26 ก.ย. 2019 เวลา 12:09 • ความคิดเห็น
มาม่าเกาหลีรสเผ็ด ตีตลาดไทย ได้อย่างไร!!??
พอดีไปแม็คโครแล้วมีคนฝากซื้อ "มาม่าเกาหลี" เราก็อึ้งกับราคาห่อละเกือบ 50 บาท (แพงกว่าก๋วยเตี๋ยวหน้าปากซอยอีก) ปกติ ทานแต่ "มาม่าไทย" รสหมูสับ หรือไม่ก็รสต้มยำกุ้ง นี่หล่ะ ห่อละ 8 บาท (บิ๊กแพค) เลยสงสัยว่าราคาแบบนี้ขายได้อย่างไร และทฤษฎี "ดัชนีมาม่า" ที่บอกว่า หาก มาม่า "ขายดี" แสดงว่าเศรษฐกิจ "ไม่ค่อยดี" จะใช้ไม่ได้ซะแล้ว เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากเกาหลีที่ราคานี้ ไม่ถือว่าเป็นอาหารกินกันตายช่วงที่เงินดันหมด ก่อนสิ้นเดือนเอาซะเลย!!
4
มาม่าเกาหลี แบรนด์ซัมยาง ซองแดงด้านขวาเผ็ดคูณซอง
💡กลยุทธ์การตีตลาดไทย (และตลาดโลก) ของมาม่าเกาหลี หรือ "รามยอน"
ต้องบอกว่าเกาหลีใต้ เขาทำเป็นขบวนการ จุดเริ่มมาจากพวกซีรีส์เกาหลี ที่ชอบมีฉากต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปให้เห็น อีกทั้งอาหารเกาหลีต่างๆ ก็เริ่มมีในไทย ทำให้คนไทยเริ่มคุ้นชินกับวัฒนธรรมเกาหลี
แต่ที่ทำให้บะหมี่สำเร็จรูปเกาหลีดังขึ้นมาได้ น่าจะเป็นกระแสในโซเชียล ช่วง 2-3 ปีที่แล้ว ที่มีการแข่งขันกิน "มาม่าเผ็ด" โดยเหล่า Net Idol เมืองไทยก็แข่งกันผลิตคอนเทนต์แนวแข่งกินมาม่าเผ็ด จนสินค้าเริ่มติดตลาด ทั้งๆ ที่ราคาสูงกว่า มาม่าไทยเจ้าตลาด ถึง 5 เท่าตัว คนก็ยังอยากลองกัน หลักๆ คือ ขายความ "เผ็ด" ในสไตล์เกาหลี
2
Meijimill
โดยตัวเลขตามข่าวต่างๆ รายงานว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนำเข้าจากต่างประเทศ (เกาหลี, และอินโดนีเซีย เป็นหลัก) มีสัดส่วนตลาดประมาณ 10% จากมูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในไทยที่ 16,000-17,000 ล้านบาท
1
สำหรับผู้นำเข้ารายใหญ่ จากการไปสืบอย่างจริงจังของแอดมิน (ก็แค่พลิกหลังซองมาม่าเกาหลี ดูน่ะ ว่ามีใครนำเข้ามาบ้าง) ก็พบว่ามีสองรายด้วยกันคือ บริษัท แพร์รี่มาร์เก็ตติ้ง และบริษัท โปรไทย เราไปดูข้อมูล 2 บริษัทนี้กัน
3
บริษัท แพร์รี่มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2530 โดยดำเนินธุรกิจหลัก เป็นผู้แทนจำหน่ายและกระจายกลุ่มสินค้า ประเภทอุปโภคและบริโภค ทั้งที่นำเข้าจาก ต่างประเทศ และผลิตในประเทศ เจ้าของเป็นคนไทย โดยบริษัทนี้นำเข้า มาม่าเกาหลีแบรนด์ “ซัมยาง” และ “พาลโด”
มาม่าเกาหลีแบรนด์ซัมยาง
เราไปดูผลประกอบการ บริษัท แพร์รี่มาร์เก็ตติ้ง กันดีกว่า
ปี 2558 รายได้ 1,035 ล้านบาท กำไร 36 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 1,211 ล้านบาท กำไร 95 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 1,958 ล้านบาท กำไร 330 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 1,992 ล้านบาท กำไร 253 ล้านบาท
3
และ บริษัท โปรไทย จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2527 โดยดำเนินธุรกิจหลัก นำเข้าสินค้าจากประเทศเกาหลี อาทิเช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เจ้าของเป็นคนเกาหลี และหุ้นส่วนคนไทย โดยบริษัทนี้นำเข้า มาม่าเกาหลีแบรนด์ “นองชิม” ซึ่งจริงๆแล้วเป็นแบรนด์ที่มียอดขายสูงสุดในเกาหลี
มาม่าเกาหลีแบรนด์นองชิม Cr.Jeban.com
เราไปดูผลประกอบการ บริษัท โปรไทย กันเลย
1
ปี 2558 รายได้ 198 ล้านบาท กำไร 9.9 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 229 ล้านบาท กำไร 11.9 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 290 ล้านบาท กำไร 13.2 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 290 ล้านบาท กำไร 12.8 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า มาม่าเกาหลี ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มยอดขายและกำไร ของทั้ง 2 บริษัท (มาม่าเกาหลีเริ่มนิยมในไทย จริงๆ ก็ปลายปี 2560)
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีเผ็ดจริงไหม❓
1
ก็เห็นมีคนลองตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ว่ามันเผ็ดนะ (ส่วนตัวเคยชิมซองสีดำของซัมยาง ไม่เผ็ดเลย ก็อร่อยดี) ส่วนหากว่ากันตามหลักวิชาการ เขาก็มีหน่วยวัดความเผ็ด โดยมีชื่อเรียกว่า ค่า “สโกวิลล์” (Scoville Heat Unit หรือ SHU) โดยเป็นหน่วยการวัดความเผ็ดของพริก โดยวัดปริมาณสารแคพไซซิน (Capsaicin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง
หากลองดูพริกของบ้านเรากันก่อน ว่ามีค่าความเผ็ดเท่าไหร่กันบ้าง?
- พริกจินดาสด ค่าความเผ็ด 28,050-40,200 SHU, พริกจินดาเป็นพริกที่มีราคาถูกกว่าพริกขี้หนู ซึ่งเป็นพริกที่คนไทยใช้ทำอาหารกันเป็นหลักนั่นหล่ะ
4
- พริกขี้หนูสด ค่าความเผ็ด 19,500-28,050 SHU
- พริกชี้ฟ้าสด 7,500-16,500 SHU
Scoville chart Cr.pinterest
ทีนี้แล้ว มาม่าเกาหลี แบรนด์ซัมยาง ที่มีขายใน 7-eleven ห่อแดงๆ ที่เขียนว่าความเผ็ด x2 นั้น จริงๆแล้ว มีความเผ็ดเท่าไหร่??
.
.
.
.
.
.
.
เฉลยก็คือ 8,000 SHU จ้า ก็ดูไม่ค่อยเผ็ดเท่าไหร่เนอะ เทียบเท่าพริกชี้ฟ้าเอง แต่คิดภาพเวลานั่งทานพริกไปเรื่อยๆ ก็คงมีเผ็ดกันบ้างหล่ะ ส่วนสูตรเผ็ดปกติซองดำๆ จะมีค่าความเผ็ดประมาณ 4,000 SHU
2
และเมื่อเร็วๆนี้ แชมป์มาม่าเกาหลีรสเผ็ด เจ้าเดิมอย่างแบรนด์ซัมยาง ก็ได้ออกรสชาติใหม่ พิเศษสุดๆ คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรส “Ghost Pepper” หรือ “พริกปีศาจ” ด้วยค่าความเผ็ดถึง 1,000,000 SHU!!! พิมพ์ไม่ผิด 1 ล้านสโกวิลล์ หรือ 125 เท่า ของรสเผ็ด x 2
มาม่าเกาหลี รส พริกปีศาจ Cr.PinkyPiggu
แอดมินเคยทานไก่ทอดเคลือบซอส Ghost Pepper ที่สหรัฐอเมริกา กินเข้าไปแค่น่องเดียวเล็กๆ ก็ได้เรื่องเลย น้ำตาไหลพราก เป็นความเผ็ดจนต้องร้องขอชีวิต!!!
ใครชื่นชอบความซาดิสม์ ลองไปซื้อมาลองได้ แต่ต้องไปซื้อที่ 7-eleven ที่สิงคโปร์นะ มีขายเป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน ในสนนราคาถ้วยละ 2.9 ดอลลาร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 65 บาท) ส่วนในไทยยังไม่มีขายนะ
1
(เพื่อนๆ ที่สนใจอาจลองนำเข้ามาขาย ดูได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีใครทนความเผ็ดได้รึเปล่า หรือ Inbox มาก็ได้ ถ้ามียอดเยอะ เดี๋ยวสั่งเข้ามาให้ลังนึง ฮ่าๆ 😝)
การโต้กลับของมาม่า - Empire strikes back‼️
1
บริษัท สหพัฒนพิบูล ผู้ผลิตมาม่าไทย ก็ไม่อยู่นิ่ง รีบทำการรีแบรนด์ ทำการตลาดเปลี่ยนจาก มาม่า "โอเรียนทัลคิทเช่น" ออกแบรนด์ “มาม่าโอเค” (OK-ตัวย่อของ Oriental Kitchen)  ซึ่งออกมาเมื่อปี 2561 แล้วก็พบว่ากระแสตอบรับดีมากๆ ด้วยหน้าตาของซองที่ละม้ายคล้ายมาม่าเกาหลี รสชาติก็บะหมี่แห้งรสเผ็ดตามสูตรเกาหลี แต่ก็มีการปรับรสเล็กน้อยให้เข้ากับลิ้นลูกค้าไทย (หวานน้อยกว่า) และอีกประเด็นคือ การตั้งราคาที่ถูกกว่ามาก เพียงห่อละ 15 บาท เทียบมาม่าเกาหลีห่อละ 40-50 บาท (แต่ก็อย่าลืมว่ามาม่าปกติราคาห่อละ 8 บาท) ก็ทำให้ผู้บริโภคต้องหันกลับมาหยิบมาม่าโอเคไปทดลองกันบ้าง
2
มาม่าโอเค ห่อละ 15 บาท
โดยทาง Net Idol ต่างๆ ก็มาช่วยรีวิวมาม่าโอเค ด้วยเช่นเดียวกัน ผลก็คือ มาม่า ทำยอดขาย 6 เดือนแรก ในปี 2562 เติบโตสูงมากถึง 11.6% โดยมียอดขายมาม่าครึ่งปีแรกอยู่ที่ 4,600 ล้านบาท ทางผู้บริหารชี้แจงว่า มาม่าโอเค ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 3% ปัจจุบันอยู่ที่ 51%  (สาเหตุที่ยอดขายเติบโต ส่วนหนึ่งก็ได้อานิสงส์ จากโครงการแจกเงินประชานิยม ด้วย)
2
ถือเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า บางทีสินค้าที่ราคาถูกที่สุด (มาม่าห่อละ 6-8 บาท) ก็ไม่ได้ทำให้ยอดขายเติบโตได้มากที่สุด ราคาเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการเลือกซื้อสินค้า ผู้ประกอบการต้องปรับให้ทันความต้องการของผู้บริโภค และดึงจุดขายออกของสินค้าออกมาให้ได้
เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ 🤔
จะเห็นได้ว่าสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะอาหาร ล้วนมีเรื่องราวเชื่อมโยงเกี่ยวกับวัฒนธรรมและความเชื่อของคน ซึ่งเราได้เห็นเกาหลีใต้ ใช้กลยุทธ์ "ส่งออกวัฒนธรรม" K-Pop และละครเกาหลี พร้อมกับสินค้าต่างๆ ตามกันมา และที่สำคัญที่สุดคือ การสื่อสารสินค้าจุดเด่นสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะทำให้เกิดกระแสรุนแรงมากๆ (คิดภาพฮาซัน ขายอาหารทะเลตากแห้ง) โดยต้องสื่อสารกับผู้บริโภคชัดเจน จดจำได้ง่าย ทำให้ช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาได้
1
ผู้ที่จะนำเข้าสินค้ามาขาย ก็ต้องตามผู้บริโภคให้ทัน และสำหรับผู้ประกอบการส่งออก ก็ควรพิจารณากลยุทธ์ลักษณะนี้ โดยเฉพาะคนที่คิดจะส่งออกไป "จีน"  โดยเราจะพบว่าช่องทางสื่อสารที่สำคัญที่สุดในชั่วโมงนี้ คือ "โซเชียลมีเดีย" ต่างๆ
การทำการตลาดผ่าน Net Idol หรือที่จีนเขาเรียกว่า Key Opinion Leader (KOL) สำคัญมาก ไม่งั้นจะหวังให้คนจีนซื้อของก็ยากหน่อย เพราะประเด็นคือ คนจีนเค้ากลัวโดนหลอกเหมือนกับคนไทยนั่นแหล่ะ คือ เชื่อเพื่อน หรือไม่ ก็เชื่อ KOL มากกว่า ซึ่งเราก็ต้องพยายามให้มีคนมารีวิวสินค้าเรากันหน่อย
1
ฟ่านปิงปิง รีวิวสินค้าใน Instagram จีน (Xiaohongshu)
สำหรับกลยุทธ์ที่ดีกว่านั้น ก็คือ พยายามให้คนจีนเค้าลองสินค้าเราตอนมาเที่ยวไทยนี่หล่ะ ไปให้เค้าลองที่เชียงใหม่ใหม่ก็ได้
(แอดมินมีเพื่อนอยู่เชียงใหม่นะ ใครอยากให้ส่งสินค้าให้คนจีนลอง สามารถติดต่อมาเลยจ้า 🥰)
เขียนไปเขียนมา แอบหิวซะเอง ไปหา "มาม่าโอเค" ทานดีกว่า...
ที่มา: DBD, SM Magazine, นิภาพรรณ คุ้มเงิน: การหาดัชนีความเผ็ดในพริกบางชนิด, ประชาชาติธุรกิจ, pantip.com
หากเห็นว่าบทความเป็นประโยชน์ ช่วยส่งกำลังใจ Like & Share ให้ เพจ "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า" ด้วยนะ 😘
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
ติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า" ได้หลายช่องทาง
✌️Blockdit (อ่านสนุกกว่า): https://www.blockdit.com/pages/5cf403f48a04c80fff7950bb
👌Line openchat (พูดคุยแลกเปลี่ยน ระหว่างผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก): https://line.me/ti/g2/hxcbVyO45-1yxNkh-vKf1g
โฆษณา