8 ต.ค. 2019 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
“สงครามโลกครั้งที่ 1 (World War I) มหาสงครามพลิกโลก” ตอนที่ 4
1
การรบที่ดุเดือดและไม่มีทีท่าสิ้นสุด
ความเดิมตอนที่แล้ว เรือดำน้ำเยอรมันได้จมเรืออาร์เอ็มเอส ลูซิเทเนีย สร้างความโกรธแค้นให้คนทั่วโลกโดยเฉพาะชาวอเมริกัน
แต่สหรัฐอเมริกาจะตัดสินใจอย่างไรต่อ ผมจะเก็บไว้เล่าในช่วงหลัง ผมขอกลับไปทางฝั่งยุโรปก่อนนะครับ
ในแนวรบด้านตะวันออก กองทัพรัสเซียได้ส่งกำลังเสริมเข้ามาประจำมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
กองทัพเยอรมันเองก็ไม่สามารถจะเอาชนะกองทัพรัสเซียได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากกองทัพรัสเซียนั้นมีขนาดใหญ่มาก ทั้งสองฝั่งจึงต่างผลัดกันแพ้ชนะ
ในขณะที่แนวรบด้านตะวันตก ต่างฝ่ายต่างก็คุมเชิงกัน และจบลงด้วยความเสียหายยับเยินของทั้งสองฝั่ง
ที่ผ่านมา การรบจะตัดสินแพ้ชนะได้อย่างรวดเร็วด้วยการโจมตีจากทหารราบและทหารม้า แต่ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารราบต่างถูกโจมตีด้วยปืนกล อีกทั้งปืนใหญ่ก็ได้รับการพัฒนาจนสามารถยิงกระสุนปืนใหญ่ที่ทำให้ทุ่งหญ้ากลายเป็นที่ราบได้ในพริบตา
1
เหล่าทหารที่หลบอยู่ในสนามเพลาะนั้นมีชีวิตที่ยากลำบาก สุขอนามัยในสนามเพลาะก็ไม่ดีนัก มีทั้งหนู แมลง กลิ่นเหม็น และเหล่าทหารก็ล้มป่วยเนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี
2
ทหารที่อยู่ในสนามเพลาะจะฆ่าเวลาด้วยการเขียนจดหมายกลับไปหาที่บ้าน แต่ก็ต้องคอยระแวดระวัง
แต่ละฝ่ายจะมีพลซุ่มยิงที่คอยจับตาดูฝ่ายตรงข้าม หากมีใครออกมาจากสนามเพลาะ พลซุ่มยิงจะคอยยิง อีกทั้งกระสุนปืนใหญ่จากทั้งสองฝั่งต่างก็จะยิงใส่กันเป็นระยะ
ในยามค่ำคืน พลลาดตระเวนทั้งสองฝ่ายจะแอบย่องไปซ่อมรั้วลวดหนาม รวมถึงไปแอบสืบดูสภาพของฝ่ายศัตรู
ทหารระดับหัวหน้ามักจะสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ผู้บัญชาการระดับสูงมักจะตั้งกองบัญชาการในบ้านพักในชนบทของฝรั่งเศส และอยู่ห่างจากแนวหน้า
ทหารระดับผู้บัญชาการมักจะมีชีวิตที่สบายกว่าทหารในสนามเพลาะมาก พวกเขามีอาหารกินตลอด มีห้องนอนที่หรูหราและมักใช้เวลาว่างไปกับการล่าสัตว์และขี่ม้า
2
ผู้บังคับบัญชาหลายนายคิดว่าหากเพิ่มกำลังคนและปืนใหญ่เข้าไปยังแนวหน้า ชัยชนะก็จะเป็นของฝั่งตน ซึ่งแนวคิดนี้มีแต่จะทำให้เสียกำลังพลโดยใช่เหตุ
1
ค.ศ.1916 (พ.ศ.2459) นายพล “เอริช ฟ็อน ฟัลเคินไฮน์ (Erich von Falkenhayn)” ผู้บัญชาการทหารฝ่ายเยอรมนีได้คิดแผนการที่จะโจมตีป้อมปราการของทัพฝรั่งเศสที่แวร์เดิง
ฟัลเคิลไฮน์คาดหวังว่ากองทัพฝรั่งเศสจะนำกำลังส่วนมากไปรักษาป้อมปราการที่นั่น และกองทัพเยอรมันก็จะโจมตีด้วยปืนใหญ่
เอริช ฟ็อน ฟัลเคินไฮน์ (Erich von Falkenhayn)
แวร์เดิงนั้นเป็นกับดักที่จะฆ่าทหารฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี ตรงตามที่ฟัลเคินไฮน์คาด
การสู้รบที่แวร์เดิง
ในยุทธการนี้ มีทหารนับแสนถูกฆ่า แต่ฝ่ายฝรั่งเศสก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ และฝ่ายเยอรมนีก็ยังไม่สามารถบุกได้ ทำให้ต่อมา ฟัลเคินไฮน์ถูกย้าย และได้มีการให้ “พอล ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค (Paul von Hindenburg)” มาบังคับบัญชาแทน
1
พอล ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค (Paul von Hindenburg)
ในขณะที่เยอรมนีกำลังวุ่นกับการสู้รบที่แวร์เดิง จอมพล “ดักลาส เฮ๊ก (Douglas Haig)” ผู้บัญชาการทหารฝั่งสหราชอาณาจักรก็ได้เตรียมการจะบุกขึ้นไปทางเหนือให้ถึงแม่น้ำซอมม์ ซึ่งท่านจอมพลคาดว่าหากทำสำเร็จ หนทางที่จะเอาชนะเยอรมนีก็จะยิ่งใกล้เข้ามา
1
ดักลาส เฮ๊ก (Douglas Haig)
เฮ๊กสั่งให้กองทัพระดมยิงปืนใหญ่ใส่ฝั่งศัตรูเป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์เต็มๆ ก่อนจะหยุดในเวลา 7.30 ของวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1916 (พ.ศ.2459)
ท่ามกลางความเงียบสงัด ทหารของเฮ๊กได้ปีนออกจากสนามเพลาะของฝั่งตนเพื่อไปโจมตีศัตรู
เฮ๊กมั่นใจในแสนยานุภาพของกองทัพตนเอง การระดมยิงกว่าสัปดาห์ต้องทำให้ทหารฝ่ายศัตรูล้มตายทั้งกองทัพแน่ และกองทัพสหราชอาณาจักรก็จะทำการยึดครองอาณาบริเวณของเยอรมนี ก่อนที่กองทัพทหารม้าสหราชอาณาจักรจะบุกเข้าไปยังใจกลางเยอรมนี
แต่ที่จริงแล้วทหารเยอรมันนั้นได้หลบซ่อนอย่างปลอดภัยอยู่ในบังเกอร์และที่ซ่อนใต้ดิน และขณะที่กองทัพสหราชอาณาจักรได้ข้ามเขตกึ่งกลางสมรภูมิ ทหารเยอรมันก็โผล่ตัวจากที่ซ่อนและระดมยิงกองทัพสหราชอาณาจักร
เพียงแค่วันแรก มีทหารเสียชีวิตกว่า 20,000 นาย บาดเจ็บอีกกว่า 40,000 นาย และภายในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1916 (พ.ศ.2459) ทหารอีกกว่าพันนายก็ได้เสียชีวิต
แต่ถึงจะพ่ายแพ้ยับเยิน เฮ๊กก็ยังไม่ยอมแพ้ ปีต่อมา เฮ๊กได้ส่งกำลังไปบุกยึดเรือดำน้ำเยอรมันที่บริเวณชายทะเลเบลเยี่ยม แต่ผลการรบนั้นจบลงด้วยหายนะ ทั้งฝนที่ตกหนักและปืนใหญ่ที่ระดมยิงได้เปลี่ยนสนามรบให้กลายเป็นบึงโคลนขนาดใหญ่
1
การรบที่ซอมม์นั้นเป็นไปอย่างดุเดือด มีรายงานว่าเคยมีการระเบิดครั้งหนึ่งที่เสียงดังไปไกลถึงลอนดอนเลยทีเดียว
4
ข่าวการรบที่ดุเดือดนี้ได้ทำให้ประชาชนที่สมาชิกในครอบครัวได้ออกรบ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ พี่น้อง สามี ต่างเฝ้ารอข่าวสงครามอย่างใจจดใจจ่อ ในทุกๆ วัน ประชาชนจะคอยอ่านรายชื่อผู้เสียชีวิตในหนังสือพิมพ์พร้อมภาวนาขออย่าให้มีชื่อของญาติพี่น้องหรือคนที่ตนรัก
ในช่วงต้นสงคราม ผู้คนยังไม่ค่อยตระหนักถึงผลกระทบของสงคราม แต่ในบางประเทศนั้นผู้คนได้รับผลกระทบอย่างโหดร้าย
เยอรมนีได้ทำการเผาบ้านเรือนในเบลเยี่ยม อีกทั้งยังทำการประหารประชาชนชาวเบลเยี่ยมอีกจำนวนมาก และในค.ศ.1915 (พ.ศ.2458) กองทัพจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีได้บุกเซอร์เบียพร้อมทำการขับไล่ชาวเซอร์เบียออกนอกประเทศ
ทหารเยอรมันทำการประหารชาวเบลเยี่ยมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
นอกจากนั้น เรือรบเยอรมันก็ได้ทำการโจมตีเมืองชายทะเลของสหราชอาณาจักรและเรือเหาะเซ็พเพอลีน (Zeppelin) เรือเหาะเยอรมันก็ได้ทำการทิ้งระเบิดใส่เมืองต่างๆ
เรือเหาะเซ็พเพอลีน (Zeppelin)
นักการเมืองต่างทราบดีว่าประชาชนในเมืองเองก็มีความสำคัญต่อชัยชนะเช่นกัน กองทัพจำเป็นต้องมีเสบียงจำนวนมาก รวมทั้งกระสุนปืนและอาวุธ และนี่ก็คือหน้าที่ของคนงานในการผลิตส่งให้แก่ทหารที่ออกไปรบ
ในหลายๆ ประเทศ ผู้ชายต้องไปเกณฑ์ทหาร และเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงจำนวนมากต้องไปทำงานในโรงงานเพื่อผลิตอาวุธและกระสุนส่งให้แนวหน้า
คนงานผลิตกระสุนปืนใหญ่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือขวัญกำลังใจของผู้คน ตามท้องถนนในเมืองต่างๆ เต็มไปด้วยโปสเตอร์ปลุกใจ เชิญชวนให้ผู้ชายเข้าร่วมกับกองทัพและอธิบายว่าทำไมประเทศถึงต้องชนะสงคราม
นอกจากโปสเตอร์ปลุกใจตามเมืองต่างๆ ช่างภาพของทางการที่ถูกส่งไปบันทึกภาพในสนามรบก็จะคอยส่งภาพถ่ายจากสนามรบที่แสดงถึงภาพลักษณ์วีรบุรุษของทหารในสงคราม
โปสเตอร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1
นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์ก็ได้เขียนบทความเชียร์ประเทศตนเอง และจดหมายจากทหารที่ส่งกลับบ้านก็จะถูกสแกนก่อนส่งให้ญาติพี่น้อง หากในจดหมายที่ส่งกลับมานั้นได้เปิดเผยรายละเอียดในสนามรบมากเกินไป เจ้าหน้าที่ก็จะทำการลบรายละเอียดบางส่วน
ผู้คนในเมืองแทบไม่ทราบถึงความจริงเลยว่าชีวิตของทหารในสนามรบนั้นแย่แค่ไหน
1
นอกจากนั้น ผู้คนในเมืองเองก็หวาดระแวงว่าในบรรดาคนเดินถนนร่วมประเทศกับตน อาจจะมีสายลับของชาติศัตรูปะปนอยู่
ในเยอรมนี ผู้คนจากประเทศสัมพันธมิตรจะถูกจับกุม รวมทั้งมีกฎหมายใหม่ๆ เกี่ยวกับการเข้าถึงการใช้โทรศัพท์ของผู้คนอีกด้วย และใครก็ตามที่ถูกสงสัยว่าเป็นสายลับก็จะถูกจับกุม
สายลับที่แทรกซึมอยู่ในประเทศต่างๆ ได้ส่งแผนการของชาติศัตรูกลับไปยังประเทศตนโดยใช้รหัสลับ
ใบเตือนประชาชนจากรัฐบาลให้ระวังสายลับต่างชาติ
ที่ลอนดอน รัฐบาลอังกฤษได้จัดตั้งทีมงานเพื่อแกะรหัสของฝั่งเยอรมนี โดยทีมงานนี้ประกอบด้วยนักคณิตศาสตร์ นักแปล รวมทั้งแชมป์ที่ชนะเลิศการแข่งขันอักษรไขว้
สงครามนี้จะจบลงอย่างไร โลกต้องประสบกับอะไรอีกบ้าง รออ่านต่อตอนหน้านะครับ
โฆษณา