Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หลงไปในประวัติศาสตร์ by หมอเอ้ว ชัชพล
•
ติดตาม
9 ต.ค. 2019 เวลา 11:49 • ประวัติศาสตร์
แผนที่(คนตาย) ที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์การแพทย์
เรื่องราวที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจบลงภายใน 10 วัน
แต่เป็น 10 วันที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์การแพทย์ไปอย่างสิ้นเชิง
เป็น 10 วันที่จะทำให้ในภายหลังคนหลายร้อยล้านคนไม่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
เรื่องราวของ 10 วันที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์นี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 6 โมงเช้าของวันที่ 28 สิงหาคม คศ.1845
ซาราห์ ลิวอิส (Sarah Lewis) คงนึกไม่ถึงว่า สิ่งที่เธอทำในเช้าวันนั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของโลก เพราะสิ่งที่เธอทำเป็นกิจวัตรประจำวันที่ธรรมดามากๆ
สิ่งที่เธอทำมีเพียงแค่ นำกระโถนอึของลูกไปเททิ้งที่บ่อน้ำทิ้งหน้าบ้านเท่านั้นเอง ....
1.
ลอนดอนเมื่อ 160 ปีที่แล้วแทบไม่มีอะไรที่เหมือนลอนดอนที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้
ลอนดอนเป็นเมืองแรกในประวัติศาสตร์โลกที่มีประชาชนอาศัยอยู่ร่วมกันแตะ 2.5 ล้านคน
และด้วยความที่เมืองโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้มีการวางแผนใดๆไว้ก่อน
ลอนดอนจึงเป็นเมืองที่สกปรกและแออัดมาก
ลอนดอนในเวลานั้นยังไม่มีระบบประปาหรือท่อน้ำทิ้งที่ดีอย่างเมืองในยุคใหม่
ลอนดอนจึงไม่สามารถรับมือกับของเสียที่ออกมาจากร่างกายหรือผลิตขึ้นมาจากคนนับล้านได้
ให้เห็นความแออัดในบางบริเวณของลอนดอน
ถ้าคุณเป็นชาวลอนดอนยุคนั้น เมื่อคุณขับถ่ายเสร็จ คุณมีทางเลือกที่จะกำจัดของเสียหลายทางด้วยกัน
1
ทางเลือกหนึ่งคุณอาจจะเททิ้งลงไปในบ่อใต้ถุนบ้านแล้วหวังว่ามันจะซึมหายไป (ซึ่งไม่ค่อยจะซึมเท่าไหร่) หรือ
นำไปเทในบ่อของเสียใกล้ๆ บ้าน (ซึ่งมักจะเต็ม)
ถ้าขี้เกียจจริงๆ ก็อาจจะแอบสาดลงไปบนถนนหน้าบ้านเลยก็ยังได้ (เพราะยังไงถนนก็เต็มไปด้วยอึม้าหนาเป็นฟุตอยู่แล้ว)
แต่การสาดไปบนถนนหน้าบ้านคุณต้องดูให้แน่ใจว่าไม่มีคนเดินผ่านมาพอดี ไม่เช่นนั้น เขาอาจจะฟ้องร้องคุณโทษฐานที่คุณสาดอุจจาระหรือปัสสาวะใส่เขาก็ได้ (เกิดขึ้นบ่อยพอที่จะทำการฟ้องร้องเรื่องนี้เป็นหนึ่งในคดีที่มีการฟ้องร้องมากที่สุด )
เดิมทีเดียวตอนที่ลอนดอนยังไม่ใหญ่มากนัก มีคนกลุ่มหนึ่งประกอบอาชีพที่เรียกว่า Nightman
ทำหน้าที่ขนสิ่งปฏิกูลจากในตัวเมืองไปยังชานเมือง เพื่อนำทำเป็นปุ๋ยสำหรับไร่นา
แต่เมื่อเมืองขยายตัวใหญ่ขึ้น ระยะทางจากใจกลางเมืองไปยังชานเมืองเริ่มไกลจนขนส่งลำบาก
อีกทั้งต่อมามีการซื้อมูลนกหรือมูลค้างคาวจากต่างประเทศมาใช้เป็นปุ๋ยมากขึ้น คนทำอาชีพ nightman จึงลดลงเรื่อยๆ
ผลที่ตามมาคือ .... อุจจาระล้นเมือง
2.
วันที่ 28 สิงหาคม ปีค.ศ. 1845 เป็นวันที่ อากาศร้อนมากที่สุดวันหนึ่ง
2
ขณะที่ชาวลอนดอนส่วนใหญ่ยังคงหลับไหล
ทารกวัย 5 เดือนของครอบครัว ลิวอิส (Lewis) ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 40 ถนน Broad Street
ก็เริ่มป่วยด้วยอาการอาเจียน และถ่ายเหลวเป็นน้ำหลายครั้ง
1
Sarah Lewis ผู้เป็นแม่ จึงต้องล้างผ้าอ้อมของลูกสาว โดยการนำผ้าอ้อมที่เปื้อนอุจจาระไปแช่น้ำไว้
เมื่อมีจังหวะว่างจากการดูแลลูก ก็รีบนำถังน้ำที่เปื้อนอุจจาระไปเททิ้งในบ่อน้ำทิ้งที่ตั้งอยู่หน้าบ้าน
ย่าน โซโห (Soho) ของลอนดอน ในค.ศ. 1854 เป็นบริเวณที่มีคนจนอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดของลอนดอน และด้วยความที่คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เมื่อมีโรคติดต่อเกิดขึ้นก็มักจะระบาดไปอย่างรวดเร็ว
หลังจากที่หนูน้อย Lewis เริ่มป่วยเป็นคนแรกในเวลา 6 โมงเช้า
เมื่อถึงช่วงบ่ายๆของวันนั้น ก็พบมีชาวบ้านย่านโซโหป่วยเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก
ทุกคนเริ่มต้นป่วยด้วยอาการคล้ายๆกันคือ
ปวดท้อง อาเจียน แล้วตามด้วยถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีกลิ่นเหม็น
ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ก็มีคนป่วยด้วยอาการคล้ายกันเพิ่มเป็นหลายสิบคน
เมื่อ 24 ชั่วโมงแรกผ่านไป จำนวนคนที่เสียชีวิตจากโรคนี้ ก็ขึ้นไปถึง 70 คน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อหิวาตกโรคระบาดในลอนดอน หมอทั้งหลายจึงคุ้นเคยกับโรคนี้ดี
แต่หมอในยุคนั้นยังไม่รู้ว่าอะไรคือสาเหตุของโรคนี้ อย่าว่าแต่ไม่รู้สาเหตุเลยครับ
ยุคนั้นยังไม่มีคำว่า “เชื้อโรค” เสียด้วยซ้ำ
แม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะมีนักวิทยาศาสตร์ที่เคยเห็นแบคทีเรียผ่านกล้องจุลทรรศน์กันบ้างแล้วแต่
ความคิดที่ว่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่มองด้วยตาไม่เห็นจะทำอันตรายมนุษย์ที่ตัวใหญ่กว่าหลายเท่าได้เป็นความคิดที่คล้อยตามได้ยาก
1
ทฤษฎีหลักที่เชื่อกันทั่วไปในวงการแพทย์ยุคนั้นคือ โรคอหิวาต์ (รวมถึงโรคอื่นๆ) เกิดจากอากาศพิษซึ่งมีชื่อว่าทางการแพทย์ว่า “มิแอสมา" (miasma)
1
การรักษาที่หมอนิยมใช้เพื่อรักษาโรคอหิวาต์จึงเป็นไปตามกรอบความคิดของยุคนั่นคือ
เจาะเลือดทิ้งเพื่อปรับสมดุล (ทั้งๆ ที่คนไข้แห้งน้ำ) ให้กินเปเปอร์มินต์ และมอร์ฟีน
1
3.
หมอจอห์น สโนว์ (Dr. John Snow) เองก็ไม่ต่างไปจากหมอในยุคเดียวกันที่เชื่อในทฤษฏี miasma
1
John Snow ที่ไม่ใช่ night's watch
แต่จากประสบการณ์ที่เคยรักษาผู้ป่วยอหิวาต์ในการระบาดครั้งก่อนๆ
ทำให้เขาเชื่อว่าโรคอหิวาต์เป็นโรคที่ติดต่อทางระบบทางเดินอาหาร
เขาให้เหตุผลว่า โรคนี้อาการหลักจะเป็นเรื่องของถ่ายเหลว และอาเจียนดังนั้นถ้าโรคจะติดต่อระหว่างกัน ก็น่าจะติดต่อผ่านทางการกินเข้าไป
ไม่ใช่สูดหายใจเข้าไปทางจมูกตามทฤษฎีของอากาศพิษ
และตัวกลางที่ทำให้โรคส่งต่อจากคนหนึ่งไปยังคนอื่น น่าจะผ่าน น้ำที่ดื่มเข้าไป
ดังนั้นหากสามารถหาต้นตอของแหล่งน้ำที่เป็นสาเหตุได้ เขาก็จะสามารถระงับการระบาดครั้งนี้
และด้วยกรอบความคิดที่ต่างไปนี้
หมอสโนว์ จึงตัดสินใจเดินทางเข้าไปสำรวจย่านแห่งความตายที่ผู้คนหวาดกลัวนั้นด้วยตัวเอง
เขาเคาะประตูบ้านแถบนั้นทุกหลัง เพื่อทำการสัมภาษณ์ และจดบันทึกข้อมูลการเจ็บป่วยอย่างละเอียด
คำถามที่สำคัญสุดคือ เขาถามถึงแหล่งน้ำดื่มที่คนป่วยและคนไม่ป่วยดื่มว่ามาจากที่ไหน
จากนั้นก็จดบันทึกตำแหน่งของบ่อน้ำที่อยู่ในระยะเดินถึงทั้งหมด 13 แห่งลงไปบนแผนที่
และแทนคนตายของแต่ละบ้านด้วยแถบสีดำ หนึ่งแถบดำต่อหนึ่งศพ
1
แผนที่นี้จึงเป็นแผนที่แสดงตำแหน่งของคนตาย และบ่อน้ำที่พวกเขาดื่ม
บริเวณไหนที่มีสีดำหนาแน่น คือ บริเวณที่มีศพหนาแน่นมากที่สุด
เมื่อแผนที่ถูกวาดเสร็จ ตำแหน่งของมัจจุราชที่คร่าชีวิตคนไปอย่างมากมายก็ถูกเผยออกมา
ในบ่อน้ำทั้งหมด 13 แห่ง มีบ่อน้ำที่น่าสงสัยเพราะอยู่ในขอบเขตของคนตาย อยู่ 5 บ่อด้วยกัน
แต่ในบ่อน้ำทั้ง 5 แห่งนี้ มีบ่อน้ำหนึ่งตั้งอยู่ตรงกลางของบริเวณที่ดำเข้มที่สุดของแผนที่
บ่อน้ำนั้นคือ บ่อน้ำที่ถนน Broad Street
4.
อย่างไรก็ตามข้อมูลบนแผนที่นั้นก็มีข้อแย้งหลายข้อ ที่ทำให้สงสัยว่าการระบาดของโรคอหิวาต์อาจไม่ได้เกิดจากบ่อน้ำที่ Broad Street เช่น
ใกล้ๆ กับบ่อน้ำแห่งนั้นมีโรงบ่มเบียร์ที่มีคนงานเป็นร้อยคนแต่มีคนป่วยแค่ 5 คนเท่านั้น
ถ้าบ่อน้ำนั้นเป็นต้นเหตุจริง ทำไมคนงานนับร้อยๆคนจึงไม่ป่วย
ใกล้กับบ่อน้ำยังบ้านพักคนยากที่มีคนมาพักอาศัยหลายร้อยคน
แต่คนที่บ้านพักแห่งนั้นกลับมีคนป่วยเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
และที่น่าสงสัยสุดคือมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคอหิวาต์คนหนึ่งเธอเป็นหญิงม่ายอายุ 59 ปีชื่อ ซูซานน่า อีลี่ (Susannah Eley)
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ ซูซานน่า อีลี่ อาศัยอยู่ทางเหนือของลอนดอน ห่างไกลจากบ่อน้ำที่ Broad Street หลายกิโลเมตร
ถ้าบ่อน้ำนี้เป็นสาเหตุของโรคระบาด แล้วซูซานน่า อีลี่ ป่วยจนเสียชีวิตได้อย่างไร?
หมอสโนว์จึงลงไปตรวจสอบในรายละเอียดแล้วเขาก็พบว่า ข้อแย้งเหล่านี้กลับกลายมาช่วยสนับสนุนสมมติฐานของเขาให้แข็งแรงมากขึ้น
ในกรณีแรก เขาค้นพบว่าคนงานที่โรงงานบ่มเบียร์นิยมที่จะดื่มเบียร์แทนน้ำ
ดังนั้นแทบไม่มีใครไปดื่มน้ำจากบ่อน้ำเลย
ในกรณีที่สอง เขาพบว่าที่บ้านพักคนยากจนแห่งนั้นมีบ่อน้ำเป็นของตัวเอง
ทำให้ผู้พักอาศัยไม่ต้องไปใช้น้ำจากบ่อที่ Broad Street
และที่ชัดเจนที่สุดคือ กรณีของ ซูซานน่า อีลี่
เมื่อหมอสโนว์ไปสัมภาษณ์ลูกชายของซูซานน่า เขาก็ค้นพบรายละเอียดที่สำคัญข้อหนึ่งคือ
ซูวานน่าเพิ่งจะย้ายออกไปจากโซโหเมื่อหลายเดือนก่อน
แต่นางชอบรสชาติของน้ำดื่มจากบ่อที่ Broad Street มากลูกชายจึงนำน้ำบรรทุกเกวียนส่งไปให้แม่ดื่มแทบจะทุกวัน
คำให้การของลูกชายนี้จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ค่อนข้างชัดเจนว่า โรคอหิวาต์ที่ระบาดนี้เกิดจากการดื่มน้ำที่ Broad Street
ดังนั้น ถ้าต้องการหยุดการระบาดของโรค ก็ต้องหยุดการดื่มน้ำที่บ่อน้ำมรณะแห่งนี้
5.
เมื่อได้ข้อสรุปดังนี้
หมอสโนว์จึงขอร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐถอดก้านจับสำหรับปั๊มน้ำที่บ่อน้ำถนน Broad Street ออก เพื่อไม่ให้มีใครนำน้ำในบ่อไปใช้ได้
แม้ว่าในช่วงแรกเจ้าหน้าที่ของรัฐจะลังเลเพราะไม่เชื่อว่าโรคจะระบาดผ่านน้ำได้
แต่เพราะคิดว่าถึงสมมติฐานจะผิดก็ไม่มีอะไรจะเสีย จึงยอมถอดก้านจับออกในวันรุ่งขึ้น
หลังจากนั้นไม่นานโรคอหิวาต์ที่ระบาดมาต่อเนื่องเป็นเวลา 10 วันและคร่าชีวิตคนในพื้นที่เล็กๆไม่ถึง 2 ตารางกิโลเมตรของโซโหไปมากกว่า 600 คน ก็สงบลงอย่างรวดเร็ว
และนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่โรคอหิวาต์สามารถคุกคามชาวลอนดอนได้
ในปีค.ศ. 1866 หรืออีก 21 ปีต่อมา โรคอหิวาต์ก็กลับมาเยือนอังกฤษอีกครั้ง แม้ว่าหมอสโนว์จะเสียชีวิตไปแล้ว 8 ปี แต่ด้วยหลักการรับมือกับโรคระบาดที่หมอสโนว์วางไว้ ทำให้สามารถควบคุมโรคร้ายไม่ให้แพร่ระบาดได้ดังเช่นครั้งก่อนๆ
6.
ทุกวันนี้แม้ว่าโรคอหิวาต์จะไม่ใช่โรคที่เราหวาดกลัวเท่าในอดีต
แต่ในยุคของเราก็มีโรคร้ายอื่นๆ อย่างเช่น โรค AIDS โรค SARS หรือ โรค MERS
และเมื่อใดก็ตามที่สงสัยว่าจะมีการระบาดของโรคติดเชื้อเกิดขึ้น
1
คำถามแรกที่นักระบาดวิทยาอยากรู้คือ
จุดเริ่มต้นของการระบาดอยู่ที่ไหน? ผู้ป่วยคนแรกหรือ patient zero คือใคร?
หลังจากนั้นแผนที่ของคนตาย ซึ่งคล้ายกับที่หมอจอห์น สโนว์เคยวาดไว้
ก็จะถูกวาดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ...
(Ads)
ชอบเรื่องราวประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์การแพทย์เช่นนี้ อย่าลืมอ่าน สงครามที่ไม่มีวันชนะนะครับ
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์
https://www.lazada.co.th/shop/chatchapolbook/
หรือ
https://shopee.co.th/cthada
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆพร้อมเพิ่มเติมได้ที่
https://www.blockdit.com/historybychatchapol
หรือ
www.facebook.com/HistoryByChatchapol
ถ้าชอบเป็นคลิปวีดีโอ (เน้นประวัติศาสตร์) ติดตามได้ที่
https://www.youtube.com/chatchapolbook
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน
อ่านบทความอื่นๆโดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
www.facebook.com/chatchapolbook
110 บันทึก
625
65
80
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
โรคระบาด
ประวัติศาสตร์การแพทย์
110
625
65
80
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย