20 ก.ย. 2019 เวลา 04:30
พุทธประวัติ ตอนที่ 14
ทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกบรรพชา
หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะ
ได้เสด็จกลับจากพระราชอุทธยานนั้น
จนกระทั่ง​พระองค์​ได้เสด็จมาถึง
มหาปราสาทของพระองค์แล้ว
ในราตรีนั้นเอง...
พระบรมโพธิสัตว์มีพระทัยยินดีในการบรรพชาเป็นอย่างมาก ปราศจากความอาลัยอาวรณ์​ในกามคุณทั้ง 5 ประการ กล่าวคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กายสัมผัสแตะต้องได้)
อีกทั้งพระองค์นั้น ยังมิมีความยินดีในการขับร้องฟ้อนรำของเหล่าสาวงามนางสนมทั้งหลายเลย
เมื่อ​พระองค์​เสด็จ​เข้า​มาภา​ยใน​มหาปราสาทแล้ว... ​
พระองค์ก็ได้เสด็จเข้าสู่ห้องไสยาสน์ทันที และก็ทรงบรรทมหลับตั้งแต่ยามต้นแห่งราตรีนั้น
ฝ่ายนางสนมทั้งหลาย เมื่อได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จเข้าสู่ห้องของพระองค์แล้วจึงได้ปรึกษากันว่า :
"พวกเราทั้งหลายจักขับร้องดนตรีและฟ้อนรำประโคม ก็เพื่อจักให้พระลูกเจ้านั้นเกิดความเพลิดเพลินยินดีโสมนัส
แต่บัดนี้ พระองค์ท่านก็เข้าเสด็จบรรทมแล้ว พวกเราจักฟ้อนรำขับร้องไปเพื่อประโยชน์อะไร"
ฝ่ายนางสนมทั้งหลายเมื่อปรึกษากันเสร็จแล้วต่างลงความเห็นกันว่า
เช่นนั้นแล้ว พวกเราควรจักนอนหลับพักผ่อนกายากันเสียดีกว่า
ด้วยเหตุนี้นางสนมทั้งหลายจึงได้วางอุปกรณ์ในการขับร้องประโคมดนตรีต่างๆ และเอนกายาลงพักเพราะความเหนื่อยเมื่อยล้าจากภารกิจของตน จากนั้นทุกคนต่างก็ค่อยๆ หลับไหลตามกันไปจนหมดทุกคนในเวลาไม่นาน...
และแล้วเวลาก็ได้ผ่านไปจนถึงช่วงยามดึก...
กลุ่มเมฆาที่ปกคลุมอย่างหนาแน่นนั้นได้ค่อยๆ ละจางคลายออกจากดวงจันทร์ที่กำลังทอแสงสว่างรำไรในยามดึกของราตรี...
***บัดนั้นเอง... เจ้าชายสิทธัตถะ
พระองค์ก็ได้ทรงตื่นขึ้นมาในยามดึกนั้น และพระองค์ก็ได้ทรงทอดพระเนตร เห็นอาการอันวิปริต
ของเหล่าธิดานางสนมทั้งหลาย
ที่กำลังหลับไหลอยู่กันเกลื่อนกลาด
ภายในมหาปราสาทที่สว่างไสวด้วยแสงประทีป***
พวกนางสนมเหล่านั้น
ได้แสดงอาการต่างๆ กันไป คือ
- บ้างก็นอนอ้าปากน้ำลายไหลเปรอะเปื้อนจนทั่วใบหน้า...
- บ้างก็นอนกัดฟัน กึกกักๆ อย่างน่าเกลียด​ ...
- บ้างก็นอนกรนดังดุจเสียงนกแสก นกกา...
- บ้างก็นอนจนเสื้อผ้าอาภรณ์นั้น ขาดหลุดลุ่ย...
- บ้างก็นอนละเมอเพ้อบ่น โวยวาย...
เป็นต้น
ที่เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นเป็นเช่นนี้ก็เพราะ
ด้วยฤทธิ์เดชของเหล่าเทวานุภาพดลบันดาลให้เป็นไปอย่างนั้นนั้นเอง
และด้วยเทวุนุภาพที่ดลบันดาล
ทำให้ภาพอาการกริยาทั้งหลายของเหล่าสนมที่งดงามนี้ได้ปรากฏกาย
เป็นภาพ ซากศพเน่าในป่าช้าผีดิบ
เปรียบเป็นสภาวะธรรม
ของ ชาติภพทั้ง 3
คือกามภพ รูปภพ และอรูปภพ
และจากนั้นก็ปรากฏเป็นภาพนิมิต
ของมหาปราสาทเรือนใหญ่ที่กำลังถูกกองไฟเผาไหม้อย่างร้อนแรง...
และ​เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงเห็นภาพในขณะนั้นเอง...
พระองค์จึงได้ทรงตั้งพระทัยขึ้นว่า :
***เรา จักออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ ในยามราตรีนี้***
ด้วยเหตุนี้
เจ้าชายสิทธัตถะจึงตกแต่งพระองค์ด้วยพัตราภรณ์ อันพอประมาณ
แล้วจึงตรัสถามออกไปด้านนอก
เจ้าชายสิทธัตถะตรัสถาม :
"บัดนี้ มีบุรุษผู้ใดอยู่ภายนอกบ้าง"
ในตอนนั้นเอง...
นายฉันนะ ผู้เป็น 1 ใน 7สหชาติ ของเจ้าชายสิทธัตธะ ซึ่งกำลังนอนอยู่ภายนอกมหาปราสาทนั้น ก็ได้ยินพระสุระเสียงของพระองค์ที่ทรงตรัสถามจึงได้รีบเข้าไปกราบทูลทันที
นายฉันนะกราบทูล :
"ข้าแต่พระลูกเจ้า ข้าพระเจ้านาย
ฉันนะอยู่ ณ ที่นี่ ในบัดนี้ พระเจ้าข้า"
เจ้าชายสิทธัตถะตรัส :
"ถ้าเช่นนั้น ฉันนะท่านจงเตรียมม้าให้เราโดยเร็ว เราจักออกสู่มหาภิเนษ
กรมณ์ ในคืนนี้"
นายฉันนะกราบทูล :
"ข้าพเจ้าขอนอมรับคำสั่ง พระข้าจ้า"
ภายในเวลาไม่นาน...
นายฉันนะก็ได้จัดเตรียมม้า (กัณฐกะ)
อันมีผิวกายขาวงามบริสุทธิ์ดุจดังราวกับสีของสังข์ สง่างามสมกับเป็นอาชาไนยแห่งพระมหาบุรุษ
โดยเรียบร้อยเสร็จสรรพแล้ว
จึงได้ไปรอคอย เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ณ ที่ลานบริเวณหน้ามหาปราสาท
ในตอนนั้นเอง...
ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะเสด็จลงจากมหาปราสาทนั้น พระองค์ได้เสด็จไปยังห้องบรรทมของพระนางพิมพาราชเทวี ก็ด้วยพระประสงค์จักทอดพระเนตร ราหุลกุมารราชโอรสของ พระองค์นั้นเอง
แต่ทว่าว่า...
ในตอนนั้น พระนางพิมพาได้บรรทมและทอดพระกร (แขนหรือข้อศอกถึงมือ)ไว้​เหนือเศียร (หัว) ของพระโอรส
เจ้าชายสิทธัตถะจึงหยุดประทับยืนที่พระธรณีประตูด้วย พระดำริว่า
เจ้าชายสิทธัตถะทรงดำริว่า :
"ถ้าหาก เรา จักยกพระหัตถ์(มือ)
ของพระนางพิมพาออกแล้วอุ้มพระโอรส น้อง​นางพิมพาก็จักตื่นจากบรรทม ดังนั้นอุปสรรคแห่งการบรรพชาก็จักเกิดขึ้นแก่เรา"
"อย่ากระนั้นเลย ไว้ต่อเมื่อเราได้สำเร็จพระสัพพัญญูแล้ว จึงค่อยกลับมาทัศนาพระพักตร์น้องพิมพาและพระลูกแก้วในภายหลังจักดีกว่า"
จากนั้นพระองค์จึงรีบเสด็จลงจากมหาปราสาท แล้ว​ทรงขึ้นม้ากัณฐกะ บ่ายพระพักตร์ออกไปทางประตูเมืองที่
ชื่อว่า "พระยาบาลทวาร"  และมีนายฉันนะตามเสด็จออกจากพระนคร
กรุงกบิลพัสดุ์ในราตรีนั้นทันที
ซึ่งเหล่าเทพยดาทั้งหลายต่างก็ได้ช่วยกันบันดาลให้เส้นทางและกลอนประตูต่างๆ ในพระนครนั้นเปิดออกรอรับ ให้พระมหาบุรุษท่านได้ทรงเสด็จ
ออกไปโดยสวัสดิภาพฉันนั้นแล...
***รายละเอียดเพิ่มเติม***
(ม้ากัณฐกะ)
ม้าพระที่นั่งที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จขึ้นทรง เพื่อเสด็จออกบวชครั้งนี้  
มีชื่อว่า "กัณฐกะ" เป็น 1 ใน 7 สหชาติ คือเกิดวันเดียวกับเจ้าชายสิทธัตธะ
หนังสือปฐมสมโพธิได้พรรณา
รายละเอียดของม้ากัณฐกะ ไว้ดังนี้ :
ในส่วนความยาวของม้ากัณฐกะนี้ คือ  
"ยาวตั้งแต่คอจดท้ายมีประมาณ
18 ศอก" (1 ศอก คือ 50 ซม.)
แต่ส่วนสูงกี่ศอก ท่านก็มิได้บอกไว้  
บอกแต่เพียงว่า :
"โดยสูงก็สมควรกับกายอันยาว"  
และแจ้งถึงลักษณะอย่างอื่นไว้ว่า
 
- มีสีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่    
- ศีรษะนั้นดำดุจสีแห่งกา  
- มีเกศาในมุขประเทศ(ผมหน้าม้า)
ขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องงามสะอาด  
- กอปรด้วยพละกำลังอันมาก  
- เวลายืนองอาจ ประดุจเหมือนประดิษ ฐานอยู่บนแท่นแก้วมณี"
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงเสด็จเข้าใกล้ม้ากัณฐกะนั้น พระองค์ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบหลังของม้ากัณฐกะแล้วนั้น...
ท่านกล่าวไว้ว่า ม้ากัณฐกะมีความยินดี
และได้เปล่งเสียงร้องดังกึกก้องดังสนั่นไปทั่วกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งดังไปไกลถึงหนึ่งโยชน์ (16 กม.) โดยรอบ
คำถามชวนคิด...
"ก็ถ้าหากเป็นไปตามนี้แล้ว ทำไมคนทั้งเมืองจึงไม่ตื่นกัน?"
ท่านอรรถกถาจารย์ผู้รจนาท่านได้บอกว่า :  
"ก็เหล่าเทพยดาทั้งหลายได้กำบังเสียซึ่งเสียงนั้น ให้อันตรธานหายไปนั้นเอง"
แต่ถ้าหากถอดเนื้อความจากเรื่องราวดังกล่าวออกมาก็คือ :
ในสมัยที่เจ้าชายสิทธัตธะยังทรงศึกษาเล่าเรียนใน 18 วิชานั้น พระองค์​ก็มีความชำนาญในเรื่องของการทรงม้าอย่างมากด้วยเช่นกัน
อาจเป็นเพราะพระองค์ทรงสามารถใช้วิชาที่ได้เล่าเรียนมานำมาใช้สะกดม้าเพื่อไม่ให้ส่งเสียงร้องก็อาจเป็นได้
ส่วนหนังสือปฐมสมโพธิได้มีกล่าวบอกไว้ว่า :
ในวันที่เสด็จออกบวชนั้นเป็นวันเพ็ญ เดือน 8 ท่านได้พรรณนาบทความไว้ดังนี้
***พระจันทร์แจ่มในท่ามกลางคัคนาดลประเทศ (ท้องฟ้า)ปราศจากเมฆ ภายในห้องจักรวาลก็ขาวผ่องโอภาส ด้วยนิศากรรังสี (นิศากรรังสี คือ แสงจันทร์ในวันเพ็ญ)***
สุดท้ายนี้...
จะเห็นได้ว่า เจ้าชายสิทธัตธะ พระองค์นั้นไม่ได้ทรงกระทำไปเพราะความเห็นแก่ตัวเลย แต่พระองค์นั้นทรงลงเข้าไปค้นหาความทุกข์ที่แท้จริง ที่พระ​องค์​ทำไปนั่นก็เพื่อค้นหาหนทางและวิธีในการทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย
ซึ่งพระองค์นั้นหวังว่าจะได้ช่วยเหลือบุคคลอันเป็นที่รัก คือ บิดา มารดา ภรรยาและบุตร และเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษย์ทั้งหลาย ให้ได้พบเจอกับความจริง และจะได้หลุดพ้นจากกองทุกข์ในสังสารวัฏอันหาประมาณมิได้ นั่นเองครับ...
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน​ผู้อ่าน​ขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน​ สาธุครับ​ (ต้นธรรม)
เอกสารอ้างอิง
#สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร ภาพที่ ๑๔
ทรง​เรียก​นายฉันนะให้ผูกม้ากัณฐกะ เพื่อประทับเป็นพาหนะเสด็จออกบรรพชา
#หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
#หนังสือพุทธประวัติ​ตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
#เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
โฆษณา