18 ก.ย. 2019 เวลา 16:13 • สุขภาพ
Finasteride กับภาวะซึมเศร้า/ฆ่าตัวตาย ?
Finasteride คือเป็นสารในกลุ่ม 4-azasteroid ที่ออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์ 5 alpha reductase ซึ่งเอนไซม์นี้มีหน้าที่เปลี่ยน Testosterone เป็น 5-alpha Dihydrotestosterone (DHT)
โดยปกติ DHT จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการเกิดผมร่วงผมบาง นอกจากตัว DHT ก็ยังมีฤทธิ์กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ในต่อมลูกหมากทำให้เกิดเป็นภาวะต่อมลูกหมากโต โดยเฉพาะในคนสูงอายุ ดังนั้นยานี้จึงถูกนำมาใช้รักษาโรคผมบาง/ศีรษะล้าน และโรคต่อมลูกหมาก
ชื่อทางการค้าของยาได้แก่ Firide (ฟิไรด์), Propecia (โพรพิเชีย), Proscar (โพรสการ์), Prosteride (โพรสเตอไรด์), Stercia-5 (สเตอร์เชีย-5) ซึ่งมีด้วยกัน 2 ขนาดคือ 1 มิลลิกรัมและ 5 มิลลิกรัม
ข้อบ่งใช้ในเพศชาย
• โรคต่อมลูกหมากโต: 5 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลาการรักษาเริ่มตั้งแต่ 12 สัปดาห์ถึง 6 เดือนขึ้นไป
• โรคศีรษะล้าน: 1 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลาการรักษาประมาณ 3 เดือนขึ้นไปจะเริ่มเห็นเส้นผมขึ้นและหลุดร่วงน้อยลง แต่หากหยุดยาศีรษะก็จะกลับมาล้านภายใน 12 เดือน
ข้อบ่งใช้ในเพศหญิง (unlabeled use)
• โรคผมบาง: 5 มิลลิกรัม/วัน
เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ทางสำนักงานอาหารและยาออกประกาศเตือนผู้ใช้ยาถึงการเกิดภาวะความต้องการทางเพศลดลงและมีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย (ภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย) แม้ว่าจะพบอาการทางจิตเวชน้อยแต่ก็อันตรายถึงชีวิตโดยมักพบในคนที่ใช้ยาติดต่อกันเกิน 3-4 เดือน
Post-Finasteride syndrome (PFS) คือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานยา finasteride เพื่อรักษาโรคต่อมลูกหมากโตหรือโรคศีรษะล้าน แม้ว่าอุบัติการณ์การเกิดอาการจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็มีรายงานหลายตัวบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์กับสมรรถภาพทางเพศที่ลดลง และอาการทางจิตเวช
มีการเก็บข้อมูลย้อนหลังในผู้ป่วยชายที่มีอายุ 66 ปีขึ้นไปจำนวน 9 หมื่นกว่ารายที่ได้รับการวินิจฉัยและเริ่มยากลุ่ม 5-alpha reductase inhibitor ช่วงปี 2003-2013 พบว่ากลุ่มที่ใช้ยาไม่เพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายอย่างมีนัยสำคัญ (HR, 0.88; 95% CI, 0.53-1.45) แต่มีความเสี่ยงในการทำร้ายตัวเองเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มไม่ใช้ยา 1.88 เท่า (p <0.01) ในช่วง 18 เดือนแรกหลังใช้ยา และความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 18 เดือนแรก 1.94 เท่า (p <0.01) และยังเพิ่มขึ้นอีกหลังจากนั้น แต่ยาทั้งสองตัวที่อยู่ในกลุ่ม 5-alpha reductase inhibitor (Dutasteride และ Finasteride) ให้ผลไม่แตกต่างกัน
ดังนั้นในคนที่ได้รับยาดังกล่าว ควรสังเกตอาการข้างเคียงอย่างใกล้ชิดและควรแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ให้เร็วที่สุดหากมีภาวะดังกล่าว
เอกสารอ้างอิง
1. Irwig MS. Depressive symptoms and suicidal thoughts among former users of finasteride with persistent sexual side effects. J Clin Psychiatry. 2012 Sep;73(9):1220-3.
2. Welk B, et al. Association of Suicidality and Depression With 5α-Reductase Inhibitors. JAMA Intern Med. 2017 May 1;177(5):683-691.
3. Finasteride กับภาวะซึมเศร้าและความคิดอยากฆ่าตัวตาย. 2018. Available from: https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/DIC/news_week_full.php?id=1399
4. อย.ย้ำ เตือนผู้ป่วยก่อนใช้ยา ‘ฟิแนสเทอไรด์รักษาผมร่วง’ มีผลข้างเคียง ‘เกิดอาการจิตเวช’. 2018. Available from: https://www.hfocus.org/content/2018/09/16278
โฆษณา