30 ก.ย. 2019 เวลา 03:00 • กีฬา
NBA 101 - พื้นฐานที่ควรรู้ สำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาหรือเริ่มดู NBA (ตอนที่ 3) - ความสำคัญของ Offseason
หลังจากที่ได้รู้เรื่องพื้นฐานของทีม และโปรแกรมการแข่งขันประจำฤดูกาลไปแล้ว
บางคนอาจจะเกิดความสงสัยว่า แล้วช่วงปิดฤดูกาลล่ะ จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และสำคัญอย่างไรต่อทีม
บทความนี้จะกล่าวถึงความสำคัญของช่วงปิดฤดูกาล หรือ Offseason
จริงๆ แล้ว ช่วง Offseason ถือว่าน่าติดตามไม่แพ้กับในช่วงฤดูกาลปกติเลยก็ว่าได้
เพราะเป็นช่วงที่จะกำหนดทิศทางในการบริหารทีมให้เป็นไปในแนวทางที่ต้องการให้มากที่สุด
เช่น ต้องการสร้างทีมใหม่ ต้องการเก็บรักษาผู้เล่นตัวสำคัญหรือตัวที่มีบทบาทกับทีม การเสริมผู้เล่นหรือการปล่อยผู้เล่นที่ไม่เข้ากับทีมออกไป รวมไปถึงการวางระบบทีม การวางแผน การฝึกซ้อมรูปแบบต่างๆ โดยมากจะต้องทำกันในช่วงปิดฤดูกาล
เนื่องจากโปรแกรมการแข่งขันค่อนข้างมีตารางการแข่งที่ค่อนข้างถี่ ทำให้การปรับระบบทีมหรือรูปแบบการเล่นหลักๆ ระหว่างฤดูกาลค่อนข้างเป็นไปได้ยากนั่นเอง (ลำพังแค่การเดินทางกับการซ้อมประจำวันก็แทบจะไม่เหลือเวลาแล้ว)
ปกติแล้วแต่ละทีมมักจะวางแผนล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงปลายฤดูกาลปกติ หลังจากที่ทราบว่าทีมตัวเองจะได้เข้ารอบ Playoffs หรือไม่ ซึ่งการจัดการในส่วนนี้ถือเป็นการวัดความสามารถของทีมบริหารเลยก็ว่าได้
โดยเฉพาะฤดูกาลล่าสุด (2019/20) เนื่องจากมีสัญญาณที่ใกล้จะหมดยุคทองของ Warriors แล้ว ทำให้หลายทีมต่างเสริมทัพเป็นการใหญ่ ปละจากปัจจัยหลายอย่าง ทำให้เป็น Offseason ที่น่าติดตามมากที่สุดปีหนึ่งเลยทีเดียว
Q. หลังจากปิดฤดูกาลแล้ว จะมีเหตุการณ์อะไรที่จะเกิดขึ้นบ้าง จนกว่าจะเริ่มฤดูกาลใหม่
A. หลังจากปิดฤดูกาลในช่วงเดือนมิถุนายน (บางทีมก็ปิดตั้งแต่เดือนเมษายน กรณีไม่ได้เข้ารอบ Playoffs) ทางลีก NBA จะมีการจัดโปรแกรมต่างๆ ดังนี้
1. Draft Lottery หรือการจัดอันดับว่าทีมไหนจะได้อันดับ Draft ที่เท่าไหร่ โดยจะมีในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
การ Draft ผู้เล่นของ NBA นั้น แต่ละทีมจะได้สิทธิ์ทั้งหมด 2 รอบ โดยรอบแรกในอันดับ 1-14 จะใช้การสุ่มจากระบบที่เรียกว่า Draft Lottery ส่วนอันดับอื่นๆ รวมถึงรอบสอง จะเรียงตามอันดับสถิติตามปกติ (สถิติแย่ที่สุด มีสิทธิ์เลือกก่อน)
เนื่องจากทางลีกไม่ต้องการให้เกมช่วงครึ่งหลังของฤดูกาลน่าเบื่อจนเกินไป (เพราะจะส่งผลต่อ Rating)
เพราะจะมีบางทีมที่เห็นว่า ถึงแข่งไปก็ไม่มีประโยชน์ สู้เตรียมตัวเพื่อฤดูกาลหน้าไปเลยดีกว่า (เมื่อก่อนยังเป็นการจัดอันดับโดยตรง)
จึงเกิดการเล่นแบบแข่งกันแพ้ หรือที่เรียกว่า Tanking เกิดขึ้น
โดยหลักคือการเล่นให้แพ้ (แต่เป็นไปตามกติกา ไม่ใช่ล้มเกมใต้โต๊ะ) ด้วยวิธีการส่งผู้เล่นสำรองหรือเด็กลงเล่นเต็มเกม เพื่อที่จะให้เก็บประสบการณ์ และเตรียมพร้อมในการคัดเลือกผู้เล่นดีๆ จากการ Draft ในฤดูกาลถัดไปด้วย
พอมีทีมแข่งกัน Tank หลายทีม ทางลีกจึงต้องออกมาตรการเพื่อไม่ให้ทุกทีมที่หมดลุ้นเข้ารอบจะมาแข่งกันแพ้เสียหมด เพราะบางนัดก็มีผลกับการจัดอันดับทีมที่เข้ารอบไปแล้วเช่นกัน และที่สำคัญคือความสนุกในฤดูกาลปกติจะลดลงเป็นอย่างมาก
โดยการใช้ระบบที่เรียกว่า Draft Lottery
หลักการคือ จากโอกาส 100% จะมีการจัดอันดับเพื่อแบ่งว่าทีมไหนจะมีโอกาสได้ Draft อันดับต้นๆ โดยมีการแบ่งเป็น % จากทั้งหมด 14 ทีม ที่ไม่ได้เข้ารอบ Playoffs มาแบ่งตามลำดับสถิติ
ซึ่งจะเริ่มจาก 3 ทีมที่สถิติแย่ที่สุด จะมีโอกาสเท่ากันที่ 14.0%
และจะลดหลั่นลงมาเรื่อยๆ จนถึง 3 ทีมสุดท้าย จะมีโอกาสทีมละ 1%
พอถึงวันจัดอันดับ ก็จะใช้หลักการดังกล่าวในการสุ่มเลือก และประกาศอันดับที่ได้
เมื่อแต่ละทีมได้อันดับแล้ว ก็ต้องทำการวางแผนต่อไป ว่าจะเลือกใคร เลือกเพื่อ Trade เลือกเพื่อเสริมทีม หรือจะ Trade สิทธิ์ Draft เพื่อแลกกับผู้เล่นในลีกแทน
สิทธิ์ Draft สามารถ Trade ได้ และในบางกรณีจะสามารถ Trade ล่วงหน้าได้ด้วย ซึ่งถ้าทีมนั้นต้องการสร้างทีมใหม่ในปีดังกล่าว การเก็บสิทธิ์ Draft อันดับดีๆ ที่ได้จากทีมอื่นเอาไว้ก่อนก็จะทำให้มีตัวเลือกมากขึ้นในการสร้างทีมใหม่
1
2. Draft Day หรือวันแห่งการคัดเลือกผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ลีก NBA โดยจะมีในช่วงปลายเดือนมิถุนายน
สำหรับคนที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง Draft Day มาก่อน น่าจะคุ้นเคยพอสมควรกับระบบนี้ ซึ่งถือเป็นระบบสำคัญของ American Games เลยก็ว่าได้
การ Draft ผู้เล่น คือการเลือกผู้เล่นที่ไม่เคยเล่นในลีก NBA มาก่อนเข้าสู่ทีม โดยทางลีกจะทำการคัดกรองผู้ที่มีสิทธิ์ในการลงทะเบียนเป็น Draft Player เอาไว้แล้ว
โดยหลักคือ ผู้เล่นที่มีอายุ 19 ปีขึ้นไปในปีที่ทำการ Draft และเล่นในลีกมหาลัย (NCAA) อย่างน้อย 1 ปี ถึงจะลงทะเบียนได้
แต่สำหรับผู้เล่นต่างชาติหรือผู้เล่นที่ไม่ได้อยู่ใน NCAA ก็สามารถลงทะเบียนได้เช่นกัน แต่เกณฑ์ที่ใช้ในการคัดกรองก็จะแตกต่างออกไป
ปกติในการ Draft แต่ละทีมจะมีข้อมูลอยู่แล้วว่าทีมมีกี่สิทธิ์ และอยู่รอบไหนบ้าง จากการ Trade สิทธิ์ Draft ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
แต่ก็จะมีบางทีม ที่อยากขยับอันดับ Draft เพื่อไม่ให้เป้าหมายที่ต้องการถูกทีมอื่นแย่งไปก่อน ก็จะทำการ Trade สิทธิ์กันในวันนั้นเลย หรือเมื่อทีมเลือกผู้เล่นมาแล้ว ก็ทำการ Trade ผู้เล่นไปทีมอื่นต่อในทันทีเลยก็มีเช่นกัน
ผลลัพธ์ที่ออกมาในวันนั้น อาจเห็นว่าบางทีมได้ผู้เล่นเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่บางทีมอาจไม่ได้ผู้เล่นเพิ่มเลยก็เป็นได้
ส่วนผู้เล่นที่ลงทะเบียนแต่ไม่ติด Draft จะยังมีโอกาสในการติดทีมได้อีกเข่นกัน แต่ก็ต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันออกไป
3. Summer League หรือมินิลีกสำหรับลองผู้เล่นใหม่ และทดสอบผู้เล่นที่ทีมสนใจจะดึงเข้าสังกัด โดยจะมีในช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนกรกฎาคม
สำหรับผู้ที่พลาด Draft หรือผู้ที่อยู่ในลีกรองอย่าง G-League หรือลีกต่างประเทศ ที่ทีมต่างๆ ได้เห็นแววแล้วสนใจที่จะเซ็นสัญญา แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเข้ากับทีมหรือไม่
Summer League คือเวทีสำหรับกรณีดังกล่าว
โดยรวมจะเป็นเหมือนมินิลีกขนาดเล็ก แต่ละทีมจะได้เล่นประมาณ 5-7 เกม โดยผู้เล่นส่วนมากมักจะเป็นเด็กใหม่ ผู้เล่นต่างชาติ ผู้เล่นที่ไม่ติด Draft และผู้เล่นในลีกรองเป็นส่วนมาก
ทีมที่สนใจในผู้เล่นคนนั้นๆ สามารถให้เจ้าตังลงทะเบียนในชื่อทีมของตนเอง แล้วส่งลงเล่นในลีกนี้ได้ ถือเป็นกรณีพิเศษในการทดสอบผู้เล่น โดยสิทธิ์ในการสังกัดทีมจะมีจนจบ Summer League เท่านั้น
โดยในปีหลังๆ ทางลีกเริ่มทำการขยายตลาด ด้วยการเชิญทีมจากประเทศอื่นเข้ามาร่วมแข่งขันใน Summer League ด้วยเช่นกัน
4. Free Agency หรือตลาดผู้เล่นที่ไม่มีทีมในสังกัด โดยจะมีตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป
การเสริมผู้เล่น นอกจากการ Draft และ Trade แล้ว การหาผู้เล่นที่ต้องการในตลาด Free Agency ก็สำคัญไม่แพ้กัน
เพราะตลาดนี้จะเหมือนเป็นแหล่งรวมผู้เล่นในลีกที่ไม่มีทีมในสังกัด ทำให้สามารถเจรจาเพื่อให้ผู้เล่นเข้าทีมได้ในทันที
ปกติจะมีข้อมูลออกมาอยู่แล้วว่า ในปีนี้จะมีผู้เล่นคนไหนอยู่ในตลาดนี้บ้าง ซึ่งทีมที่อยากได้ก็ต้องเตรียมข้อเสนอต่างๆ ตามความเหมาะสมของทีมและผู้เล่นที่ต้องการ และนำเสนอให้ผู้เล่นตอบตกลงที่จะมาร่วมทีมในที่สุด
เพราะอย่าลืมว่าผู้เล่นเองก็มีสิทธิ์ปฏิเสธ และอาจโดนทีมอื่นแย่งไปแทนในภายหลังได้
ทางลีกจะกำหนดให้วันที่ 1-6 ก.ค. เป็นวันสำหรับเจรจาล่วงหน้า แต่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ โดยจะเรียกช่วงเวลานี้ว่า Free Agency Moratorium
คล้ายกับการเจรจาให้เกิดสัญญาปากเปล่า ก่อนที่จะเซ็นอย่างเป็นทางการหลังจากนั้น
เพียงแต่การเจรจานั้น ใช่ว่าจะได้ผล 100% เพราะบางกรณีก็มีผู้เล่นที่ตอบตกลงไปแล้ว แต่เปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้ายก่อนเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการก็มี (ซึ่งอาจกระทบต่อการบริหารทีมได้เลย ทำให้ส่วนมากผู้เล่นจะไม่ทำกัน เพราะอาจโดนถือว่าไม่เป็นมืออาชีพพอ และอาจส่งผลต่ออนาคตของเจ้าตัว)
เพื่อเพิ่มความแน่นอนในการย้ายทีม จึงมีหลายทีมที่แอบทำการเจรจาในช่วงเวลาก่อนที่ทางลีกกำหนด หรือที่เรียกว่า Tampering
ในปัจจุบันการ Tampering นั้นทำกันเกือบทุกทีม กลายเป็นว่ามีข่าวหลุดออกมาก่อนแล้วว่าใครจะย้ายไปทีมไหนตั้งแต่ช่วง Moratorium ทำให้ช่วงดังกล่าว มักจะเหลือแต่การเจรจากับผู้เล่นระดับรองลงไปมากเท่านั้น
ทาง NBA ได้เห็นการเจรจาแบบนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบของการเจรจาได้ ล่าสุดจึงประกาศว่าจะเริ่มเข้มงวดกับการ Tampering ในปีต่อๆ ไปแล้ว
5. Training Camp หรือการรายงานตัวเพื่อเริ่มการฝึกซ้อม โดยจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน
ช่วงนี้จะเริ่มการฝึกซ้อมเพื่อปรับระบบทีม หรือปรับผู้เล่นให้เข้ากับแผนของทีม
โดยปกติแล้วทางลีกจะห้ามให้ผู้เล่นมารายงานตัวก่อนกำหนด เพราะอาจส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบได้
แต่ละทีมจึงต้องมีการกำหนดระบบทีม รูปแบบและแผนคร่าวๆ กับผู้เล่นในทีมก่อนล่วงหน้า แล้วพอเข้าช่วงนี้ถึงจะเริ่มฝึกซ้อมแบบเต็มรูปแบบได้
เพียงแต่ว่าหลังจากที่ลีก NBA ได้เริ่มขยายตลาด ทำให้มีบางทีมต้องออกไปเล่นเกม Preseason ที่ต่างประเทศ ทำให้เวลาเตรียมทีมน้อยลง
ทางลีกจึงอนุญาตให้ทีมเหล่านี้สามารถเข้าแคมป์ก่อนกำหนดปกติได้ราว 3-4 วัน
ในปีนี้ มีทีมที่ต้องไปแข่ง Preseason ที่ต่างประเทศ ทั้งหมด 6 ทีม คือ
-Pacers และ Kings ที่อินเดีย
-Rockets และ Raptors ที่ญี่ปุ่น
-Nets และ Lakers ที่จีน
ส่งผลให้ 6 ทีมนี้ เข้าแคมป์ได้ตั้งแต่ 28 กันยายน ส่วนทีมอื่นจะเริ่มเข้าแคมป์ได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม
นอกจากนี้ มี Clippers กับ Mavs ที่จะแข่งที่แคนาดาด้วย แต่เป็นช่วงท้ายของ Preseason และเดินทางไม่ไกลมาก ทางลีกจึงไม่อนุโลมให้
ในช่วงเวลานี้ โดยปกติแล้วแต่ละทีมจะต้องจัดพื้นที่ให้สื่อสามารถทำการสัมภาษณ์ได้ แต่จะไม่สามารถแอบสังเกตการณ์ตอนฝึกซ้อมได้ ยกเว้นแต่จะมีข้อตกลงระหว่างทีมและสื่อต่างหาก
6. Pre-Season หรือเกมอุ่นเครื่องก่อนเริ่มฤดูกาล โดยจะจัดในช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนตุลาคม
เข้าสู่ช่วงสุดท้ายในการเตรียมทีมก่อนเริ่มฤดูกาลปกติในช่วงปลายเดือนตุลาคม
ทางลีกจะจัดโปรแกรมอุ่นเครื่องให้ โดยทุกทีมจะได้เล่นอย่างน้อย 4 นัด
นอกจากจะเจอทีมในลีกด้วยกันแล้ว ในแต่ละปีจะมีการเชิญทีมจากต่างประเทศให้มีส่วนร่วมดเงย โดยปีนี้จะมีทั้งหมด 8 ทีมที่ได้รับเชิญ
เมื่อ Preseason สิ้นสุด ก็จะมีเวลาพักราว 1 สัปดาห์ก่อนเริ่มฤดูกาลปกติ
จากด้านบน จะเห็นว่ารายละเอียดช่วงปิดฤดูกาลหรือ Offseason ของ NBA นั้นมีความสำคัญมาก
สิ่งที่กล่าวถึงในบทความเป็นแค่พื้นฐานเท่านั้น ยังมีรายละเอียดยิบย่อยอีกพอสมควร
3
ถ้ามีโอกาสก็จะทำการกล่าวถึงครับ
สามารถเสนอแนะและติชมได้เช่นเคยครับ ผู้เขียนเองได้เริ่มทำบทความใน Blockdit เป็นที่แรก และที่เดียวในตอนนี้ครับ
ถ้าชอบก็ฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ
BombWalkerz

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา