16 ก.ย. 2019 เวลา 05:07 • ประวัติศาสตร์
พุทธ​ประวัติ​ ตอนที่ 12
ทอดพระเนตร​เห็นนิมิตทั้ง 4 ประการ หรือบางนัยยะเรียกว่า เทวทูต​ทั้ง 4
เมื่อ​กาลเวลา​ได้ล่วงลุผ่านเลยมา ณ ปัจจุบัน...
เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร
พระองค์​ได้ทรงเสวยสุขในการครองฆราวาสสมบัติตั้งแต่ทรงพระเยาว์ตราบเท่าพระชนมายุได้ 29 พรรษา​
พระองค์​นั้นมิได้ประสบกับสิ่งที่จักทำให้พระองค์นั้นมีพระทัยที่ขุ่นมัวเลย
# แม้แต่รูปทั้งหลาย คือเหล่าสตรีที่เห็นก็งดงาม
# แม้แต่เสียงดนตรีที่ได้สดับก็ไพเราะ
# แม้แต่กลิ่น​ที่เข้าถึงพระองค์ ก็ยังคงหอมหวนด้วยดอกไม้และเครื่องหอมนานาชนิด
# แม้แต่รสอาหารก็วิเศษประณีต
# แม้แต่สัมผัสก็มีแต่สิ่งอันละเอียดอ่อนนุ่ม
อันเป็น​เหตุ​ที่จะให้ขัดเคืองพระทัยแม้แต่น้อยก็มิมีเลย จวบจนเวลาต่อมา พระองค์​นั้นปรารถนาจะเสด็จประพาสราชอุทยาน
ลำดับนั้น...
เจ้าชาย​สิ​ท​ธัตถะ​จึงดำริในพระทัยว่า : ตัวเรานี้ก็เสวยสุข ในมหาปราสาทมาหลายปีแล้ว เห็นแต่ของสวยๆงามๆที่พนักงานทั้งหลายต่างจัดหามาให้นั้น บัดนี้ตัวเราก็เริ่มชินชาเสียแล้ว...
จะเป็นการดี​กว่า​นี้ หากตัวเรานั้นจักออกไปชมทัศนียภาพ​ภายนอก
มหาปราสาทเสียบ้าง...
เมื่อ​พระองค์​ทรงคิดได้​เช่นนั้น​
จึงมีรับสั่งว่า :
"เรา​ปรารถนา​อยากที่จะเสด็จประพาสราชอุทยาน ขอท่านทั้งหลายช่วยจัดเตรียมราชรถให้เรียบร้อยด้วยเถิด ซึ่งผู้เป็นนายสารถีขับราชรถ ก็คือ นายฉันนะ ผู้เป็น 1 ใน 7 สหชาติของเจ้าชายสิทถัตถะไปด้วย"
เมื่อเหล่า​พนักงาน​ได้จัดเตรียมราชรถเรียบร้อยแล้ว พระองค์​นั้นก็ได้เสด็จประพาสตามพระอัธยาศัย และ​ในการเสด็จประพาสราชอุทยานนี้ก็เป็นเหตุ
ทำให้พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรพบเห็นในสิ่งที่พระองค์มิเคยเห็น มิเคยทราบมาก่อน 4 ประการ...
เพราะเนื่องจากพระเจ้าสุทโธทนะ
พระราชบิดา​นั้น ได้เคยรับสั่งให้ข้าราชบริพาร​ไว้ว่า ห้ามมิให้พระราชโอรสทรงรู้หรือพบเห็นเกี่ยวกับ
นิมิตทั้ง 4 ประการเป็นอันขาดนั้นเอง
แต่ทว่า...
นิมิตทั้ง 4 ประการ​ ก็ยัง​ปรากฏ​ขึ้นให้พระมหาบุรุษได้ทรงทอดพระเนตรเห็น และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เกิดจากเทพยดาได้ตั้งใจบันดาลนิมิตนี้ขึ้นมาให้ปรากฏแก่พระองค์นั้นเอง...
***ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า
"เทวทูตทั้ง​ 4 หรือ นิมิต 4 ประการ"***
โดยลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดมีดังนี้
#ในวาระเสด็จประพาสครั้งแรก
ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นคนชรา
มีเกษา(ผม) หงอกขาว มีผิวกายเหี่ยวย่น หลังค่อมงอ เดินถือไม้เท้า ตัวสั่น​งันงก เดินอยู่ในระหว่างข้างทาง พระองค์​จึง​ตรัสถามนายฉันนะสารถีว่า
เจ้าชาย​สิ​ท​ธัตถะ​ตรัสถาม :
"บุรุษ​ผู้นี้มีรูปกายแปลกประหลาดกว่าชนทั้งหลายนี้ เรียกว่าอะไรกันเล่า ?"
นายฉันนะสารถีทูลตอบ :
"ข้า​แต่พระลูกเจ้า บุรุษ​ผู้นี้เรียกว่า
คนชรา พระเจ้า​ข้า"
เจ้าชาย​สิ​ท​ธัตถะ​ตรัสถาม :
"แล้วคนชรา​นั้น​ เป็นอย่างไร ?
ขอท่านอธิบายโดยละเอียดเถิด"
นายฉันนะ​สารถีทูลตอบ :
"อันคนชรานี้ เขามีชีวิตอยู่ได้ไม่นานก็จักต้องถึงแก่มรณกรรม พระเจ้า​ข้า"
เจ้าชาย​สิ​ท​ธัตถะ​ตรัสถาม :
"แม้แต่ตัวเราก็จักเป็นเช่นนี้หรือ"
นายฉันนะ​สารถีทูลตอบ :
"ข้า​แต่​พระ​ลูกเจ้า มนุษย์​ทั้งหลาย​ที่เกิด​มาในโลกนี้ทุกคน จักต้องพบกับสภาพเช่นนี้เหมือนกันหมดทั้งบุรุษและสตรีเพศ มิมีใครเลยจักหลีกเลี่ยงไปได้ แม้แต่พระองค์เองก็จักต้องตกอยู่ในสภาพอย่างนี้เหมือนกัน พระเจ้า​ข้า"
เมื่อ​เจ้าชาย​สิ​ท​ธัตถะ​ได้ทรงสดับรับฟังเช่นนั้นแล้ว จึงรู้สึกสลดสังเวช​พระทัย​นิ่งนัก และ​ทรง​รับสั่ง​ให้นายฉันนะสารถี หันราชรถให้เสด็จกลับสู่พระราชนิเวศน์ ด้วยการที่พระ​องค์​นั้นยังคงทรง​มีพระ​ทัยที่สับสนและขุ่นมัว​อยู่​
#ในวาระเสด็จประพาสครั้งสอง
พระองค์​ได้​ทรง​ทอดพระเนตร​เห็นคนเจ็บ
#ในวาระเสด็จประพาสครั้งสาม
พระองค์​ได้​ทรง​ทอดพระเนตร​เห็นคนตาย
ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งที่ 2 และ 3 พระองค์​ก็ทรงทราบเนื้อความจากนายฉันนะ​สารถีเช่นเดียวกับครั้งแรก
สาเหตุ​ที่แท้จริงแล้วเนื่องจาก...
เพราะว่ามีเทพยดาเข้ามาดลใจให้นายฉันนะ​สารถีได้กราบทูลไปเช่นนั้น ก็เพื่อที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะได้เกิดความสลดสังเวชพระทัยนั่นเอง
ในขณะนั้น...
เจ้าชาย​สิ​ท​ธัตถะ​จึง​ทรง​ดำริ​แก่​พระองค์​เองว่า :
***อันแม้แต่ตัวเราเองนั้น ก็ต้องประสบพบเจอกับสภาพ เช่นคนทั้งสามนี้เหมือนกัน มิสามารถจักหลีกหนีพ้นไปได้ ในสภาพทั้ง 3 ประการนี้เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง สิ่งนี้ได้ครอบ​งำมหาชนทุกคนมิมีใครล่วงพ้นไปได้...
แล้วเหตุใดกันเล่า มหาชนทั้งหลายจึงต่างพากันลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค และชีวิตอยู่เช่นนี้...
เหมือนกับคิดว่า ตนเองนั้นจักไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นอกจากนี้​ยังขวนขวายพยายามแสวงหาสิ่งที่ทำให้เกิดสภาพเช่นนี้อยู่เป็นนิตย์...
มิ​มีผู้ใด​เลยหนอ จัก​คิดหาอุบายวิธีอันเป็นเครื่องหลุดพ้นจากทั้งสามสิ่งนี้กันบ้างเลย...
อันแม้ตัวเราเองก็ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เหมือนกัน การกระทำ​อันประมาทอย่างนี้มิสมควรแก่เราเลย***
เมื่อ​พระ​องค์​ทรง​ดำริ​อย่างนี้แล้วก็ทรงบรรเทาความมัวเมาทั้ง 3 ประการได้ คือ
1. ไม่มัวเมาในวัย เพราะได้เห็นคนแก่
2. ไม่มัวเมาในโรค เพราะได้เห็นคนเจ็บ
3. ไม่มัวเมาในชีวิต เพราะ​ได้เห็นคนตาย
อีกทั้งไม่เพลิดเพลินหลงใหลในกามสมบัติที่พระองค์ทรงเสวยอยู่
# ในการเสด็จประพาสครั้งที่สี่
ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นสมณะ
นุ่งห่ม​ผ้ากาสาวาพัสตร์ ประกอบ​ด้วยกิริยาที่สำรวม​น่าเลื่อมใส​ และเมื่อได้​ทรง​สดับ​รับฟังจากนายฉันนะ​สารถีที่กราบทูล สรรเสริญ​คุณ​แห่ง การบรรพชาด้วยเทวานุภาพบันดาล ให้​กราบทูล​เช่นนั้นแล้ว...
เจ้าชาย​สิ​ท​ธัตถะ​จึง​ทรงพระดำริว่า :
"การประพฤติในสมณเพศนี้ เป็นบุญพิธีกุศลธรรมอันประเสิรฐ​สุนทรสถาพรโดยยิ่ง ควร​แล้วที่เราจักยึดถือเอาอุดมเพศนี้"
ดังนี้​แล้วพระองค์​จึงเกิดศรัทธาเลื่อมใสมีพระทัยน้อมไปในการบรรพชา และพลางทรงดำริต่อไป
อีกว่า :
"อันธรรมดาสภาวะทั้งปวง ย่อมมีสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่กัน เช่น
มีร้อนก็มีเย็นแก้ มีมืดก็มีสว่าง​แก้
เป็นต้น​ บาง​ทีแล้ว อุบายวิธีแก้ทุกข์ทั้ง 3 ประการนี้คงจะมีเป็นแน่แท้
แต่การที่จะแสวงหาอุบายแก้ทุกข์เหล่านี้นั้นยากยิ่งนัก สำหรับผู้อยู่ในฆราวาสวิสัย เพราะเพศฆราวาสนั้นคับแคบยิ่งนัก เป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ต่างๆ อันทำให้ใจเศร้าหมอง เพราะด้วยเหตุแห่งความรัก ความชัง ความหลง และความกลัวต่างๆ
แต่ทว่า...
การบรรพชานั้นเป็นช่องทางเดียว
ที่พอจักแสวงหาอุบายวิธีให้หลุดพ้นจากทุกข์เหล่านั้นได้"
***เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว ก็เกิดปีติโสมนัสขึ้นในพระทัย และ​มีพระทัยน้อมไปในการบรรพชามากยิ่งขึ้น***
เอวัง​ก็มี​ด้วยประการฉะนี้​
ถึงแม้ตอนนี้​เนื้อเรื่องยาวอีกแล้วแต่ก็อัดแน่ไปด้วยเนื้อหาสาระธรรม หวังว่าท่านผู้อ่านจะอ่านกันจนจบนะครับ ^0^
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน​ผู้อ่าน​ขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน​ สาธุครับ​ (ต้นธรรม)
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
- หนังสือพุทธประวัติ​ตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์) หน้า 48-50
- เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
โฆษณา