั้นก็จะทำให้เกิดอาการหยางพร่อง ซึ่งก็คืออาการแขนขาเย็นเยียบโดยฉับพลัน และนี่ก็คืออาการที่พลังหยางและสารอินจะกระทบซึ่งกันและกัน (陰陽相損) นั่นเอง
ใช้อธิบายการวินิจฉัยและการรักษาโรค
ต้นเหตุของโรคและการพัฒนาของโรคนั้นเกิดจากการเสียสมดุลของอินหยาง ดังนั้น ต่อให้อาการทางคลินิกจะสลับซับซ้อนอย่างไรก็ตาม แต่ขอเพียงเข้าใจหลักของอินหยางดีพอ เราก็จะสามารถเข้าใจความเป็นมาของโรคได้อย่างง่ายดาย ในซู่เวิ่น (素問) จึงกล่าวว่า “อันผู้ที่ชำนาญการวินิจฉัย ครั้นดูสีหน้าและตรวจจับชีพจรแล้ว จะทำการแยกแยะอินหยางก่อนเป็นอันดับต้น” ในด้านการวินิจฉัยโรคนั้น แม้นจะมีการวินิจฉัยอยู่แปดหลัก (八綱) ที่ประกอบด้วย อิน หยาง นอก ใน ร้อน หนาว พร่อง แกร่ง ก็ตาม แต่ในแปดหลักก็สามารถสรุปได้เป็นแค่สองหลักใหญ่คืออินหยางนั่นเอง โดยอาการนอก ร้อน แกร่งคือส่วนของหยาง และอาการใน เย็น พร่องคือส่วนของอิน นี่ก็คือวิธีการเรียบเรียงความซับซ้อนของการวินิจฉัยโรคไปสู่ความเรียบง่ายนั่นเอง
ครั้นเราสามารถวินิจฉัยอาการหลักของโรคได้แล้ว จากนั้นจึงจะนำไปสู่การพิจารณาการใช้ตำรับเข็มในการรักษาโรค ซึ่งการเลือกตำรับเข็มในการรักษาโรคจะมีเพียงจุดประสงค์เดียว นั่นก็คือการปรับสมดุลอินหยางนั่นเอง
7 บันทึก
3
4
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตำราฝังเข็ม (針灸學) ภาคทฤษฎี บทที่1-9
7
3
4
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย