27 ก.พ. 2020 เวลา 02:19
บริหารทรัพย์สินที่ไม่ดี (รายได้หลายช่องทาง EP24)
แท้จริงแล้ว เราควรบริหารทรัพย์สินที่ดี ให้เป็นบวกเสมอ
แต่ถ้าเรายังมีทรัพย์สินที่ไม่ดี ติดพันเยอะแยะ ก็จะทำให้เราอืดอาด ก้าวหน้าช้า
โอกาสที่จะไปถึงจุด Financial Freedom อิสระภาพทางการเงิน จะนานยิ่งขึ้น
บริหารทรัพย์สินที่ไม่ดี
เราจึงต้องกำจัด "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" ให้ได้เสียก่อนก่อน ดังต่อไปนี้
1. หยุดซื้อ "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" เพิ่ม
2. เปลี่ยน "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" ให้กลายเป็น "ทรัพย์สินที่ดี"
3. ขาย "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" ทิ้งไป
*** หยุดซื้อ "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" เพิ่ม ***
เปรียบเสมือนกับ การหยุดไม่ให้เลือดไหล
อย่าพึ่งคิดไปลงทุนเพิ่ม หรือบริหารทรัพย์สินให้เป็นบวกมากขึ้น
ถ้ายังไม่หยุดความฟุมเฟือย หยุดการลงทุนแบบโง่ๆ หยุดการแยกแยะไม่ออกว่า อะไรคือการพนัน/อะไรคือการลงทุน อะไรคือความอยาก/อะไรคือปัจจัยชีวิต
เราต้องหยุดพฤติกรรมเยี่ยงนี้ให้ได้ก่อน เหมือนการห้ามเลือดก่อนรักษาร่างกายส่วนอื่น
EP23 ที่ผ่านมา อธิบายถึง "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" ว่าคืออะไร ก็เพื่อให้เราตระหนัก ให้เราระมัดระวังอย่าเผลอไปซื้อหรือลงทุนเพิ่มใน "ทรัพย์สินที่ไม่ดี"
บทเรียนหรือผลกระทบที่เราครอบครอง ทรัพย์สินที่ไม่ดี มีอะไรบ้าง
1. เราไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า มีไว้เฉยๆ จอดไว้เฉยๆ เก็บไว้เฉยๆ
2. มีภาระค่าใช้จ่าย เช่น ค่าดูแล ค่าต่อภาษี ค่าๆๆ (ชีวิตมีค่า ....ใช้จ่าย)
3. ต้องจัดหาที่เก็บ โรงรถ ห้องเก็บของ ข้าวของรกไปหมด
4. ยิ่งนานวัน ยิ่งเก่า ยิ่งด้อยค่า อยู่ไปก็เสื่อมสภาพไปวันๆ
5. เคยเห่อ เคยหลง ซื้อมาทำไมก็ไม่รู้ตอนนั้น ไม่ได้มีความจำเป็นจริงๆ
ทุกๆครั้ง ก่อนจะจ่ายเงินลงทุน หรือลงแรง ในสิ่งนั้น ขอให้ทบทวนก่อนว่า
1. สิ่งนั้น จะสร้างรายได้ ใช่หรือไม่?
2. สิ่งนั้น จะมีค่าใช้จ่าย น้อยกว่ารายได้ ใช่หรือไม่?
3. สิ่งนั้น เราไม่ต้องใส่ใจดูแลมาก (จัดการง่าย) ใช่หรือไม่?
4. สิ่งนั้น ยิ่งนานวัน ยิ่งเพิ่มมูลค่า ใช่หรือไม่?
5. สิ่งนั้น จำเป็นกับชีวิตเราแค่ไหน ถ้าไม่มีเราจะตายมั้ย, จำเป็นใช่หรือไม่?
ถ้าคำตอบคือ ใช่ 3 ใน 5 ข้อขึ้นไป ก็ถือว่าเป็น "ทรัพย์สินที่ดี"
แต่ถ้าคำตอบคือ ใช่ น้อยกว่านั้น น่าจะเป็น "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" ให้ตัดใจ
หยุดซื้อ หรือหยุดลงทุนในสิ่งนั้น
*** เปลี่ยน "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" ให้กลายเป็น "ทรัพย์สินที่ดี" ***
หากเราพลาด ไปมี "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" มาอยู่กับตัวแล้ว แล้วคิดได้ในภายหลัง
เราต้องพยายามเปลี่ยน "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" ให้กลายเป็น "ทรัพย์สินที่ดี" ให้ได้
อย่าไปหวังลมๆแล้งๆ "ว่าสักวันมันคงจะดีขึ้นมาเอง" เราต้องลงมือลงแรงจัดการกับมัน
ยกตัวอย่าง อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า
- บ้านพักตากอากาศ หรือบ้านหลังที่ 2 หรือบ้านหลังต่อๆไป
"สมบัติที่เราไม่ได้ใช้ มันก็ไม่ใช่สมบัติของเรา" หากเราเป็นอะไรไป หรือเมื่อเวลาผ่านไป ทรัพยากรในโลกจะถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ
อย่าไปยึดติดกับของรักของหวง อย่าไปยึดติดกับสมบัติที่รัก
หาคนมาเช่าให้ได้ เพื่อสร้างรายได้ ให้ผู้เช่ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆเอง เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่ายาม ไฟฟ้า ปะปา ภาษีโรงเรือน เป็นต้น
ถ้าหาผู้เช่าไม่ได้จริงๆ และเป็นบ้านทำเลไม่ดี (มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้น สู้กับ ค่าเสื่อมตัวบ้านไม่ได้) ยิ่งเก็บบ้านนี้ไว้นานก็ยิ่งด้อยค่า แนะนำให้ตัดสินใจ ขายทิ้ง
- หอพัก เสื่อมโซม หรือสร้างไม่เสร็จ จึงไม่สามารถสร้างรายได้ เท่าที่ควร
การกู้ยืมเพื่อมาลงทุน โดยที่ดอกเบี้ยเงินกู้ ต้องน้อยกว่า ค่าเช่าเพิ่มที่มาจากการซ่อมแซมหรือต่อเติมที่กู้ยืมมา (เจ้าของหอพักต้องคำนวนให้ดี)
การกู้เงินเพื่อการลงทุน เพื่อเปลี่ยน "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" ให้กลายเป็น "ทรัพย์สินที่ดี" จึงเป็นสิ่งที่เหมาะสม
ยกตัวอย่าง กิจการหรือธุรกิจที่ขาดทุน
หมายถึง กิจการหรือธุรกิจที่มีรายได้แล้ว เพียงแต่รายได้ยังไม่ สูงกว่า ค่าใช้จ่าย จึงทำให้ขาดทุนทุกเดือนโดยเฉลี่ย
ย้ำคำเดิม "อย่าไปหวังลมๆแล้งๆ ว่าสักวันมันคงจะดีขึ้นมาเอง เราต้องลงมือจัดการเอง"
การเปลี่ยน "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" ให้กลายเป็น "ทรัพย์สินที่ดี" จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
เจ้าของทรัพย์สิน เจ้าของธุรกิจ ต้องตั้งใจมุ่งมั่นทำให้สำเร็จ
และเนื่องจากเราทุกคนมีข้อจำกัด ทั้งเวลาและต้นทุนชีวิต เราควรเลือกเปลี่ยน ทรัพย์สินไม่เกิน 2 รายการ เพื่อจะได้โฟกัส และตั้งใจทำให้ประสบความสำเร็จ
ส่วนที่เหลือให้ขายทิ้ง หรือจะเก็บไว้ก่อนถ้าภาระดูแลจัดการไม่เยอะ/มีค่าเสื่อมช้า
*** ขาย "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" ทิ้งไป ***
เปรียบเสมือนกับ Cut Loss ในการลงทุนซื้อขายหุ้น
ตามที่กล่าว ถ้าไม่ไหวจะเปลี่ยนให้เป็น "ทรัพย์สินที่ดี" ก็ขายทิ้งซะ
หรือ ยิ่งเก็บทรัพย์สินนั้นไว้นาน ก็ยิ่งด้อยค่า ก็ขายทิ้งซะ
มีภาระการจัดเก็บดูแลมากเกินไป ก็ขายทิ้งซะ
การขายทรัพย์สินในยุคนี้ สะดวกและง่ายกว่าแต่ก่อนมาก
แต่ก่อนนั้น ต้องผ่านนายหน้า
ขายได้ช้าหรือเร็ว ก็แล้วแต่นายหน้า ขายได้ถูกหรือแพง ก็แล้วแต่นายหน้า
ทั้งการเช็คราคา เช็คความต้องการ โพสท์ขายสินค้า ตกลงซื้อขาย รวมถึงการจัดส่ง
ยุคนี้ สะดวกขึ้นด้วย E-Commerce และ/หรือ Marketplace ไม่ว่าจะเป็น Facebook, LINE, Instragram, Kaidee, Shoppee, Lazada เป็นต้น
การขายทิ้งซะ เหมือนกับการตัดขายขาดทุน Cut Loss ของหุ้นเน่าๆ
ขายซะวันนี้ ก่อนจะไม่เหลืออะไรให้ขาย
การขายทิ้งซะ ประโยชน์ที่ได้คือ ยังเหลือเงินสดไปลงทุนในทรัพย์สินที่ดี
แต่ประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าคือ เป็นบทเรียนให้หยุดซื้อ "ทรัพย์สินที่ไม่ดี" เพิ่มอีก
(เจ็บแล้วจำคือคน เจ็บแล้วทนคือ....)
EP ถัดไป จะนำเสนอ การบริหารทรัพย์สินที่ดี นะครับ
สนใจการสร้างรายได้ในแบบต่างๆ
โปรดติดตาม รายได้หลายช่องทาง EP ต่อไป
ได้ที่ Blockdit: www.blockdit.com/worklifewinwin

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา