2 ต.ค. 2019 เวลา 09:26 • ไลฟ์สไตล์
ซีรีส์แสงชีวิต: การบริจาคอวัยวะ 1/6
พระพุทธศาสนากับการบริจาคอวัยวะ
ตอนที่ ๑: บริจาคอวัยวะเป็นบุญสูงใหญ่
14 ธันวาคม 2542
■■■การบริจาคอวัยวะ1■■■
■■■บริจาคอวัยวะเป็นบุญสูงใหญ่■■■
ผู้อำนวยการฯ : มีข้อห้ามในศาสนาพุทธหรือไม่เกี่ยวกับเรื่อง “การบริจาคอวัยวะ”
พระธรรมปิฎก: ตามปกติ ไม่มีข้อห้าม มีแต่จะสนับสนุน เพราะการบริจาคอวัยวะเป็นการเสียสละเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ต้องการให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ และมีความสุข การบริจาคจึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น “ทศพิศราชธรรม” ก็ดี การบำเพ็ญ “บารมี” ของพระพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ก็ดี ก็มีการบริจาคเป็นคุณธรรมข้อแรก
การบริจาคนี้ เป็นการให้ เรียกว่า “ทาน” คือการให้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยเฉพาะในการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งเรียกว่า “ทานบารมี” นั้น การบริจาคอวัยวะเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นความดีที่จำเป็นต้องทำเลยทีเดียว เพราะการก้าวไปสู่โพธิญาณ ต้องมีความเข้มแข็งของจิตใจในการเสียสละเพื่อความดี ทั้งนี้ทานที่เป็นบารมี แบ่งเป็น ๓ ขั้น เช่นเดียวกับบารมีอื่นๆ คือ
ทานบารมี
--->>>
ระดับสามัญ คือการบริจาคทรัพย์สินเงินทองของนอกกาย ถึงจะมากมายแค่ไหนก็อยู่ในระดับนี้
ทานอุปบารมี
--->>>
คือ ทานบารมีระดับรองหรือจวนสูงสุด ได้แก่ความเสียสละทำความดีถึงขั้นสามารถบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้
ทานปรมัตถบารมี
--->>>
คือ ทานบารมีขั้นสูงสุด ได้แก่ การบริจาคชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือเพื่อรักษาธรรม
แน่นอนว่า การบริจาคอวัยวะนั้นเป็นคุณธรรมสำคัญ และเป็นบุญมากตามหลักพระพุทธศาสนา นอกจากเป็นบารมีขั้นทานอุปบารมีแล้ว ยังโยงไปหาหลักสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “มหาบริจาค” คือการบริจาคใหญ่ ซึ่งพระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติอีก ๕ ประการ คือ บริจาคทรัพย์ บริจาคราชสมบัติ บริจาคอวัยวะและนัยน์ตา บริจาคตัวเองหรือบริจาคชีวิต และบริจาคบุตรภรรยา
บริจาคบุตรและภรรยานั้น คนสมัยใหม่อาจจะมองในทางที่ไม่ค่อยดี แต่ต้องเข้าใจว่าการบริจาคบุตรภรรยานี้ไม่ใช่ไปมองในแง่ทอดทิ้งบุตรภรรยา แต่มองในแง่ที่สามารถสละความหวงแหนยึดถือทางจิตใจ อย่างคนทั่วไปที่เมื่อมีความยึดถือผูกพันด้วยความรัก ก็มักจะมีความเอนเอียงเป็นอย่างน้อย ผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ คือพระโพธิสัตว์นั้นจิตใจจะต้องตรงต่อธรรม สามารถรักษาความถูกต้องโดยไม่เห็นแก่อะไรทั้งสิ้น จึงต้องสละความยึดถือแม้แต่ลูกเมียได้ แต่การจะสละบุตรภรรยาคือยอมให้เขาไปกับใครนั้น มีข้อแม้ว่าต้องให้เขายินดีพอใจหรือเต็มใจด้วย ถ้าเขาไม่พอใจก็ไม่บริจาค ท่านมีเงื่อนไขไว้แล้ว
หันกลับมาเรื่องการบริจาคอวัยวะ เป็นอันว่าพระโพธิสัตว์จะเป็นพระพุทธเจ้าได้จำเป็นต้องบำเพ็ญมหาบริจาค ซึ่งมีการบริจาคอวัยวะ บริจาคนัยน์ตา บริจาคชีวิตรวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่าไม่มีการห้าม นอกจากจะทำด้วยโมหะและโดยไม่มีเหตุผล ส่วนการทำอย่างมีเหตุผล คือมีจิตเมตตากรุณา ต้องการเสียสละให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นนี้ ท่านสนับสนุน
[ตอนต่อไป
บริจาคอวัยวะคนตาย บุญได้แก่ใคร]
เชิงอรรถ
พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต) ให้สัมภาษณ์แก่ นายแพทย์วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ที่วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๒ เวลา ๑๔.๐๐ น.
เพจ 'ธรรมะเน้นๆ A Great Degree Dhamma'
วันพุธที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา