8 ต.ค. 2019 เวลา 14:08 • ประวัติศาสตร์
ความตายของสาวเรืองแสง
กระดูกขากรรไกของหญิงสาวที่เสียชีวิต
1.
ณ.สุสาน Rosedale มลรัฐนิวเจอร์ซีย์ ปีค.ศ.1928
ชายกลุ่มหนึ่งเดินเข้าไปในสุสาน
จากนั้นพวกเขาแยกย้ายไปคนละทาง
แต่ละคนเดินไล่อ่านชื่อบนหลุมศพไปเรื่อยๆ
ในที่สุดพวกเขาก็พบป้ายชื่อที่พวกเขาตามหาอยู่
Amelia Maggia เสียชีวิตลงในขณะที่มีอายุเพียงแค่ 24 ปี​ในใบมรณะบัตรระบุไว้ว่าเธอเสียชีวิตด้วยโรคซิฟิลิส
แต่คนกลุ่มนี้ไม่เชื่อว่าสิ่งที่ระบุไว้ในในมรณะบัตรจะเป็นเรื่องจริง
พวกเขาจึงมาขุดศพเธอกันในวันนี้
เมื่อโลงศพถูกยกขึ้นมาจากใต้ดินและฝาโลงที่ปิดไว้กว่า 5 ปีถูกเปิดออก
พวกเขาก็เห็นศพและบางส่วนของโลงไม้เรืองแสงออกมา​พวกเขารู้ทันทีว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นคืออะไร
พวกเขารู้ทันทีว่า อะมีเลีย หรือที่เพื่อนๆรู้จักในชื่อมอลลี่ ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคซิฟิลิส
แต่เป็นสารเรืองแสงนั้นต่างหากที่คร่าชีวิตของอะมีเลียและหญิงสาวอีกหลายคน
2.
โรงงาน USRC หรือ United States Radium company ก่อตั้งขึ้นหลังจากที่อเมริกาประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1ได้ไม่นาน
ปัญหาหนึ่งที่ทหารชาวอเมริกันต้องเผชิญระหว่างการรบคือ พวกเขาไม่สามาถมองเห็นหน้าปัดนาฬิกาในยามค่ำคืนได้ชัด
1
กลยุทธ์ในการรบหลายครั้งจำเป็นจะต้องมีการนัดหมายเวลาที่แม่นยำจึงจะปฏิบัติการได้สำเร็จ
1
ดังนั้นความสามารถในการมองเห็นนาฬิกาข้อมูลจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ​ แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรบ
ครั้นจะเปิดไฟเพื่อส่องดูนาฬิกา ก็อาจจะโดนส่องยิงจากข้าศึกที่รู้ตำแหน่งจากไฟฉายได้
ย้อนเวลากลับไปไม่กี่ปีก่อนหน้า นักวิจัยชาวอเมริกันเพิ่งจะค้นพบว่า แร่เรเดียมเมื่อผสมกับสีและโลหะบางชนิด
จะให้ของเหลวที่สามารถเรืองแสงได้
เมื่อนำของเหลวนี้ไปทาอะไรก็ตาม สิ่งนั้นจะเรืองแสงทำให้เห็นได้ชัดในที่มืด
บริษัท USRC มองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามนี้ จึงนำสารเคมีนี้ไปทาบนหน้าปัดนาฬิกา
3.
ด้วยความที่หน้าปัดนาฬิกามีขนาดเล็ก
มือที่มีขนาดเล็กจึงเหมาะสำหรับงานมากกว่า
หญิงสาววัยรุ่นซึ่งมีมือเล็กจำนวนมากจึงยินดีสมัครไปทำงานที่บริษัท USRC
นอกเหนือจากรายได้ที่ดีกว่าทำงานโรงงานอื่นๆประมาณ 3 เท่าแล้ว งานที่พวกเธอทำยังเหมือนได้มีส่วนร่วมในการช่วยทหารอเมริกันทำสงคราม
และที่สำคัญคือ พวกเธอจะได้ทำงานกับแร่เรเดียมที่เป็นของหายาก
และมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก(ขณะนั้น)
เทคนิคในการทาสีที่โรงงานแนะนำเพื่อให้ได้ลายเส้นที่บางและคม คือ
หลังจากที่จุ่มพู่กันลงไปในสารเคมีผสมเรเดียมแล้ว ให้นำพู่กันนั้นมาทำให้ปลายแหลม ด้วยการ “เม้มปลายพู่กันด้วยริมฝีปาก"
แร่เรเดียมเป็นสินค้าราคาแพง ที่มีแต่คนรวยเท่านั้นที่จะเข้าถึง
ความรู้ในยุคนั้นเชื่อกันว่า การได้รับแร่เรเดียมในปริมาณน้อยๆจะดีกับสุขภาพ​ ถึงขั้นที่ว่า เรเดียมกลายเป็นคำสำคัญสำหรับการตลาดระดับพรีเมี่ยม
น้ำดื่มผสมเรเดียมคือน้ำดื่มสุขภาพราคาสูง
เครื่องสำอางค์ที่ผสมเรเดียมเป็นเครื่องสำอางค์ราคาแพง
ชื่อของเรเดียมถูกนำไปแปะสินค้าต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เนยผสมแร่เรเดียม ยาสีฟันผสมเรเดียม รวมไปถึง บ่อแช่ตัวผสมเรเดียมก็สามารถพบได้ในสปาไฮโซบางแห่ง
ภายในโรงงานมีฝุ่นของสารเคมีที่มีกัมมันตภาพรังสี ลอยฟุ้งไปทั่ว
ฝุ่นเหล่านี้จึงลอยไปติดส่วนต่างๆของร่างกาย
ตั้งแต่ผมบนศีรษะ แขนขา เสื้อผ้า และยังเข้าลึกไปจนถึงชุดชั้นในได้
แต่การปนเปื้อนฝุ่นที่มีสารกัมมันตรังสี กลับกลายเป็นสิ่งที่ต้องการ​เพราะเมื่อพวกเธอเดินกลับบ้านหลังเลิกงานในยามค่ำคืน ร่างกายของพวกเธอจะเรืองแสงสวยงาม
2
หญิงสาวบางคนแอบทาสารเคมีนี้ที่ฟัน เพื่อให้รอยยิ้มของเธอสว่างขึ้นในความมืด หญิงสาวหลายคนถือโอกาสใส่ชุดราตรีสวยๆ มาทำงานเพื่อให้ฝุ่นเหล่านี้เกาะติดตามเสื้อผ้า เมื่อถึงเวลาที่เธอใส่ชุดสวยนี้ไปออกเดท หรือไปเต้นรำ ชุดเหล่านี้ก็จะเรืองแสงสวยงามไม่ต่างจากเจ้าหญิงในเทพนิยาย
แรกทีเดียวมีหญิงสาวหลายคนกังวลถึงความปลอดภัยของการอมปลายพู่กันที่มีสารเคมีผสมเรเดียม แต่ผู้จัดการโรงงานก็ยืนยันว่า สิ่งนี้ไม่เป็นอันตราย อย่าได้กลัวอะไรไปเลย
1
แต่ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้คือ ทุกงานวิจัยที่พบว่า แร่เรเดียมจำนวนน้อยดีต่อสุขภาพ ล้วนมาจากบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการขายแร่เรเดียมเกือบทั้งหมด
3
4.
เบื้องหลังแล้ว​ ทางบริษัทรู้ดีว่า สารเคมีผสมเรเดียมนี้ ไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่พวกเขาบอกกับคนงาน
5
นักวิทยาศาสตร์ของบริษัท พยายามหลายครั้งที่จะเตือนผู้บริหารว่า การนำปลายพู่กันไปแตะที่ปากเช่นนี้ อาจจะมีอันตรายต่อร่างกายได้
แต่ผู้บริหารก็ไม่ใส่ใจคำเตือนเหล่านั้น เพราะวิธีการใช้ริมฝีปากแต่งปลายพู่กันให้เรียวเล็กนั้นเป็นวิธีการที่ถูกและประหยัดเรเดียมมากที่สุด
5.
มอลลี่เป็นหญิงสาวคนแรกที่เสียชีวิต
มอลลี่เริ่มทำงานที่โรงงานเมื่อเธอมีอายุได้ 19 ปี
ในวันที่เธอเสียชีวิตนั้น เป็นเวลาห้าปีหลังจากเธอได้เริ่มงานที่โรงงาน
แรกทีเดียว มอลลี่ คิดว่าอาการปวดฟันไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรมาก
แต่หลังจากหมอฟันถอนฟันซี่แรกทิ้งไป
อาการก็ไม่ได้หยุดแค่นั้นแต่ลามไปยังฟันซี่ถัดไปและซี่ถัดไป​
หมอที่รักษา ก็ไม่รู้ว่ามอลลี่ป่วยเป็นโรคอะไร
อาการดูเหมือนภาวะติดเชื้อในช่องปากอะไรสักอย่าง​แต่รักษายังไง โรคก็ยังลามไปเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว
3
หมอต้องถอนฟันออกไปซี่แล้วซี่เล่า
แต่เหมือนจะไม่ช่วยชะลอการลุกลามของโรคได้เล​ย
ยิ่งไปกว่านั้นบาดแผลที่เกิดจากการถอนฟันซึ่งควรจะหายไปเองก็ไม่ยอมหาย แต่กลับลุกลามใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ
ต่อมาแผลนั้นเกิดเป็นหนองลุกลามเข้าไปในกระดูกขากรรไกร
แล้วอาการก็เริ่มกระจายไปนอกช่องปาก
มอลลี่เริ่มมีอาการปวดแขนขา
หมอที่รักษาก็แน่ใจว่าอะไรเป็นสาเหตุ
แต่ก็ให้การวินิจฉัยว่าเธอป่วยเป็นโรคข้ออักเสบและทดลองรักษาด้วยยาแอสไพริน
ในช่วงเวลานั้นฟันของเธอหักจนเกือบจะหมดปากแล้ว
หนองในกระดูกขากรรไกรลุกลามไปทั่วกระดูกขากรรไกรบนและล่าง​
มีครั้งหนึ่งขณะที่หมอคลำช่องปากเพื่อประเมินว่าโรคลุกลามไปถึงบริเวณไหนแล้วบ้าง​กระดูกขากรรไกรบนก็หักคามือหมอออกมา
ไม่กี่วันถัดมากระดูกขากรรไกรล่างก็หักออกมาเช่นกัน
วันหนึ่งในอีกไม่กี่เดือนถัดมา
โดยไม่มีเหตุนำมาก่อน เลือดปริมาณมากก็ไหลพรั่งพรูออกมาจากปากของมอลลี่
เลือดที่ออกมามีจำนวนมากและเร็วเกินกว่าหมอและพยาบาลจะห้ามเลือดได้ทัน
มอลลี่จึงเสียชีวิตลงในวันที่ 12 กันยายน ค.ศ 1922 หลังจากที่ป่วยเรื้อรังมากว่าสองปี
ในมรณะบัตร แพทย์ความเห็นไว้ว่ามอลลี่เสียชีวิตจากโรคซิฟิลิส ....
มอลลี่ เป็นแค่ผู้ป่วยรายแรกเท่านั้น ไม่นานหลังจากมอลลี่เริ่มป่วย เฮเลน, ไอรีน, แคทเธอรีน, เฮเซล และอื่นๆอีกหลายคน ก็เริ่มป่วยตามๆกันมา
หลังจากนั้นไม่นานการพยายามฟ้องร้องบริษัทก็เริ่มต้นขึ้น
6.
ช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น
ในอเมริกาไม่มีใครรู้จักสิ่งที่เรียกว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ดังนั้นแม้ว่ารัฐจะรู้ว่างานนั้นอันตราย แต่รัฐก็ไม่มีอำนาจที่ไปสั่งห้ามหรือเอาผิดกับโรงงานได้
ทางบริษัท USRC ก็หาทางปฏิเสธและเลี่ยงความรับผิดชอบอยู่หลายปี
มีการใช้วิธีหลากหลายเพื่อเลี่ยงไม่ให้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น เช่น
ให้เงินกับหมอเพื่อให้หมอลงการวินิจฉัยว่าหญิงสาวเหล่านี้ป่วยเป็นโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อย่างซิฟิลิส
เพราะโรคเหล่านี้มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี
เมื่อสื่อและประชาชนได้ฟังว่าหญิงสาวเสียชีวิตจากซิฟิลิส
สังคมก็จะตัดสินไปว่าหญิงสาวเหล่านี้ไม่น่าเห็นใจ
3
มีการใช้เงินและเส้นสาย เพื่อหาทางเลื่อนคดี
มีการจ้างพยานผู้เชี่ยวชาญให้เดินทางไปที่อื่นเป็นเวลาหลายๆเดือน โดยหวังว่าจะให้เหยื่อเสียชีวิตไปก่อนที่กระบวนไต่สวนจะเริ่มขึ้น
มีการซื้อหรือขู่ทนายเพื่อไม่ให้รับว่าความให้กับเหยื่อเหล่านี้
มีการปลอมแปลงรายงานของแพทย์
1
ในฝั่งของผู้เสียหาย วิธีการหนึ่งจะต่อสู้ได้
คือหาหลักฐานว่า อาการป่วยที่เกิดขึ้นนั้นมีต้นเหตุมาจากแร่เรเดียม
การไปขุดหลุมศพ มอลลี่ เพื่อมาชันสูตรจึงเป็นสิ่งจำเป็น
กระดูกของมอลลี่ถูกนำไปปั่นเป็นผงเพื่อตรวจหาสารกัมมันตรังสี
และสิ่งที่พบจากการตรวจคือ
ในกระดูกเกือบทุกส่วนของร่างกายมีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าปกติ
มอลลี่ ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคซิฟิลิส แต่เสียชีวิตจากรังสี
7.
เมื่อไม่สามารถยื้อคดีได้อีกต่อไป
บริษัท USRC ก็ตัดสินใจที่จะเจรจาให้มีการยอมความและจ่ายค่าชดใช้เพื่อไม่ต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาล สุดท้ายบริษัท USRC ก็ต้องปิดตัวลงในปี 1941 เนื่องจากไม่สามารถหาคนงานที่กล้ามาทำงานให้กับโรงงานได้เพียงพอ
1
แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะผ่านมาแล้วเป็นร้อยปี
แต่เพราะแร่เรเดียมมีค่าครึ่งชีวิตยาวประมาณ 1,600 ปี​
ทุกวันนี้ศพของหญิงชาวอเมริกันจำนวนมากจึงนอนเรืองแสงอยู่ใต้ดินโดยไม่มีใครรู้
และศพของหญิงสาวเหล่านี้จะยังคงเรืองแสงต่อไปอีกนานนับพันๆปี
เนื้อหา นำมาเล่าย่อๆจากหนังสือสองเล่มคือ
The Poisoner's Handbook โดย Deborah Blum
The Radium Girls โดย Kate Moore ครับ
2
(Ads)
ชอบประวัติศาสตร์​วิทยาศาสตร์การแพทย์เช่นนี้ อย่าลืมอ่านหนังสือ สงครามที่ไม่มีวันชนะ​
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
คลิปวีดีโอ (เน้นประวัติศาสตร์) https://www.youtube.com/chatchapolbook
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน
1
โฆษณา