15 ต.ค. 2019 เวลา 23:22 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 4
ห้าอวัยวะอิน
⑤ไต
ไตมีตำแหน่งอยู่ที่เอวทั้งสองข้าง ดังนั้นจึงมีการกล่าวว่า “เอวเป็นเรือนแห่งไต”
เส้นไตจะเชื่อมกับเส้นกระเพาะปัสสาวะในลักษณะนอกใน (表裡) เป็นธาตุน้ำ มีหน้าที่ในการเก็บสารจิง (主藏精) ควบคุมเรื่องการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ (主發育與生殖) ดูแลน้ำ (主水液) ดูแลการรับลมปราณ (主納氣) ดูแลกระดูก (主骨) ให้กำเนิดไขกระดูก (生髓) เสริมสมอง (充腦) ความสมบูรณ์ปรากฏที่เส้นผม (其華在發) มีทวารเปิดที่หู (開竅於耳) และดูแลทวารทั้งสอง (二陰)
1.การเก็บสารจิง (主藏精) ควบคุมเรื่องการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ (主發育與生殖)
สารจิงเป็นสารพื้นฐานของร่างกายมนุษย์ และก็เป็นสารพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย สารจิงที่เก็บอยู่ที่ไตจะประกอบด้วยจิงที่มีมาแต่กำเนิด และจิงที่มีมาหลังกำเนิด จิงที่มีมาแต่กำเนิดจะได้รับจากบุพการี ส่วนจิงที่มีมาหลังกำเนิดจะได้รับจากการทานอาหาร
สารจิงแต่กำเนิดและหลังกำเนิดจะอยู่แบบอิงอาศัยซึ่งกันและกัน ก่อนที่เราจะกำเนิด สารจิงก่อนกำเนิดจะเป็นเหมือนจิงตั้งต้นให้กับสารจิงหลังกำเนิด และเมื่อเราได้กำเนิดแล้ว สารจิงหลังกำเนิดก็จะคอยเสริมสารจิงก่อนกำเนิดอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
ไตมีความสามารถในการเสริมส่งให้ร่างกายเจริญเติบโต ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยสารจิงที่เก็บซ่อนอยู่ในไตทั้งสิ้น ดังนั้นความเต็มเปี่ยมของสารจิงจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความสามารถในการเจริญเติบโตของร่างกาย คนเราตั้งแต่ยังเด็กยังเล็ก สารจิงเริ่มค่อย ๆ บริบูรณ์ ในยามนั้นจึงเริ่มมีผมและฟันค่อย ๆ งอกเงยออกมา กระทั่งเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สารจิงในไตเปี่ยมล้น ผู้ชายก็จะเริ่มมีอสุจิ ส่วนผู้หญิงก็จะเริ่มมีประจำเดือน ความสามารถในการสืบพันธุ์เริ่มเกิดขึ้น
ตราบกระทั่งเข้าสู่วัยชรา สารจิงในไตเริ่มโรยแรง ความสามารถในการสืบพันธุ์เริ่มอ่อนแรง รูปร่างลักษณะของร่างกายเริ่มเข้าสู่ชราภาพ ผิวหนังเส้นขนผมเผ้าต่าง ๆ เริ่มร่วงโรย สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนว่าสารจิงมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย หากการเก็บสารจิงของไตมีปัญหา แน่นอนว่าย่อมจะกระทบต่อการเจริญเติบโตที่เป็นปกติของร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พลังจิง (精氣) จะประกอบด้วยสารจิงของไต (腎精) และพลังของไต (腎氣) ที่ถูกแปรสภาพมาจากสารจิงของไต (腎精) พลังไต (腎氣) ที่ถูกแปรสภาพมาจากสารจิงของไต (腎精) มีกระบวนการที่เกิดจากไตอิน (腎陰) ถูกอุ่นลอย (蒸化) จากไตหยาง (腎陽) โดยไตอิน (腎陰) และไตหยาง (腎陽) ต่างมีสารพื้นฐานที่มาจากสารจิงที่เก็บซ่อนไว้ในไต ดังนั้นสารจิงของไตจึงประกอบด้วยสองด้านคือพลังอินของไตและพลังหยางของไตนั่นเอง
ไตอินเป็นสารเหลวที่อยู่ในไต มีหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงโครงสร้างต่าง ๆ ภายในไต ส่วนไตหยางคือพื้นฐานของพลังหยางของร่างกายมนุษย์ทั้งหมด มีหน้าที่ในการผลักดันและอบอุ่นอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
หากดูจากหลักการของอินหยางแล้ว จิง (精) คืออิน พลัง (氣) คือหยาง ดังนั้นจึงอาจเรียกได้ว่าสารจิงของไต (腎精) ก็คือไตอิน ส่วนพลังไต (腎氣) ก็คือไตหยาง ไตอินและไตหยางจะมีลักษณะของการดึงรั้งและอาศัยซึ่งกันและกัน และจึงจะทำให้เกิดความสมดุลของร่างกายขึ้น หากยามใดที่ความสมดุลนี้ถูกทำลาย ก็จะทำให้เกิดอาการผิดปกติที่เกิดจากการเสียสมดุลทางอินหยางของไตขึ้น เป็นต้นว่า หากอินอ่อนหยางแรง ก็จะเกิดอาการอบร้อนของห้าใจ (五心煩熱) อาการตัวร้อนหลังเที่ยง (潮熱) และการมีเหงื่อหลังนอน (盜汗) ฝันเปียกในชาย หรือการฝันว่าร่วมเพศในหญิง เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจากไตอินพร่องจนไม่สามารถคุมพลังหยางของไตนั่นเอง
แต่หากเป็นแบบไตหยางพร่องแล้วก็จะเกิดอาการไร้ชีวิตชีวา เอวเข่าเหน็บปวด ขี้หนาวและมีอาการแขนขาเย็น หย่อนสมรรถภาพทางเพศในชาย ไร้บุตรและมดลูกเย็นในหญิง เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการที่ไตหยางไม่มีแรง จึงขาดพลังในการอบอุ่นและผลักดันนั่นเอง แต่สำหรับผู้ที่ไตพร่องแล้วยังไม่มีอาการหนาวเย็นอะไรเป็นที่เด่นชัด โดยทั่วไปจะเป็นเพราะพลังไตไม่พอหรือสารจิงในไตอ่อนแรงนั่นเอง
2.ดูแลน้ำ (主水液)
การดูแลน้ำของร่างกายของไต โดยหลักแล้วจะเกิดจากกระบวนการแปรสภาพ (氣化) ของไตเป็นหลัก หากพลังแห่งการแปรสภาพของไตมีความเป็นปกติ การเปิดปิดของไตจึงจะมีความพอดี
น้ำที่ได้รับจากกระเพาะอาหารจะถูกลำเลียงจากม้าม และได้รับการกระจายจากปอด น้ำส่วนที่เหลือก็จะลงไปที่ไต หลังจากผ่านกระบวนการแปรสภาพจากไตหยางแล้วก็จะแบ่งน้ำออกเป็นขุ่นและใส ส่วนขุ่นจะถูกขับลงสู่กระเพาะปัสสาวะแล้วทำการขับถ่ายออกนอกร่างกายอีกที ในส่วนใสก็จะลอยขึ้นไปที่ปอดแล้วทำการกระจายไปทุกอวัยวะทั่วร่างกาย ในกระบวนการทั้งหมดเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยการแปรสภาพของไตในการผลักดันให้เกิดขึ้นทั้งหมด หากพลังการแปรสภาพของไตเกิดความผิดปกติ การเปิดปิดของไตบกพร่อง ยามนั้นก็จะเกิดอาการตัวบวมน้ำและปัสสาวะขัดข้องเกิดขึ้นได้
3.ดูแลการรับลมปราณ (主納氣)
การรับลมปราณของไตหมายถึงว่าไตมีความสามารถในการช่วยให้ปอดสูดลมหายใจลงล่างนั่นเอง นั่นก็คือปอดดูแลเรื่องการหายใจ แต่ไตจะทำหน้าที่ในการรับลมปราณที่เกิดจากการหายใจนั้น ดังนั้นหากพลังไตเปี่ยมล้น การดึงรับมีความเป็นปกติ เช่นนี้จึงจะทำให้ช่องทางลมของปอดมีความลื่นไหล การหายใจมีความสม่ำเสมอ แต่หากพลังไตอ่อนแรง จึงเสมือนว่ารากฐานคลอนแคลน ไตจึงไร้แรงในการดึงรับ เมื่อนั้นก็จะเกิดอาการหายใจสั้นถี่ขึ้น ซึ่งก็คือหายใจเข้าน้อยแต่หายใจออกเยอะ โดยเฉพาะจะยิ่งมีอาการหนักเมื่อมีการเคลื่อนไหวนั่นเอง
4.ดูแลกระดูก (主骨) ให้กำเนิดไขกระดูก (生髓) เสริมสมอง (充腦) ความสมบูรณ์ปรากฏที่เส้นผม (其華在發)
ไตเป็นที่เก็บแห่งจิง จิงให้กำเนิดไขกระดูก ไขกระดูกอยู่ในส่วนกลางของกระดูก และกระดูกได้รับการหล่อเลี้ยงจากไขกระดูก ดังนั้นเมื่อพลังไตเปี่ยมล้น ไขกระดูกจึงสามารถก่อเกิดได้อย่างต่อเนื่อง กระดูกเมื่อได้รับการหล่อเลี้ยงจากไขที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจะทำให้กระดูกมีความแข็งแรง
แต่หากพลังไตอ่อนพร่อง ไขไม่ได้รับการก่อกำเนิดอย่างเพียงพอ กระดูกจึงไม่ได้รับการหล่อเลี้ยง ดังนั้นจึงเกิดอาการเอวเข่าอ่อนแรง ขาลีบ และการเจริญเติบโตที่บกพร่องขึ้น
ไตเป็นที่เก็บแห่งสารจิง และฟันก็ยังเป็นส่วนเหลือแห่งกระดูก (齒為骨之餘) ดังนั้นฟันจะมีความแข็งแรงหรือไม่ก็มีความเกี่ยวข้องกับไตด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อสารจิงในไตมีความเพียงพอฟันก็จะแข็งแรง หากจิงในไตพร่องฟันก็จะโยกหรือหลุดร่วงลงได้
ในส่วนของไขจะประกอบด้วยไขกระดูกและไขสันหลังสองส่วน ไขสันหลังจะขึ้นสู่สมอง สมองจึงเป็นที่รวมแห่งไขสันหลัง ดังนั้นในหลิงซูจึงกล่าวว่า “สมองเป็นทะเลแห่งไขสันหลัง”
สารจิงและโลหิตเป็นสิ่งที่ก่อเกิดซึ่งกันและกัน หากจิงเปี่ยมล้นโลหิตก็จะเหลือล้น ในส่วนของเส้นผมนั้น เส้นผมจะมีส่วนสัมพันธ์กับโลหิต ดังนั้นโบราณกล่าวว่าเส้นผมเป็นส่วนเหลือของโลหิต (發為血之餘) แม้นเส้นผมจะมีต้นกำเนิดมาจากโลหิต แต่โดยหลักนั้นมีพื้นฐานมาจากพลังไต ดังนั้นจึงกล่าวว่า เส้นผมเป็นส่วนเหลือของโลหิต และไตมีความสมบูรณ์ปรากฏที่เส้นผมนั่นเอง ดังนั้นเส้นผมจะมีความเงางามหรือแห้งกร้าน มีความแข็งแรงหรือหลุดร่วงง่าย ก็ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์ของไตทั้งสิ้น
5.มีทวารเปิดที่หู (開竅於耳) และดูแลทวารทั้งสอง (二陰)
หูที่ดูแลเรื่องของการฟัง โดยหลักแล้วจะต้องอาศัยการหล่อเลี้ยงจากพลังจิงของไต หากสารจิงในไตเปี่ยมล้น ความสามารถในการฟังก็จะชัดเจน หากสารจิงในไตพร่องขาด ยามนั้นก็จะเกิดอาการหูอื้อ หรือความสามารถในการฟังเสื่อมถอยลง
สองทวารที่กล่าวถึงนี้หมายถึงทวารหนักและทวารเบา ทวารหนักหมายถึงรูก้นที่ถ่ายอุจจาระ ส่วนทวารเบาจะหมายรวมถึงอวัยวะที่ขับถ่ายปัสสาวะและระบบการสืบพันธุ์ ดังนั้นหากมีอาการพลังไตพร่อง ยามนั้นก็จะมีอาการปัสสาวะถี่ ปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะขัด ในด้านการสืบพันธุ์ก็จะมีอาการอสุจิเคลื่อน หย่อนสมรรถภาพทางเพศ หลั่งเร็ว มีบุตรยากเกิดขึ้น ในด้านของการอุจจาระนั้นก็จะมีอาการท้องผูก หรือขับถ่ายลำบากเกิดขึ้น
โฆษณา