Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
12 ต.ค. 2019 เวลา 04:20 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 4
ห้าอวัยวะอิน
④ ปอด
ปอดมีตำแหน่งอยู่ที่กลางอก เส้นปอดจะเชื่อมกับเส้นลำไส้ใหญ่ในลักษณะนอกใน (表裡) เป็นธาตุทอง
เส้นลมปราณของปอดจะทะลุทะลวงถึงลำคอ มีทวารเปิดที่จมูก มีตำแหน่งอยู่เหนืออวัยวะทั้งหลาย ดังนั้นปอดจึงถูกเรียกอีกนามหนึ่งว่าฝาดอกไม้ (華蓋) เหตุเพราะปอดมีลักษณะเป็นกลีบ ๆ เมื่อดูแล้วจะมีลักษณะคล้ายช่อกลีบดอกไม้ที่คว่ำลง บวกกับการที่ปอดอยู่เหนืออวัยวะทั้งหมดและปกคลุมอยู่เหนืออวัยวะทั้งหลาย จึงทำให้ปอดดูคล้ายเป็นฝาครอบนั่นเอง
ทั้งนี้ ปอดยังมีหน้าที่ที่ควบคุมลมปราณ (主氣) ดูแลเรื่องการหายใจ (司呼吸) ควบคุมเรื่องการกระจาย (主宣發) เชื่อมโยงกับผิวหนังและเส้นขนที่ภายนอก (外合皮毛) คุมเรื่องการกดลด (主肅降) ปรับช่องทางน้ำให้ลื่นไหล (通調水道) และมีทวารเปิดที่จมูก (開竅於鼻)
1.ควบคุมลมปราณ (主氣) ดูแลเรื่องการหายใจ (司呼吸)
การควบคุมชี่หรือลมปราณ ของปอดนั้นจะครอบคลุมความหมายสองด้านด้วยกันคือ หนึ่ง หมายถึงควบคุมชี่หรือลมปราณที่เกิดจากการหายใจ และสอง การควบคุมชี่หรือลมปราณที่หมุนเวียนอยู่ทั้งร่างกาย ส่วนความหมายของปอดที่ทำหน้าที่ในการดูแลเรื่องการหายใจนั้น เพราะหากเรากลั้นลมหายใจไว้ ปอดก็จะไม่มีการหายใจ เมื่อปอดไม่มีการหายใจ กระบวนการหายใจก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงกล่าวว่าปอดดูแลเรื่องการหายใจ
อนึ่ง ปอดเป็นสถานที่ในการแลกเปลี่ยนลมภายในกับลมภายนอก ลมเสียจากภายในจะถูกขับออกไปด้วยการสูดเอาลมดีจากภายนอกเข้ามา ดังนั้นการสูดเข้าลมดีจึงเป็นตัวทำให้เกิดการหมุนเวียนของลมปราณที่อยู่ข้างในนั่นเอง
การที่ปอดมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย เป็นเพราะปอดมีความเกี่ยวพันกับพลังจงชี่ (宗氣) อย่างแนบแน่น พลังจงชี่คือพลังชนิดหนึ่งที่เกิดจากการรวมกันระหว่างสารอาหารที่เกิดจากการย่อยของร่างกาย รวมเข้ากับลมสะอาดที่ปอดหายใจเข้าจากภายนอก พลังจงชี่จะอยู่ที่ปอด ขึ้นบนไปที่คอหอยเพื่อควบคุมเรื่องการหายใจ จากนั้นจะผ่านไปที่หัวใจปอดและกระจายไปทั่วร่างกายเพื่อรักษาการทำงานปกติของร่างกายต่อไป
ดังนั้น หากปอดทำงานปกติ ลมปราณก็จะลื่นไหล ลมหายใจจะสม่ำเสมอ แต่หากพลังปอดไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เกิดอาการร่างกายอ่อนเพลีย น้ำเสียงแผ่วเบา และลมหายใจถี่สั้นเป็นต้น
2.ควบคุมเรื่องการกระจาย (主宣發) เชื่อมโยงกับผิวหนังและเส้นขนที่ภายนอก (外合皮毛)
การควบคุมเรื่องการกระจายหมายถึง ปอดมีความสามารถในการทำให้พลังเว่ยชี่ และสารจินเยี่ย กระจายไปทั่วร่างกายเพื่อทำหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงผิวหนังและเส้นขน อีกทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อมีความอบอุ่น
ผิวหนังและเส้นขนจะอยู่ที่ผิวกาย เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการปกป้องสิ่งไม่ดีจากภายนอก ซึ่งจะต้องได้รับการหล่อเลี้ยงบำรุงจากพลังเว่ยชี่และสารจินเยี่ย และพลังเว่ยชี่และสารจินเยี่ยจะต้องได้รับการกระจายจากปอด อนึ่ง ปอดดูแลเรื่องการหายใจ อีกทั้งรูขุมขนตามผิวหนังก็ยังมีความสามารถในการกระจายลมเพื่อปรับการหายใจได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้นจึงมีการกล่าวว่า “รูขุมขนก็คือประตูแห่งลม (氣門)” นั่นเอง
เนื่องจากปอด ผิวหนังและเส้นขนมีความเกี่ยวข้องกันในทางชีวภาพ ดังนั้นในทางพยาธิสภาพก็ย่อมจะมีความเกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น พิษร้ายจากภายนอกมักจะแทรกซึมเข้าสู่รูขุมขนแล้วกระทำต่อปอด จึงทำให้เกิดอาการกลัวหนาว ตัวร้อน คัดจมูก ไอ ซึ่งล้วนเป็นอาการที่ลมปราณของปอดมิอาจระบายได้ทั้งสิ้น เมื่อปอดมีความอ่อนแอจนไม่สามารถกระจายสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในยามนั้นไม่เพียงแต่ผิวหนังจะดูแห้งกร้านเท่านั้น หากจะเนื่องด้วยพลังเว่ยชี่ที่ทำหน้าที่ในการปกป้องกล้ามเนื้อผิวหนังให้ความอบอุ่นไม่เพียงพอ จึงทำให้ร่างกายเป็นหวัดได้ง่ายอีกต่างหาก นอกจากนี้ เนื่องจากพลังเว่ยชี่ไม่เพียงพอ ผิวหนังขาดพลังในการควบคุม จึงทำให้เกิดอาการเหงื่อแตก (自汗) ได้อีกด้วย
3.คุมเรื่องการกดลด (主肅降) ปรับช่องทางน้ำให้ลื่นไหล (通調水道)
โดยทั่วไปนั้น หากอยู่บนแล้วลงล่างก็จะลื่น หากอยู่ล่างแล้วขึ้นบนก็จะไหล การขึ้นการลงอย่างเป็นระบบและเหมาะสมจึงจะทำให้การหมุนเวียนของร่างกายมีความลื่นไหล เนื่องจากปอดอยู่ส่วนบนของร่างกาย ดังนั้นลมปราณที่ปอดได้จากการรับลมบริสุทธิ์จากภายนอกจึงควรเป็นการลงเพื่อช่วยกระจายสารอาหารและสารจินเยี่ยให้ลงล่าง ดังนั้นหากปอดสูญเสียความสามารถในการกดลดลงแล้ว ในยามนั้นก็จะเกิดอาการไอ หอบหืด ซึ่งเป็นอาการที่ลมปราณปอดย้อนขึ้นบนนั่นเอง
ในด้านการปรับช่องทางน้ำนั้น หมายถึงปอดมีความสามารถในการปรับสมดุลของน้ำในร่างกาย ซึ่งความสามารถนี้จะเกิดจากความสามารถในการกดลดของปอดนั่นเอง ดังนั้นหากปอดสูญเสียความสามารถในการกดลดลงไปแล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อการกระจายน้ำและการขับถ่าย ยามนั้นก็จะเกิดอาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะน้อย และตัวบวมน้ำขึ้น
4.มีทวารเปิดที่จมูก (開竅於鼻)
เนื่องจากปอดดูแลระบบการหายใจ อีกทั้งจมูกก็ยังเป็นช่องทางของการหายใจอีกด้วย ดังนั้นจมูกซึ่งเป็นช่องทางลมและช่องทางในการรับกลิ่นจึงมีความเกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของปอดอย่างแน่นอน เมื่อพลังปอดอยู่ในสภาพปกติ ความสามารถในการรับกลิ่นก็จะดี แต่หากปอดได้รับการกระทำจากลมเย็นจนทำให้พลังปอดมิอาจระบายออกไปได้นั้น ก็มักจะทำให้เกิดอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล การรับกลิ่นมีปัญหาเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากปอดร้อนก็จะเกิดอาการหอบถี่และปีกจมูกขยับไปมานั่นเอง
ลำคอเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่ทำหน้าที่ที่เกี่ยวกับการหายใจและทำหน้าที่ในการเปล่งเสียง เป็นตำแหน่งที่เส้นปอดเดินผ่าน ดังนั้นการหายใจและการเปล่งเสียงของลำคอจึงเกี่ยวข้องโดยตรงจากการทำงานของปอด ดังนั้นเมื่อปอดเกิดปัญหา จึงมักจะทำให้มีอาการเสียงแหบหรือลำคอเหน็บชาขึ้น
5 บันทึก
4
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตำราฝังเข็ม (針灸學) ภาคทฤษฎี บทที่1-9
5
4
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย