16 ต.ค. 2019 เวลา 06:30 • บันเทิง
ฟังไปแล้ว - Duck งานใหม่ ฟังสนุกของวง Kaiser Chiefs
​ออกอัลบัมแรก Employment มาตั้งแต่ปี 2005 แต่ก่อนหน้าจะมาใช้ชื่อ Kaiser Chiefs พวกเขาก็เคยมีอัลบัมออกมาชุดหนึ่งในนามวง Parva ซึ่งก็ไม่ได้สร้างมรรคผลอันใดให้กับพวกเชามากนัก เท่ากับงานชุดแรกในนามไกเซอร์ ชีฟส์
​เมื่อ Employment ทั้งได้รับคำชมจากบรรดานักวิจารณ์ ทั้งทำยอดขายได้มากถึงกว่า 3 ล้านก็อปปี แถมส่งให้วงได้รับรางวัลบริท อวอร์ดส์ถึง 3 สาขา ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ วงดนตรีอังกฤษยอดเยี่ยม และได้รางวับเอ็นเอ็มอี อวอร์ดส์ในสาขาอัลบัมยอดเยี่ยมอีกด้วย
​หลังจากนั้นพวกเขาก็มีอัลบัมออกมาอีกห้าชุด Yours Truly, Angry Mob (2007), Off with Their Heads (2008), The Future Is Medieval (2011), Education, Education, Education & War (2014), Stay Together (2016) ก่อนจะมาถึง Duck อัลบัมล่าสุดที่เพิ่งวางจำหน่ายไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
​ซึ่งงานทุกชุดล้วนมาพร้อมกับลายเซ็นทางดนตรีที่ชัดเจนของไกเซอร์ ชีฟส์ ที่พวกเขาแสดงให้เห็นตั้งแต่งานชุดแรกเมื่อปี 2005 แล้วด้วยซ้ำ กับดนตรีร็อคที่ฟังคึกคักสนุกสนาน มีบีท ที่ทำให้เต้นรำได้ในแบบเพลงแดนซ์ ซึ่งอาจทำให้หลายๆ คนนึกถึงงานจากวงในตำนานอย่าง The Stone Roses รวมไปถึงวงในแบบนิว เวฟจากยุค 80 หากมาพร้อมกับความแรง กร้าวในแบบร็อคที่มากกว่า
​โดยที่แต่ละอัลบัมก็มีรายละเอียดทางดนตรี หรือว่าเนื้อหาที่ถูกนำเสนอแตกต่างกันไปตามความสนใจของสมาชิกในวง อย่าง The Future Is Medieval ก็จะมีความเป็นงานในแบบเมนสตรีมร็อคมากกว่างานชุดก่อนๆ หน้าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อดูจากซาวนด์เพลงส่วนใหญ่ในอัลบัม
​และกับ Duck อัลบัมชุดใหม่ ไกเซอร์ ชีฟส์ที่ด้วยอายุอานามของวง ถ้าไม่เรียกว่าเป็นวงร็อคยุคใหม่รุ่นใหญ่ ก็เรียกได้ว่าน่าจะเป็นยุคกลางๆ เมื่อนับจากปีแรกที่พวกเขาออกอัลบัมชุดแรกให้ได้ฟังกัน งานของพวกเขาอยู่ในระดับที่เรียกว่า 'อยู่ตัว' ความเป็นวงนิวเวฟแห่งยุค 2000 ยังคงไม่หายไปไหน ที่น่าสนใจก็คือ เนื้องานนั้นฟังอิ่ม และกลมกลืนกันมากกว่างานในยุคแรก ที่ให้ความรู้สึกโฉ่งฉ่างมากกว่า เช่น “Target Market” ที่ฟีลลิงของเพลงนั้น ทำให้นึกถึงงานของ The Police ขึ้นมาในทันที
​แล้วไม่ใช่มีแค่เพลงขาประจำให้ฟังเท่านั้น เพราะถ้าเป็นแบบนี้ ก็คงไม่มีอะไรที่เซอร์ไพรส์สักเท่าไหร่ โดยคราวนี้บรรยากาศในเพลงของไกเซอร์ ชีฟส์ ทำให้รู้สึกถึงงานในแบบบริท-ป็อป จากยุค 90 มากกว่าที่เคยเป็น โดยเฉพาะซาวนด์ของริธีม รวมไปถึงการเรียบเรียงเสียงประสาน และการใช้เสียงร้องของริคกี วิลสัน ที่บางเพลงก็ไม่ต่างไปจากการเอาลักษณะเด่นของดนตรีสองยุคมาผสมผสานกัน เช่น "Wait” เพลงที่อารมณ์ดนตรีอาจจะทำให้นึกถึงงานของ Pulp จากยุค 90 แต่บรรยากาศและจังหวะจะโคนของงาน ก็อาจจะพาย้อนไปไกลถึงยุค 80 ในดนตรีของวงอย่าง Madness ที่ทั้งสองยุคของดนตรี ถูกจับมาเขย่าให้กลมกลืนได้อย่างเนียนสนิท
​โดยที่เนื้อหาในเพลงก็ไม่ใช่งานประโลมโลกย์ หรือสร้างความบันเทิงเป็นปฐม และในคราวนี้ไกเซอร์ ชีฟส์ดูเหมือนจะวางคอนเส็ปท์ไว้กับการบอกเล่าถึงความสวยงามจากอดีต เช่น "Golden Oldies” ที่พูดถึงการกลับไปหาความรู้สึกเก่าๆ จากอดีตผ่านเพลงเก่าๆ หรือเพลงน่ารักๆ ปิดอัลบัม "Kurt VS Frasier (The Battle for Seattle) ก็คือการย้ำเตือนไม่ให้ลืมเลือนบางสิ่งที่เป็นความทรงจำอันสวยงามของอดีต ไม่ว่าจะเป็น เคิร์ท โคเบน หรือว่าฟราเซียร์ เครน ตัวละครจากซีรีส์ Cheers
​ขณะที่ "Record Collection" ซิงเกิลนำอัลบัม วิลสันก็บอกว่า พูดถึงเรื่องของอินเตอร์เน็ทและความวุ่นวายที่อินเตอร์เน็ททำให้เกิดขึ้น เมื่อมันก้าวมาครอบงำชีวิตของเรา โดยที่เราไม่เข้าใจมันดีพอ
​ที่เมื่อรวมกับท่วงทำนองของดนตรี จังหวะโคนที่ชวนให้โยกตัว ปรบไม้ปรบมือ หรือฮัมตามได้ไม่ยาก
Duck อัลบัมที่ยังเป็นงานฉลองอายุทีมลีดส์ ยูไนเต็ดครบร้อยปี ชุดนี้ยังให้ความอบอุ่น ฟังน่ารัก น่าชัง นอกเหนือไปจากความสนุกที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
โดย นพปฎล พลศิลป์ เรื่อง Duck งานใหม่ ฟังสนุกของวง Kaiser Chiefs คอลัมน์ ดนตรีมีเหตุ หนังสือพิมพ์ ไทยโพสท์ วันที่ 9 สิงหาคม 2562
อ่านแล้วชอบ อย่าลืมกดติดตาม และยังมีเรื่องราวมากมายให้อ่านได้ที่ www.sadaos.com และทำความรู้จักกันได้มากกว่านี้ด้วยการกดไลค์เพจ www.facebook.com/Sadaos
เรื่องเล่าชาวร็อค เรื่องกวนๆ แบบเกรียนๆ ของ คีอานู รีฟส์ สมัยยังเล่นดนตรีในนามวง Dogstars เมื่อไปทำแสบในเศกาลดนตรีหนักกะโหลก เขาไปทำอะไร อยากรู้ คลิกอ่านดูได้ >> https://www.blockdit.com/articles/5cda75f8ece3051010696d92
โฆษณา