11 ต.ค. 2019 เวลา 13:24 • สุขภาพ
โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคที่หมอส่วนใหญ่เคยเกือบพลาด
โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นชนิดของโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุด
พบเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในคนไทย
ที่คนส่วนใหญ่เรียกกันสั้น ๆ ว่าโรคหัวใจ โดยทั่วไปมักจะหมายถึงโรคหลอดเลือดหัวใจนี่แหละ
1
โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นโรคที่หลาย ๆ ครั้ง อาจจะมีอาการไม่ชัดเจน
แต่ถ้าวินิจฉัยผิดพลาด อาจจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ จึงต้องพึงระวังเสมอในคนไข้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือด เช่น ผู้สูงอายุ มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันเลือดสูง สูบบุหรี่
โรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่ เกิดจากมีไขมันไปเกาะที่ผนังของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจทำให้หลอดเลือดนี้ตีบลง เลือดไหลผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ลดลง
เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายตามมา
คนไข้มักจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก เหมือนโดนบีบหรือโดนทับ อาจจะมีอาการเหนื่อยหอบ ใจสั่น เหงื่อออก ร่วมด้วย
ณ ER กลางดึก
คนไข้ชาย สูงอายุมีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
มาตรวจเนื่องจากปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่
คนไข้ : ปวดท้องมากเลยหมอ จุก ๆ แน่น ๆ สงสัยโรคกระเพาะอ่ะ
หมอ : เดี๋ยวขอตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจดูนิดนึงนะครับ
คนไข้ : ตรวจทำไมอ่ะหมอ ?
1
คนไข้โรคหลอดเลือดหัวใจบางราย อาการแน่นหน้าอกอาจจะไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในคนไข้สูงอายุ คนไข้เบาหวาน อาจจะมีอาการแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่คล้ายกับโรคกระเพาะ
ดังนั้นถ้าคนไข้มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสูง ก็ควรจะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจดูด้วย
1
*** นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมบางครั้งเป็นโรคกระเพาะ แต่หมอดันตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ***
ไม่ได้ตรวจผิดนะ แต่คนไข้บางคนก็หาว่าตรวจเว่อร์ จะฟันเงิน 😑
คนไข้ที่ปวดใต้ลิ้นปี่เหมือนโรคกระเพาะ แต่สาเหตุจริง ๆ เป็นจากโรคหลอดเลือดหัวใจ พบได้บ่อยมาก
เรียกได้ว่าหมอที่ไปใช้ทุนเกือบทุกคนเคยเจอ
ที่เคยเจอเอง คนไข้บางคนเดินมาตรวจได้เหมือนคนปกติ
แต่แค่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเสร็จ กำลังเขียนใบส่งตัว ก็เกิดหัวใจหยุดเต้นกะทันกัน 😱
แถมเจอรายนึง บอกว่าปวดแสบ ๆ ใต้ลิ้นปี่ มา 1 สัปดาห์
ทั้งลักษณะปวดแสบ ทั้งระยะเวลาเป็นนาน 1 สัปดาห์ จากประวัติ ยังไงก็โรคกระเพาะ
แต่พอตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ยังกลายเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ 😑
1
หลังจากตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
คนไข้ : ผลตรวจหัวใจเป็นไงครับ?
หมอ : คลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติครับ
คนไข้ : แสดงว่าไม่มีโรคหัวใจ
หมอ : ตอนตรวจยังมีอาการแน่นหน้าอกอยู่มั้ยครับ?
แม้ว่าผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ คนไข้ก็ยังมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ครับ
การตรวจขณะที่ไม่มีอาการ ไม่ได้การันตีว่าคนไข้ไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
โดยทั่วไปแล้ว อาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
จะเกิดเมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างน้อย 70% ขึ้นไป การตีบแค่ 50%
ไม่ได้ทำให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ และไม่ทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
1
แต่เวลาเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลับ หลอดเลือดไม่ได้ค่อยๆ ตีบ จาก 50 -> 60 -> 70 -> 80 -> 90 ->100%
แต่มักจะเริ่มจากตอนที่ตีบราวๆ 50% แล้วไขมันที่สะสมที่ผนังหลอดเลือดมีการแตกออก เหมือนการเกิดแผล แล้วมีลิ่มเลือดเกิดขึ้น (คล้ายกับการเกิดสะเก็ดแผล) ทำให้การตีบจาก 50% เพิ่มเป็น 100% ทันที !!!
คนไข้หลาย ๆ คน จึงไม่มีอาการใด ๆ เตือน
เคยเจอเคสหนึ่ง เพิ่งตรวจสุขภาพ คลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ
แล้วประมาณ 1 สัปดาห์ต่อมาก็หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 😢
*** ดังนั้น การบอกว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ ไม่ได้การันตีว่าจะไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ***
แต่ต้องดูอาการและปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย ถ้าอาการก้ำกึ่งและมีปัจจัยเสี่ยง
ชวนให้สงสัยโรคหลอดเลือดหัวใจ ถึงแม้คลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ ก็อาจจะต้องทำการตรวจวิธีอื่นเพิ่มเติม
1
วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจที่ดีที่สุด คือการควบคุมปัจจัยเสี่ยง ควบคุมความดัน เบาหวาน ไขมัน หยุดบุหรี่
ไม่ใช่รอให้เกิดอาการแล้วค่อยมาควบคุม
เพราะอาจจะถึงแก่ชีวิตตั้งแต่เกิดอาการครั้งแรกก็ได้
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา