2 ต.ค. 2019 เวลา 12:55 • ไลฟ์สไตล์
ซีรีส์แสงชีวิต: การบริจาคอวัยวะ 2/6
พระพุทธศาสนากับการบริจาคอวัยวะ
ตอนที่ ๒: บริจาคอวัยวะคนตาย บุญได้แก่ใคร
14 ธันวาคม 2542
ผู้อำนวยการฯ :
ถ้าถามว่าการบริจาคอวัยวะนั้นได้บุญหรือไม่ และใครเป็นคนได้ อย่างเช่นคนหนึ่งแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะไว้ แต่เสียชีวิตในภาวะที่ไม่สามารถบริจาคได้ กับอีกคนหนึ่งไม่ได้แสดงความจำนงบริจาค แต่เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตายแล้วญาติได้ตัดสินใจบริจาค ลักษณะนี้ไม่ทราบว่าใครจะเป็นคนได้บุญ หรือได้บุญมากน้อยอย่างไร
พระธรรมปิฎก :
ในแง่นี้ต้องแยกออกเป็น ๒ ประเด็น ประเด็นที่หนึ่งคือ “เป็นบุญหรือไม่?” ซึ่งตอบได้เลยว่าเป็นบุญอยู่แล้ว ดังที่พระโพธิสัตว์ท่านบริจาค และเป็นบุญชั้นสูงถึงขั้นเรียกว่าบารมีเลยทีเดียว แต่สำหรับคนทั่วไปจะมีความตั้งใจที่จะบรรลุโพธิญาณหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเราไม่ได้มีความตั้งใจไม่ได้ตั้งปณิธานอย่างนี้ ก็ไม่เรียกว่าเป็นบารมี แต่เป็นบุญซึ่งจัดว่าเป็นบุญอันยิ่งใหญ่เลยทีเดียว เพราะเป็นบุญที่ทำได้ยาก ต้องมีความเสียสละจริงๆ เป็นอันว่าได้บุญแน่นอน เพราะเกิดจากเจตนาที่เสียสละให้ด้วยความกรุณาปรารถนาดีต่อผู้อื่นอันใหญ่หลวง
ส่วนที่ว่า “ใครจะเป็นผู้ได้บุญ?” นั้น ตอบง่ายๆ ว่าใครเป็นผู้บริจาค คนนั้นก็ได้ เพราะมันอยู่ที่เจตนาของผู้นั้น ในกรณีที่เป็นคนที่ตายไปแล้วและญาติบริจาค ก็เลยกลายเป็นว่าคนที่ตายไปแล้วไม่ได้รับ เพราะว่าไม่ได้เจตนา ในแง่นี้ต้องพูดอีกขั้นหนึ่ง คือญาติที่บริจาคนั้นต้องอุทิศกุศลไปให้เขาอีกทีหนึ่ง ในทางธรรมถือว่าถ้าบริจาคในขณะที่ตัวยังเป็นอยู่ก็จะเป็นบุญชั้นสูง
ผู้อำนวยการฯ :
คนที่ได้รับอวัยวะไปแล้ว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ เขาจะได้รับผลบุญนั้นหรือไม่ เพราะทางศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ไม่ได้บอกชื่อของคนที่บริจาคให้ ผู้ที่รับอวัยวะไปจะอธิษฐานอย่างไรดี
พระธรรมปิฎก :
แม้จะไม่ระบุชื่อผู้ที่เราอุทิศส่วนกุศลให้ เพียงแต่ตั้งใจว่าอุทิศให้แก่เจ้าของอวัยวะที่บริจาคให้เรา หรือที่เราได้รับบริจาคนี้ก็พอแล้ว
ตอนต่อไป
บริจาคอวัยวะแล้ว เกิดใหม่ร่างกายยิ่งดี >>
เพจ 'ธรรมะเน้นๆ A Great Degree Dhamma'
วันพุธที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา