10 ต.ค. 2019 เวลา 01:37 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 4
ห้าอวัยวะอิน
③ม้าม
ม้ามมีตำแหน่งอยู่ที่จงเจียวหรือเดโชกลาง (中焦) เส้นม้ามจะเชื่อมกับเส้นกระเพาะอาหารในลักษณะนอกใน (表裡) เป็นธาตุดิน มีหน้าที่ที่ควบคุมการย่อยและการลำเลียง (主運化) ควบคุมโลหิต (主統血) ควบคุมกล้ามเนื้อ (主肌肉) ดูแลแขนขา (主四肢) ความสมบูรณ์ปรากฏที่ริมฝีปาก (其華在唇) และมีทวารเปิดที่ปาก (開竅於口)
1.ควบคุมการย่อยและการลำเลียง (主運化)
การย่อยและการลำเลียงของม้ามจะครอบคลุมสองด้านด้วยกันคือ การย่อยลำเลียงน้ำและสารอาหาร กับการย่อยลำเลียงน้ำและความชื้น
ในด้านการย่อยลำเลียงน้ำและสารอาหารนั้นจะหมายถึงการย่อยสลายอาหารและน้ำที่กินดื่ม บวกกับการดูดซับและการลำเลียงสารดังกล่าวไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เนื่องจากสารอาหารและน้ำเหล่านี้เป็นสารจำเป็นในการสร้างเลือดลมของร่างกาย การย่อยลำเลียงสารอาหารเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการผลักดันจากม้าม ดังนั้นม้ามจึงถูกยกย่องว่าเป็นต้นธารของการก่อเกิดเลือดลม
หากการลำเลียงของม้ามมีความแข็งแรง ย่อมหมายความว่าการย่อย การดูดซึม และการลำเลียงของม้ามเป็นปกติดี แต่หากการลำเลียงของม้ามเกิดปัญหาติดขัด ยามนั้นก็จะเกิดอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด ถ่ายเหลว เกียจคร้าน ผอมลีบ ซึ่งเป็นอาการทางด้านการย่อยและอาการทางด้านการขาดสารอาหารนั่นเอง
ส่วนในด้านการลำเลียงน้ำและความชื้นนั้น โดยหลักแล้วหมายความว่าม้ามมีหน้าที่ในการหมุนเวียนน้ำในร่างกาย นั่นก็คือเมื่อม้ามทำหน้าที่ในการลำเลียงน้ำและสารอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ม้ามยังจะทำหน้าที่ในการนำของเหลวส่วนที่เหลือลำเลียงขับถ่ายออกนอกร่างกาย และทำให้เกิดความสมดุลของน้ำในร่างกายอีกด้วย ดังนั้นม้ามจึงมีหน้าที่ในการทำให้อวัยวะต่าง ๆ ได้รับการหล่อเลี้ยงจากน้ำ ขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่ในการป้องกันอวัยวะต่าง ๆ ถูกน้ำแช่จนเกิดความชื้นในร่างกายขึ้น
หากม้ามมีปัญหาในการลำเลียง ยามนั้นร่างกายก็จะมีอาการตัวบวมน้ำ ถ่ายเหลว และเสมหะชื้นในร่างกายได้ ดังนั้น การลำเลียงสารอาหารและการลำเลียงน้ำและความชื้นจะมีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน หากม้ามเกิดปัญหาในการลำเลียง อาการทางด้านระบบการย่อยและอาการทางด้านความชื้นก็จะเกิดกับร่างกายพร้อม ๆ กัน
การย่อยและการลำเลียงของม้ามจะเกิดจากการผลักดันของพลังม้าม และคุณสมบัติพิเศษของพลังม้ามจะเป็นแบบยกขึ้นเป็นหลัก (脾氣主升) หากพลังม้ามไม่ยกขึ้น แต่กลับลดลงอีกต่างหาก ยามนั้นก็จะเกิดอาการตาลาย อวัยวะภายในหย่อนย้อย เช่นอาการลำไส้ใหญ่หย่อน มดลูกหย่อน และไส้เลื่อน เป็นต้น
2.ควบคุมโลหิต (主統血)
การคุมโลหิตของม้ามหมายความว่า ม้ามมีความสามารถในการควบคุมโลหิตให้อยู่กับเส้นโลหิตหรือเส้นทางที่โลหิตควรจะเดิน โดยโลหิตจะไม่ล้นไหลออกนอกเส้นทางที่ควรไป ซึ่งความสามารถนี้จะต้องได้รับการผลักดันจากพลังม้าม หากพลังม้ามมีความเพียงพอ เลือดลมในร่างกายก็จะสมบูรณ์ เมื่อเลือดลมมีความสมบูรณ์ ย่อมจะทำให้ม้ามมีพลังที่เหลือล้นในการควบคุมโลหิตให้มีระบบระเบียบได้อีกที แต่หากพลังม้ามอ่อนแรงจนขาดความสามารถในการควบคุมแล้ว โลหิตก็จะเดินออกนอกเส้นทางและเกิดอาการต่าง ๆ เช่น ถ่ายอุจจาระออกเป็นเลือด ตกเลือด หรืออาการจ้ำเขียวตามร่างกาย เป็นต้น
3.ควบคุมกล้ามเนื้อและแขนขา (主肌肉四肢)
การที่ม้ามมีความสามารถในการดูแลกล้ามเนื้อและแขนขา สาเหตุก็เพราะหน้าที่ที่ม้ามได้ทำอยู่นั่นเอง นั่นก็คือหน้าที่ในการลำเลียงและการย่อยอาหารต่าง ๆ เมื่อม้ามสามารถย่อยและลำเลียงอาหารต่าง ๆ ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อนั้นกล้ามเนื้อก็จะได้รับการหล่อเลี้ยง กล้ามเนื้อจะแข็งแรงไม่ผอมลีบ เมื่อกล้ามเนื้อมีพลังจากการหล่อเลี้ยงของสารอาหารต่าง ๆ ของร่างกาย แน่นอนว่าย่อมทำให้แขนขาสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว หามิเช่นนั้น ร่างกายก็จะมีอาการผอมลีบเพลียแรง และมีความรู้สึกเกียจคร้านไม่อยากจะทำอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นแพทย์จีนจึงกล่าวว่า อาการตัวหนักขี้คร้านก็คืออาการป่วยของม้ามนั่นเอง
4.ความสมบูรณ์ปรากฏที่ริมฝีปาก (其華在唇) และมีทวารเปิดที่ปาก (開竅於口)
ความหมายของการที่ม้ามเปิดทวารที่ปากนั้นหมายความว่า ความสามารถในการย่อยและการลำเลียงของม้ามนั้นมีความเกี่ยวข้องกับความอยากอาหารของปาก หากการทำงานของม้ามมีความแข็งแรง เราก็จะมีความรู้สึกอยากอาหารที่ดี กินอะไรก็อร่อยไปหมด แต่หากม้ามมีความสามารถในการลำเลียงที่ด้อย เราก็จะมีความรู้สึกเบื่ออาหาร กินอะไรก็รู้สึกจืดไม่ได้ใจ ทั้งยังจะมีอาการม้ามชื้นที่จะทำให้ปากเหนียว และปากมีรสหวานประกอบอีกเป็นต้น
เนื่องจากม้ามดูแลกล้ามเนื้อ และปากก็ยังเป็นทวารของม้ามอีกต่างหาก ดังนั้นริมฝีปากที่เป็นส่วนหนึ่งของปากย่อมจะสะท้อนความสามารถของม้ามได้เป็นอย่างดี หากม้ามมีพลังในการลำเลียงได้ดี เลือดลมในร่างกายก็จะเหลือล้น ริมฝีปากก็จะเป็นสีชมพูระเรื่อ แต่หากม้ามอ่อนแรง เลือดลมจะพร่องขาด ริมฝีปากก็จะซีดขาวหรือเหี่ยวเฉาดำคล้ำไร้ชีวิตชีวา
โฆษณา