14 ต.ค. 2019 เวลา 10:30
Modern China History 2
"อาณาจักรแห่งความสงบอันยิ่งใหญ่ดุจสวรรค์ หรือ กบฏไต้ผิง"
ในช่วงศตวรรษที่ 19 เนื่องด้วยความอ่อนแอของราชวงศ์ จึงทำให้ชาวต่างชาติเข้ามารุกรานประเทศจีนเกิดข้อตกลงที่ทำให้จีนเสียเปรียบอย่างมากต่อชาวต่างชาติอย่างที่ผมได้เล่าไปในตอนที่แล้ว ทั้งนี้ยังส่งผลทำให้เกิดความแตกแยกภายในประเทศ เพราะว่า ในช่วงนั้นประชากรคนจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พลเมือง ในช่วงปี ค.ศ. 1800-1850 ทั้งหมด 400 ล้านคน แต่เทคโนโลยียังคงไม่พัฒนาตาม การผลิตยังคงเหมือนเดิมมาตั้งแต่ต้นราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นราชวงศ์ปกครองสมัยนั้นที่ปกครองโดยชาวแมนจู (ผูกเปีย) นอกจากนั้นยังเกิดปัญหาคอรัปชั่นของข้าราชการท้องถิ่นทำให้รายได้เข้าสู่ท้องพระคลังน้อย กลุ่มที่ฐานะดีก็พยายามสร้างอิทธิพลกับข้าราชการทำให้เกิดการเลี่ยงภาษีได้ สุดท้ายภาระทางด้านภาษีก็ตกมาที่ชาวไร่ชาวนาผู้ยากไร้ ซึ่งไม่มีแม้ที่ดินทำกิน จนสุดท้ายเมื่อชาวนาพวกนี้ไม่มีทางเลือกจึงต้องกลายเป็นโจรออกปล้นทรัพย์เกิดปัญหาสังคมตามมา
1
ด้วยเหตุนี้ภายในประเทศจีนสมัยนั้นจึงเกิดกบฏเกิดขึ้นมากมาย กลุ่มที่สำคัญในสมัยนั้นคือ
"กบฏไต้ผิง" ไต้ผิงมีความหมายถึง อาณาจักรแห่งความสงบอันยิ่งใหญ่ดุจสวรรค์
กบฏนี้เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ก่อตั้งขึ้นบริเวณเทือกเขาแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของจีน โดยชายที่อ้างตนว่า เป็นน้องชายคนสุดท้องของพระเยซูและได้ก็ตั้งลัทธิศาสนาหนึ่งที่เชื่อมโยงกับศาสนาคริสเตียน มีผู้คนยอมรับนับถืออย่างแพร่หลาย
กลุ่มนี้ได้ตั้งกองทัพส่วนตัวและเข้าบุกโจมตียึดครองเมืองต่างๆทางภาคเหนือและตะวันออกของลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง และจัดตั้งรัฐบาลที่เมืองนานกิง(เมืองหลวง มณฑลเจียงซู ในปัจจุบัน)ได้สำเร็จในปี ค.ศ.1853 โดยที่รัฐบาลไม่สามารถแย่งคืนมาได้อยู่หลายปี
1
ในระหว่างนั้นรัฐบาลได้จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครของผู้นำท้องถิ่นต่างๆ และฝึกให้มีความสามารถเท่ากองทัพประจำการและส่งไปปราบกลุ่มกบฏไต้ผิงและกลุ่มกบฏอื่นๆได้สำเร็จ โดยมีความช่วยเหลือจากชาวตะวันตกอยู่บ้างเพราะ ชาวตะวันตกมองว่าช่วยฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจดีกว่าฝั่งกบฏซึ่งยังไม่แน่ใจกับชะตากรรมของตัวเอง
รูปภาพแสดงการสู้รับระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกบฏไต้ผิง
บริเวณแรงเงาคือพื้นที่อิทธิพลของกบฏไต้ผิงในสมัยนั้น
ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ผู้นำท้องถิ่นหลายคนกลายมาเป็นผู้มีบทบาทในการนำประเทศชาติในเชิงนโยบายต่างๆ ซึ่งบุคคลที่สำคัญคือ หลี หุง-จาง ซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้ประเทศจีนพัฒนาประเทศตามอย่างตะวันตก ซึ่งผมจะขอเล่าในตอนถัดไปครับว่า ประเทศจีนสมัยนั้นมีรูปแบบการปรับตัวตามอย่างตะวันตกอย่างไร รอติดตามกันนะครับ :)
References:
1.ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ (History of Modern China), รศ.มาตยา อิงคนารถ, ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา