Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธรรม STORY
•
ติดตาม
18 ก.ย. 2019 เวลา 04:30
พุทธประวัติ ตอนที่ 13
พระราหุลราชกุมารประสูติ
ณ สถานที่ในพระราชอุทยาน...
เจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์นั้นได้ทรงเสด็จประทับอยู่ที่พระราชอุทยานอยู่เกือบทั้งวัน จนเวลาผ่านเลยไปถึงช่วงยามเย็นแสงตะวันก็เริ่มคล้อยจางไป...
ขณะนั้นเอง...
ได้มีเจ้าพนักงานราชบุรุษจากราชสำนักผู้หนึ่ง ซึ่งพระเจ้าสุทโธทนะพระองค์ท่านได้ทรงมีรับสั่ง ให้นำข่าวสารมาทูลให้เจ้าชายสิทธัตถะ
ทรงทราบ ถึงเรื่องที่พระนางพิมพายโสธราได้ทรงประสูติพระโอรสแล้ว
ลำดับนั้นเอง
ราชบุรุษจากพระราชวังกราบทูลว่า :
"ข้าแต่พระลูกเจ้า บัดนี้ พระนางพิมพายโสธราราชเทวี พระองค์ได้ทรงประสูติพระราชโอรสแล้ว พระเจ้าข้า"
เจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับฟังเรื่องราวที่ราชบุรุษได้มากราบทูลแล้วนั้น...
พระองค์จึงทรงเกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งซึ่งมิเคยเกิดกับพระองค์มาก่อนเลย คือ ความรัก ของผู้ที่เป็นบิดาที่มีความรักบุตรยิ่งนักนั่นเอง...
บัดนี้ความรักนั้นได้บังเกิดขึ้นแก่เราแล้ว หนักหน่วงในพระทัยของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง สิ่งนี้ได้ผูกมัดรัดรึงตรึงแน่น ในพระทัยยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ในโลก
จนพระองค์นั้นถึงกับออกพระโอษฐ์อุทานขึ้นมาว่า :
***ราหุ ชาโต พันธนัง ชาตัง***
(ซึ่งแปลว่า บ่วงเกิดขึ้นแล้วหนอ เครื่องพันธนาการเกิดขึ้นแก่เราแล้ว)
ความหมายอีกนัยยะหนึ่งคือ...
(พระกุมารที่ประสูติมาแล้วนั้นจะเป็นบ่วงแก้ว ที่คอยร้อยรัดพระองค์ไว้ กับพระราชเทวีและชีวิตฆราวาสนั่นเอง)
หลังจากที่ราชบุรุษได้ทูลแจ้งข่าวกับเจ้าชายสิทธัตถะเสร็จแล้วนั้น...
ก็เดินทางกลับไปทูลเล่า เนื้อความที่ เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงเปล่งว่าจาออกมา ให้แก่พระเจ้าสุทโธทนะได้สดับฟัง...
ซึ่งเมื่อ พระเจ้าสุทโธทนะที่ได้สดับรับความนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงนึกเข้าพระทัยว่า :
"โอ้... พ่อเจ้าชายสิทธัตถราชกุมารโอรสของเรานั้น คงอยากจักทรงตั้งพระนามให้แก่ราชโอรสว่า (ราหุล) เป็นแน่แท้"
ด้วยเหตุนี้เอง พระเจ้าสุทโธทนะองค์ราชา พระองค์จึงทรงขนานนาม
พระภาคิไนย (พระเจ้าหลาน)
ว่า "ราหุล" อันแปลว่า "บ่วง"
จำเดิมแต่นั้นมาพระราชกุมารจึงได้พระนามว่า (ราหุล) นั่นเอง
ขอย้อนเหตุการณ์กลับมาที่ พระราชอุทยาน... ณ ตอนนี้ก็เป็นเวลาใกล้ค่ำแล้ว
เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ก็ทรงมีพระประสงค์จะเสด็จกลับ สู่พระราชนิเวศน์ในส่วนของพระองค์ และในระหว่างที่พระองค์กำลังเสด็จกลับเข้าสู่พระนครนั้น...
ก็ได้มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นกับพระองค์ด้วย...
ในตอนนั้นเอง
มีนางขัตติยราชกัญญาองค์หนึ่ง ซึ่งมีพระนามว่า (กีสาโคตมี) ได้ประทับยืนอยู่บนปราสาท พระนางก็ได้ทอดพระเนตรเห็นพระมหาบุรุษผู้งามสง่าบริบูรณ์ด้วยพระรูปโฉมเป็นที่โสภา
ยิ่งนัก
พระนางนั้นจึงทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์รักใคร่ขึ้นมาในทันที และจึงได้กล่าวตรัสชมพระรูปโฉมด้วยคาถาสรรเสริญคุณสมบัติของพระกุมาร ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะไว้ว่า...
พระนางกีสาโคตมีตรัสชมเจ้าชายสิทธัตถะว่า :
"พระราชกุมารผู้มีพระรูปสิริโสภาเห็นปานนี้
ถ้าพระองค์เป็นราชบุตรของพระมารดาใด (พระมารดานั้น จักดับเสียได้ซึ่งทุกข์ในหฤทัย)
ถ้าพระองค์เป็นราชบุตรของพระบิดาใด (พระบิดานั้น จักดับเสียได้ซึ่งทุกข์ในหฤทัย)
อนึ่ง ถ้าพระองค์เป็นภัสดาของนารีใด
นารีนั้น (ก็จักดับเสียได้ซึ่งทุกข์ในหฤทัย) "
ขณะนั้นเองเจ้าชายสิทธัตถะ...
เมื่อพระองค์เสด็จผ่านมาจึงได้สดับรับฟังคาถานั้น จากพระนางกีสาโคตมีแล้ว...
เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงดำริขึ้นในพระทัยว่า :
*** พระน้องนางนี้ได้ตรัสถึง "นิพพุตา" คือความดับ (ก็สิ่งใดกันหนอดับสูญ จึงได้ชื่อว่าดับทุกข์ในหฤทัย)
และเมื่อพระองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาฉลาด ก็ทรงเห็นแจ้งประจักษ์ชัดในพระทัยว่า :
"เมื่อราคัคคิ ไฟ คือ ราคะ
โทสัคคิ ไฟ คือ โทสะ
โมหัคคิ ไฟ คือ โมหะ
และกิเลสบาปธรรมทั้งหลาย มีมานะ และทิฏฐิ เป็นต้น ดับสูญสิ้นแล้วจึงชื่อว่า ดับทุกข์ในหฤทัย
พระน้องนางผู้นี้ได้กล่าวสุนทรธรรมกถา อันเป็นคุณบทแห่งพระนิพพาน...
บัดนี้ ตัวเรานั้นควรจักสละเสียซึ่งฆราวาสวิสัยแล้วออกบรรพชา
เพื่อแสวงหาพระนิพพานในวันนี้***
ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงมีพระทัย น้อมในการที่จะแสวงหาทาง
ดับทุกข์มากยิ่งขึ้น และตอนนั้นเองพระองค์ได้ทรงปลดเปลื้องสร้อยพระศอ (สร้อยคอ) อันประด้วยแก้วมุกดาหาร ซึ่งถือว่าเป็นของที่มีค่ามากๆ ในยุคสมัยนั้น พระองค์มีรับสั่งให้ราชบุรุษนำสร้อยพระศอนี้ไปมอบให้แก่นางกีสาโคตมี เพื่อเป็นการสนองอาจริยาคุณ ที่นางนั้นได้แนะทางดับทุกข์ให้แก่พระองค์
แต่ทว่า...
ในส่วนฝ่ายของพระนางกีสาโคตมีนั้น
เมื่อพระนางได้รับเครื่องประดับจากเจ้าชายสิทธัตถะแล้ว
พระนางจึงเกิดความสำคัญในจิต และคิดขึ้นเองว่า เจ้าชายสิทธัตถะนั้น ทรงมีพระทัยปฏิพัทธ์เสน่หาในตัวนาง
จึงได้เกิดความปีติโสมนัสยินดีเป็นอย่างยิ่ง...
***รายละเอียดเพิ่มเติมท้ายเรื่อง***
(พระนางกีสาโคตมี)
***พระนางกีสาโคตมีผู้นี้ จากการหาข้อมูลเท่าที่ทราบมา
1. ท่านเป็นคนละคนกับ พระกีสาโคตมีเถรี ผู้ที่เป็นเอตทัคคะในด้าน ทรงจีวรเศร้าหมอง นะครับ
2. ท่านเป็นคนละคนกับ พระมารดาของพระอานนท์นะครับ
(เพียงแค่ท่าน มีชื่อที่เหมือนกันเท่านั้นครับ เหตุนี้ก็เพื่อกันไม่ให้ท่านผู้อ่านจดจำสับสนกันครับ...จริงๆชื่อที่ซ้ำกันอยู่ในพุทธประวัตินี้ก็มีอยู่หลายท่านครับ)***
ในคัมภีร์ปฐมสมโพธิได้มีกล่าวไว้ว่า...
พระนางกีสาโคตมีในตอนนี้นั้น เป็น
"นางขัตติยราชกัญญาองค์หนึ่งแห่งเมืองกบิลพัสดุ์" ทรงพระนามว่า
"กีสาโคตมี" และพระนางนั้นได้มี
ความเกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถะ
ในทางพระญาติวงศ์อย่างไรนั้น
ก็มิได้มีบอกกล่าวไว้เลย...
เพียงแต่ทว่า...
ในอรรถกถาธรรมบท
ที่พระพุทธโฆษาจารย์ ชาวอินเดีย
ท่านได้เขียนพรรณาบรรยาไว้ว่า :
(พระนางกีสาโคตมี) เธอเป็นธิดาของพระเจ้าอา ของเจ้าชายสิทธัตถะ
ซึ่งหมายถึงพระนางปมิตา
และพระนางอมิตา ซึ่งทั้งสองพระนางนี้เป็นพระกนิษฐา (น้องสาว)
หรือก็คือ น้องสาวของพระเจ้าสุทโธทนะ แต่จะเป็นพระธิดา (ลูกสาว) ของพระเจ้าอาพระองค์ใดกันแน่นั้น ท่านก็มิได้เขียนกล่าวบอกไว้ครับ...
แต่เนื้อหาที่ผมได้หยิบยกนำมาเสนอให้ท่านทั้งหลายได้อ่านนั้น กระผมขออ้างอิงจาก หนังสือพุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิเป็นหลักนะครับ
เพราะผมมองว่า มีรายละเอียดและสาระธรรมพร้อมกับการใช้ภาษาที่ไพเราะอยู่แล้ว กระผมจึงคิดว่าน่าจะ
มีประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านครับ
แต่ถ้าหากท่านใด มีข้อมูลหรือเอกสารอ้างอิงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็นำมาแชร์ความรู้แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ กระผมจะยินดีมากๆ
สุดท้ายนี้ เรื่องราวที่แท้จริงในตอนนี้นั้นพระนางกีสาโคตมี จะมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่อย่างไรนั้น ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญครับ หากแต่เราเพียงมองที่เนื้อหาแง่คิดในทางธรรมแล้ว ย่อมมีจะประโยชน์แก่ท่านสาธุชนอย่างแน่นอนครับ
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้อ่านขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน สาธุครับ (ต้นธรรม)
เอกสารอ้างอิง
#สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา
โดย ครูเหม เวชกร ภาพที่ ๑๐
#สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา
โดย ครูเหม เวชกร ภาพที่ ๑๑
#ทรงเปลื้องสังวาลประทานนาง
กีสาโคตมีซึ่งสดุดีพระคุณ
ขณะเสด็จขึ้นสู่ประสาท
#
https://th.wikipedia.org/wiki/พระราหุล
#หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
#หนังสือพุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
#เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
บันทึก
41
16
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พุทธประวัติ (ฉบับสมบูรณ์) *ยังไม่จบ
41
16
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย