30 ก.ย. 2019 เวลา 07:09 • ไลฟ์สไตล์
ซีรีส์แสงชีวิต
ตอน 'มาร ๕'
มาร 5 (สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากคุณความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, สิ่งที่ล้างผลาญคุณความดี, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางบุคคลมิให้บรรลุ ผลสำเร็จอันดีงาม — the Evil One; the Tempter; the Destroyer)
1. กิเลสมาร (มารคือกิเลส, กิเลสเป็นมารเพราะเป็นตัวกำจัดและขัดขวางความดี ทำให้สัตว์ประสบความพินาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต — the Mara of defilement)
2. ขันธมาร (มารคือเบญจขันธ์, ขันธ์ 5 เป็นมาร เพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง มีความขัดแย้งกันเองอยู่ภายใน ไม่มั่นคงทนนาน เป็นภาระในการบริหาร ทั้งแปรปรวนเสื่อมโทรมไปเพราะชราพยาธิเป็นต้น ล้วนรอนโอกาสมิให้บุคคลทำกิจหน้าที่ หรือบำเพ็ญคุณความดีได้เต็มปรารถนา อย่างแรง อาจถึงกับพรากโอกาสนั้นโดยสิ้นเชิง — the Mara of the aggregates)
3. อภิสังขารมาร (มารคืออภิสังขาร, อภิสังขารเป็นมาร เพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม นำให้เกิดชาติ ชรา เป็นต้น ขัดขวางมิให้หลุดพ้นไปจากสังขารทุกข์ — the Mara of Karma-formations)
4. เทวปุตตมาร (มารคือเทพบุตร, เทพยิ่งใหญ่ระดับสูงสุดแห่งชั้นกามาวจรตนหนึ่งชื่อว่ามาร เพราะเป็นนิมิตแห่งความขัดข้อง คอยขัดขวางเหนี่ยวรั้งบุคคลไว้ มิให้ล่วงพ้นจากแดนอำนาจครอบงำของตน โดยชักให้ห่วงพะวงในกามสุขไม่หาญ เสียสละออกไปบำเพ็ญคุณความดียิ่งใหญ่ได้ — the Mara as deity)
5. มัจจุมาร (มารคือความตาย, ความตายเป็นมาร เพราะเป็นตัวการตัดโอกาส ที่จะก้าวหน้าต่อไปในคุณความดีทั้งหลาย — the Mara as death)
ภาพจาก Pinterest
🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️🔸️
'มาร ๕'
ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑
ทำใจให้เป็นกลางๆ อยู่เฉยๆ มันก็ผ่องใสสะอาดอยู่ทุกเมื่อ นั่นพระองค์ทรงอยู่อย่างนั้น พระองค์ทรงมีจิตอย่างนั้น จึงทรงพ้นจากมาร
ร่างกายของคนเราเป็นปฏิปักษ์แก่ภายในใจ ทุกผู้ทุกคนมีหมดเป็นเครื่องปฏิปักษ์พระพุทธเจ้าทรงเทศนาว่า “มาร” มันเป็นอุปสรรคขัดข้องในการทำคุณงามความดี คำว่า “มาร” ในที่นี้ พระองค์เทศน์ไว้มี ๕ อย่าง คือ ขันธมาร ๑ กิเลสมาร ๑ อภิสังขารมาร ๑ เทวบุตรมาร ๑ มัจจุมาร ๑ มี ๕ อย่าง ทุกคนมีอยู่ในตัวของตนแล้ว
-ขันธมาร -
ได้แก่ตัวของเรา มันมีอุปสรรคขัดข้องทุกอย่างในการจะทำดิบทำดีนับเป็นเครื่องขัดข้อง เช่น เจ็บๆ ป่วยๆ ไม่อยู่ดีสบาย โดยเฉพาะภายในใจขี้เกียจขี้คร้านเมื่อจะทำคุณงามความดี มักง่ายเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว เข้าใจว่าเราทำประโยชน์เพื่อตัวอันเป็นความงามความดี แต่ที่แท้จริงมันเป็นกิเลส เป็นตัวมารอย่างสมมติว่าเราจะทำความเพียรภาวนา ก็เหน็ดเหนื่อยพักผ่อนนอนเสียก่อนรอตื่นเสียก่อน เข้าใจว่าดี แท้ที่จริงมารหัวเราะเลย ครั้นเมื่อเราทำตามใจมารนั่น มารหัวเราะเลยทีเดียว จึงว่า “มาร” การทำกิจวัตรข้อวัตรต่างก็ขี้เกียจขี้คร้านเห็นเป็นของนิดหน่อยหรอกเลยไม่ทำ ปล่อยละเลยเสีย มันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการที่จะทำคุณงามความดี
การเจ็บการป่วยไม่อยู่ดีสบายก็เหมือนกัน ถ้าหากผู้มีความเพียรประกอบความเพียรเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เจ็บป่วยเท่าใดยิ่งกล้าหาญ หลีกไปอยู่คนเดียวยิ่งสบายกล้าหาญต่อสู้เอาจนชนะมันได้ อันนั้นเรียกว่า ชนะมาร
-กิเลสมาร-
ขันธมารนั่นเป็นกิเลสส่วนหนึ่ง ซึ่งมันเกิดจากภายในใจ ทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดความขี้เกียจขี้คร้านไปหมดนั่นเรียกว่า “กิเลสมาร” เราทำดิบทำดีประพฤติพรหมจรรย์ในพุทธศาสนา เป็นไปเพื่อมรรค ผล นิพพาน เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจด แต่กิเลสเข้ามากั้นมาขัดขวางเสีย ให้เกิดความรัก ให้เกิดความโกรธ ให้เกิดความเกลียด เกิดความชัง เป็นเหตุให้มีอุปสรรคขัดข้องไม่สามารถจะทำให้ลุล่วงไปได้ กิเลสมันเกิดขึ้นมาภายใน ทำสิ่งใดก็มีแต่กิเลสมากีดกัน ท่านจึงเรียกว่า “มาร”
-อภิสังขารมาร-
คือความอยากใหญ่ ความอยากเป็นใหญ่เป็นโต มีแต่ความอยากได้ดิบได้ดี ทำอันนี้แล้วก็ยังไม่พอใจ อยากให้มันได้ยิ่งๆ ขึ้นไป ที่ตนทำได้ที่ตนมีอยู่ไม่พอใจ ทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไปกว่านั้นอีก ทำไมท่านถึงเรียกอภิสังขารมาร? เพราะ มันไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ การพอใจในความมีอยู่เป็นอยู่ตามมีตามได้ ในฐานะมีปานใดก็อยู่เพียงนั้น เรียกว่ามันพอแล้ว
-มัจจุมาร-
คือความตาย ความตายมาผลาญเสีย เราทำดิบทำดีความตายมาผลาญเสีย ไม่ถึงกาลเวลามันตัดรอนความดีของเรา อะไรที่เราทำเพื่อประโยชน์ความสุขสบายของตน ความตายมาตัดรอนเสีย เรียกว่า มัจจุมาร
-เทวบุตรมาร-
นั้นท่านกล่าวถึงเรื่องขอบเขตของพระเจ้าอยู่ในชั้นสวรรค์ เป็นตัวมารมาผจญพระพุทธเจ้า เป็นต้น นั่นเรียกว่าเทวบุตรมาร อันนั้นส่วนหนึ่ง
คราวนี้พูดถึง ขันธมาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณแต่ละอย่างๆ นี้เป็นขันธ์ฯ แต่ละอย่างๆ นี้เป็นมาร ฉะนั้นตัวของเราก็ได้ชื่อว่าอยู่ในเรื่องของมารทั้งหมด ถ้าหากว่าเป็นมารทั้งหมดแล้ว ตัวของเราก็เป็นลูกศิษย์ของมาร เป็นหลานของมาร
ทำอย่างไรมันจึงจะพ้น “มาร” ได้? พระพุทธเจ้าท่านทรงพ้นจาก “มาร” จึงได้สำเร็จมรรค ผล นิพพาน พระพุทธเจ้าทรงชนะ “มารทั้งห้า” จึงได้พระสัมมาสัมโพธิญาณสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า
มารเรามีแล้ว ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากมารนี้ได้? ทำอย่างไรจะพ้นจากรูปทำอย่างไรจากพ้นจากนามได้? ที่จะพ้นได้นั้น ไม่ใช่พ้นด้วยการไป ไม่ใช่พ้นด้วยการรบราฆ่าฟัน
พ้นด้วยการเห็นโทษของมัน รู้เท่า รู้เรื่อง เข้าใจเรื่องของมาร ว่าขันธ์มันเป็นอยู่อย่างนั้น ถึงมันเจ็บป่วยก็รู้สึกว่าขันธ์มันเจ็บป่วย รู้สึกว่ามันไม่สบาย จิตใจไม่ท้อแท้อ่อนแอ ผจญต่อสู้ด้วยความรู้เท่าเข้าใจ ไปเห็นความจริงของมัน ขันธ์ก็เป็นเรื่องของขันธ์ ขันธ์ ๕ ก็เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ เรื่องภาวนาของเราก็เป็นเรื่องภาวนาของเรา เรื่องจิตใจก็เป็นเรื่องจิตใจของเรา
ขันธ์ ๕ เป็นเรื่องนามก็จริงอยู่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันเป็นเรื่องนามเป็นขันธ์ แต่ว่าถ้าหากว่าพูดถึงเรื่องความจริงแล้ว ขันธ์เป็นอีกอันหนึ่ง ใจเป็นอีกอันหนึ่ง อย่างที่ผมพูดว่า “ใจ” มันไม่ใช่ขันธ์ “จิต” มันเป็นขันธ์ต่างหาก เมื่อใจเป็นหนึ่งอยู่แล้ว เป็นกลางๆอยู่แล้วไม่มีอะไรกระทบกระเทือน เวทนา สัญญา สังขาร มันไม่กระทบหรอก ที่กระทบมันเป็นเรื่องจิต ที่เป็นกลางๆ นั้นเรียกว่าใจ อะไรจะมากระทบของกลางๆ นั้นมันไม่มีหรอก พระพุทธเจ้าทรงพ้นด้วยอาการอย่างนี้ไม่ได้ทรงพ้นด้วยรบราฆ่าฟันอะไรต่างๆ นั่นแหละพระองค์ทรงชนะมารได้
แต่ว่ายังอยู่ในแวดวงของมารนั่น พระองค์ยังไม่เสด็จปรินิพพาน ยังทรงอยู่ในแวดวงของมาร จึงทรงมีสติครอบงำอยู่ตลอดเวลาคุ้มครองทุกเมื่อ ทรงทำใจของพระองค์ให้เป็นกลางอยู่ตลอดเวลา อันนั้นพระองค์ทรงชนะไปอย่างหนึ่งแล้วนั่น
กิเลสมาร ก็เหมือนกัน กิเลสเป็นเครื่องทำใจให้เศร้าหมองไม่ผ่องใส ที่ทำอะไรทั้งปวงหมด ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความชอบ ความชัง อาสวะทั้งปวงหมด มันเป็นเรื่องจิต ที่มันรักก็เป็นพิษ ที่มันเกลียดก็เป็นพิษ ที่มันโกรธก็เป็นพิษ ที่ชอบนั้นไม่ชอบนี้ก็เป็นพิษ “ใจ” มันไม่รู้จักชอบ ไม่รู้จักโกรธ ไม่รู้จักเกลียด ไม่รู้จักมีทิฐิมานะอะไร อันนั้นมันเป็นเรื่องของ “จิต” มันมัวหมองเพราะเหตุที่ไปรัก ไปชอบ ไปโกรธ ไปเกลียด มีทิฐิมานะ นั่นมันจึงค่อยมัวหมอง
ครั้นจิตมันพ้นจากนั้นแล้ว คือมันรู้เท่ารู้เรื่องของมันแล้วว่า แต่ไหนแต่ไรมาสิ่งเหล่านั้นมันเป็นอย่างนั้น เราจะพ้นจากมันคือ ทำใจให้เป็นกลาง ทำใจให้เป็นกลางๆ อยู่เฉยๆ มันก็ผ่องใสสะอาดอยู่ทุกเมื่อ นั่นพระองค์ทรงอยู่อย่างนั้น พระองค์ทรงมีจิตอย่างนั้น จึงทรงพ้นจากมาร ทรงพ้นไปได้จากกิเลสมาร
อภิสังขารมาร ก็เหมือนกัน เราทำสมาธิภาวนา อยากได้ดิบได้ดี อยากให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ อยากให้รู้อย่างนั้นรู้อย่างนี้ อยากให้มันรวม อยากให้มันสงบสว่างแจ่มใส เลยเป็นอุปสรรคขัดข้องต่อการภาวนา เรียกว่า อภิสังขารมาร อยากทำให้ยิ่งๆ กว่านั้น แท้ที่จริงการทำสมาธิ ทำใจให้เป็นกลางวางเฉยๆ ลงไป ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องวุ่นวาย ครั้นทำใจเป็นกลางๆ เฉยๆ ลงไปแล้ว มันก็วางมันก็เป็นสมาธิภาวนา มันก็พ้นจากอภิสังขารมารได้
มัจจุมาร คือความตาย ตายไปซิถ้ามันจะตาย พิจารณามันให้ชัดเห็นแจ้ง ตายเป็นอะไร? ตายไปก็เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ประกอบด้วยรูปไม่ประกอบด้วยนาม รูปมันเกิดมาจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ มันก็แตกดับสลาย เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ เราไปยึดเอามาเป็นตนเป็นตัว เป็นของเราของเขา ปล่อยวางเฉยลงไป เป็นกลางๆ จิตมันก็สงบอยู่ได้ ถึงมันจะเดือดร้อนกระทบกระทั่งด้วยประการต่างๆ ก็รู้เท่า รู้เรื่องของมันอีก ซึ่งจะให้มันไม่กระทบกระเทือน ไม่มีหรอก ความอดความกลั้นของพระพุทธองค์เป็นความอดความกลั้น ความเห็นตามเป็นจริง แล้วก็ปล่อยวางอยู่ตลอดเวลา
เทวบุตรมาร นั้นเป็นของพูดยาก แต่พระพุทธเจ้าทรงชนะมารทั้ง ๕ ด้วยประการอย่างนี้แหละ
พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ทำดิบทำดี มีปัญญาเฉลียวฉลาด เฉียบแหลม รู้เท่ารู้รอบถึงเรื่องมารทั้งห้า ถึงมารมันจะโกรธจะเกลียดก็เอาเถอะ มันไม่ทำอะไรให้เราหรอก นรกของมารไม่มีหรอก มีแต่นรกที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาไว้เท่านั้นแหละ ชนะมารตรงนั้นแหละ เมื่อเราพิจารณาเห็น รู้แจ้ง เข้าใจ เห็นจริงอย่างนี้แล้ว มารน้อยใจ ไม่สามารถที่จะทำอะไรเราได้ เรียกว่าปราชัยแล้ว ในที่ทุกสถาน เอาละ
ที่จะพ้นได้นั้น ไม่ใช่พ้นด้วยการไป ไม่ใช่พ้นด้วยการรบราฆ่าฟัน พ้นด้วยการเห็นโทษของมัน รู้เท่า รู้เรื่อง เข้าใจเรื่องของมาร
[จบ โอวาทหลังปาติโมกข์ 59. มาร ๕]
เพจ 'ธรรมะเน้นๆ A Great Degree Dhamma'
วันจันทร์ที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา