9 ต.ค. 2019 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
“สงครามโลกครั้งที่ 1 (World War I) มหาสงครามพลิกโลก” ตอนที่ 5 (ตอนจบ)
สงครามจบ
เดือนมกราคม ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) ทีมถอดรหัสก็สามารถดักฟังรหัสลับทางโทรเลขที่ถูกส่งโดย “อาเทอร์ ซิมเมอร์มันน์ (Arthur Zimmermann)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันซึ่งส่งไปให้เอกอัครราชทูตเยอรมันในเม็กซิโก
1
อาเทอร์ ซิมเมอร์มันน์ (Arthur Zimmermann)
เมื่อทีมงานทำการถอดรหัส พวกเขาก็พบว่าเขาพบข้อมูลที่เปรียบเสมือนทองคำเข้าแล้ว
ในโทรเลข ซิมเมอร์มันน์ได้ออกคำสั่งให้เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำเม็กซิโกหาทางเจรจากับเม็กซิโกและญี่ปุ่น เพื่อร่วมมือกันประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา
เมื่อได้ข้อมูลมาอย่างนี้ สหราชอาณาจักรก็ได้ส่งโทรเลขฉบับนี้ไปให้สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรก็มั่นใจว่าเมื่อสหรัฐอเมริกาเห็นโทรเลขฉบับนี้ สหรัฐอเมริกาจะต้องประกาศสงครามต่อเยอรมนีแน่นอน
1
โทรเลขที่อาเทอร์ ซิมเมอร์มันน์ส่งไปยังเม็กซิโก
เป็นตามคาด เมื่อสหรัฐอเมริกาเห็นโทรเลขนี้ก็โมโหมาก ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาก็ไม่พอใจที่เยอรมนีโจมตีเรืออาร์เอ็มเอส ลูซิเทเนียตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ตอนนี้ยังคิดจะมาแว้งกัดอีก
ความอดทนของสหรัฐอเมริกาได้หมดลงแล้ว เมษายน ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อเยอรมนี
พฤษภาคม ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) ทหารฝรั่งเศสเริ่มจะไม่ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาทำให้กองทัพต้องพ่ายแพ้มาตลอด ทหารจึงเริ่มไม่เชื่อฟัง
ต่อมาไม่นาน ชาวรัสเซียหมดความอดทน ได้เกิดการปฏิวัติขึ้นในรัสเซีย รัฐบาลถูกล้มล้าง จากนั้นในเดือนธันวาคม ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) ผู้นำคนใหม่ของรัสเซียได้ตกลงเซ็นสนธิสัญญาสงบศึกกับเยอรมนี จะไม่มีการสู้รบในแนวรบด้านตะวันออกอีกต่อไป
การเซ็นสัญญาสงบศึกระหว่างรัสเซียและเยอรมนี
ในเวลานี้มหาอำนาจกลางเริ่มจะอยู่ในภาวะวิกฤต พวกเขาต้องเอาชนะฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรให้ได้ก่อนที่กองทัพอเมริกันจะมาถึง แต่ถึงอย่างนั้น การล่มสลายของกองทัพรัสเซียก็ทำให้พวกเขามีความหวัง
1
พลเอกเอริช ลูเดินดอร์ฟ (Erich Ludendorff) นายพลแห่งกองทัพเยอรมันได้ตัดสินใจทุ่มทุกอย่างไปกับการโจมตีแนวรบด้านตะวันตก
4
พลเอกเอริช ลูเดินดอร์ฟ (Erich Ludendorff)
21 มีนาคม ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) ทหารฝีมือดีของกองทัพเยอรมันต่างบุกออกจากสนามเพลาะ และบุกไปยังอาณาบริเวณของกองทัพศัตรูพร้อมอาวุธครบมือ
การบุกโจมตีอย่างบ้าระห่ำของกองทัพเยอรมันทำให้ทหารสัมพันธมิตรต้องถอย แต่พวกเขาก็ยังตั้งรับทัพเยอรมัน
ในเยอรมนี ผู้คนคิดว่ากองทัพเยอรมันมีโอกาสชนะแล้ว แต่ถึงกองทัพเยอรมันจะบุกเข้ามาในเขตแดนศัตรูได้ไกล แต่ก็ต้องสูญเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก ที่ยังเหลืออยู่ต่างก็เหน็ดเหนื่อยและอยู่ห่างจากคลังอาวุธและเสบียง
ในทุกๆ วัน ทหารอเมริกันจะเข้ามาเสริมกำลังอยู่เรื่อยๆ และกองทัพฝรั่งเศสก็คิดว่าถึงเวลาที่สัมพันธมิตรต้องตอบโต้ได้แล้ว
สหราชอาณาจักรได้ทำการโต้กลับในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) ใกล้กับเมืองอาเมียง
1
อันดับแรก สหราชอาณาจักรได้ทำการเล็งไปยังคลังอาวุธเยอรมัน ก่อนจะทำการยิงปืนใหญ่ใส่คลังอาวุธ ทำให้ทัพเยอรมันขาดอาวุธ
1
การโจมตีที่อาเมียง
จากนั้น สหราชอาณาจักรก็ได้รุกต่อด้วย “รถถัง” ซึ่งเป็นยานพาหนะชนิดใหม่ที่เพิ่งได้รับการประดิษฐ์มาไม่นาน
1
ภายหลังจากที่สหราชอาณาจักรพ่ายแพ้มาเป็นเวลานาน ในที่สุดสหราชอาณาจักรก็สามารถข้ามเขตแดนเยอรมนีได้ และสหราชอาณาจักรก็ได้บุกลึกเข้าไปเรื่อยๆ
รถถังของสหราชอาณาจักรในสงครามโลกครั้งที่ 1
ทางด้านเยอรมนีนั้น สถานการณ์มีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ ไข้หวัดได้ระบาดไปทั่วกองทัพ ในขณะที่ทัพอเมริกันก็คอยมาเสริมทัพสัมพันธมิตรทุกวัน
ในขณะเดียวกัน ทัพสัมพันธมิตรก็ได้มาถึงเส้นทางฮินเดนเบิร์ก (Hindenburg Line) ฐานของฝั่งเยอรมนีที่มีทั้งบังเกอร์ สนามเพลาะ รวมทั้งป้อมปราการ
1
ผู้บัญชาการกองทัพเยอรมันเคยเชื่อว่าเส้นทางฮินเดนเบิร์กนั้นแข็งแกร่งจนไม่มีทางที่จะทำลายได้ แต่พวกเขาคิดผิดถนัด
เส้นทางฮินเดนเบิร์ก
กองทัพสัมพันธมิตรได้ทำการโจมตีเส้นทางฮินเดนเบิร์กทั้งวันทั้งคืน ภายในเวลาสี่วัน กองทัพสัมพันธมิตรก็สามารถบุกเข้าไปในเส้นทางฮินเดนเบิร์ก
ในขณะที่กองทัพเยอรมันกำลังแตก อาณาจักรตุรกีก็ถูกล้อมจากรอบด้าน
เซอร์ เอ็ดมันด์ แอลเลนบี้ (Sir Edmund Allenby) ผู้บัญชาการฝั่งสหราชอาณาจักรได้บุกโจมตีทางอียิปต์ ในขณะเดียวกัน ตุรกีก็ต้องพบการโจมตีจากทางฝั่งตะวันออก รวมทั้งเกิดกบฏในอาหรับซึ่งต้องการจะแยกตัวออกจากตุรกี
ตุลาคม ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) กองทัพตุรกีแตกและได้ยอมแพ้
ในขณะเดียวกัน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีก็กำลังแตกสลาย ประเทศในปกครองต่างเรียกร้องอิสรภาพและต้องการจะจบการต่อสู้ และในที่สุด กองทัพอิตาลีก็สามารถบุกผ่านเทือกเขาแอลป์และมุ่งไปยังออสเตรีย
29 ตุลาคม ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) กองทัพเรือเยอรมันได้ปฏิเสธที่จะสู้รบต่อ และในเยอรมนีเองก็เกิดการจลาจลไปทั่ว นักการเมืองและนายพลเยอรมันต่างต้องยอมรับความจริง
เยอรมนีแพ้แล้ว
1
เช้าวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1918 (พ.ศ.2461) กลุ่มนักการเมืองและเจ้าหน้าที่เยอรมันได้เซ็นสนธิสัญญาสงบศึกกับสัมพันธมิตร
เวลา 11 โมงของวันนั้น สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้จบลงแล้ว
เมืองต่างๆ ทั่วยุโรปเฉลิมฉลองกันอย่างกึกก้อง ผู้คนต่างดีใจที่ในที่สุดสงครามก็สงบซะที
7
จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนีได้เสด็จหนีออกไปฮอลแลนด์
พระองค์ทรงกริ้วเป็นอย่างมาก และพระองค์ก็ทรงมั่นพระทัยว่าพระองค์ถูกหักหลังจากนายพลของพระองค์เอง อีกทั้งชาวเยอรมันส่วนใหญ่ก็เชื่ออย่างนั้นและไม่เต็มใจที่จะสงบศึก
ในปารีส ผู้นำสัมพันธมิตรต่างประชุมกันว่าจะจัดการกับเยอรมนีอย่างไรดี โดยนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสต้องการที่จะลงโทษเยอรมนีเพื่อไม่ให้ก่อสงครามอีก แต่สหรัฐอเมริกาคิดว่าควรจะต้องใจดีกับเยอรมนีบ้างเพื่อให้สันติสุขนี้คงอยู่ต่อไป
ภายหลังจากประชุมกันมาเป็นเวลานับเดือนก็ได้ข้อสรุป สัมพันธมิตรให้เยอรมนีเซ็นสนธิสัญญาแวร์ซาย
สนธิสัญญาแวร์ซาย
เยอรมนีนั้นอับอายเป็นอย่างมาก พวกเขาต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมหาศาล และยังต้องถูกตราหน้าว่าเป็นผู้เริ่มสงคราม
28 มิถุนายน ค.ศ.1919 (พ.ศ.2462) เยอรมนีได้ยอมเซ็นสนธิสัญญาแวร์ซาย
ในที่สุด สงครามก็ได้จบลง แต่ก็ได้เปลี่ยนโลกไปอย่างมาก หลายๆ ประเทศเป็นอิสระ ตะวันออกกลางได้ถูกแบ่งแยกโดยอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งทำให้อาหรับนั้นโกรธมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้อาหรับได้รับสัญญาว่าจะได้เป็นอิสระ
1
รัสเซียเองก็มีรัฐบาลใหม่ ส่วนจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีก็ได้แตกสลาย
1
ไม่เพียงแต่รัฐบาลที่เปลี่ยนแปลง ประชาชนในประเทศต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ที่หนักหนาที่สุดคือเยอรมนี
การต้องจ่ายค่าปฏิกรรมจำนวนมหาศาลทำให้ชาวเยอรมันนั้นต้องยากจนและสร้างความโกรธแค้นให้ชาวเยอรมันจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือชายหนุ่มชื่อ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)”
1
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)
20 ปีต่อมา ฮิตเลอร์ผู้นี้จะเป็นผู้นำพาโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และรุนแรงกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 มากนัก
สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นหนึ่งในสงครามครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ มีชาติกว่า 28 ชาติเข้าร่วมสงคราม และมีผู้เสียชีวิตกว่า 21 ล้านคน
1
11 พฤศจิกายน ค.ศ.1919 (พ.ศ.2462) หนึ่งปีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีการจัดงานรำลึกถึงการสิ้นสุดของสงคราม และให้ผู้คนสงบนิ่งเป็นเวลาสองนาทีเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต
โลกได้แต่หวังว่าจะไม่เกิดสงครามเช่นนี้ขึ้นอีก
จบลงแล้วสำหรับซีรีย์ชุดนี้ ซีรีย์ชุดต่อไปที่จะมาพรุ่งนี้ ผมขออนุญาตคั่นเรื่องการเมืองหรือสงครามด้วยความบันเทิง และเป็นความชอบส่วนตัว อีกทั้งข้อมูลพร้อมกว่าหลายๆ เรื่อง นั่นคือซีรีย์เรื่อง “ไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) ราชาเพลงป๊อปผู้สร้างประวัติศาสตร์วงการดนตรี” ฝากติดตามด้วยนะครับ
โฆษณา