Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อมร ทองสุก
•
ติดตาม
7 ต.ค. 2019 เวลา 11:42 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 4
ห้าอวัยวะอิน
②ตับ
ตับมีตำแหน่งอยู่ที่ชายโครง เส้นตับจะเชื่อมกับเส้นถุงน้ำดีในลักษณะนอกใน (表裡) เป็นธาตุไม้ มีหน้าที่ในการสะสมโลหิต (主藏血) คุมเรื่องการระบาย (主疏泄) ดูแลเส้นเอ็น (主筋) ความสมบูรณ์ปรากฏที่เล็บ (其華在爪) และมีทวารเปิดที่ดวงตา (開竅於目)
1. หน้าที่ในการสะสมโลหิต (主藏血)
หมายถึงตับมีหน้าที่ในการสะสมและปรับปริมาณการหมุนเวียนของโลหิต เนื่องจากปริมาณโลหิตในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมักจะมีการขึ้นลงตามแต่สภาวะทางชีวภาพของร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น หากร่างกายมีการเคลื่อนไหวที่รุนแรงหรือมีกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ร่างกายก็จะเรียกร้องให้มีปริมาณโลหิตหมุนเวียนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น และตับก็จะต้องปล่อยโลหิตที่สะสมอยู่ออกมาหมุนเวียนในระบบร่างกายเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อร่างกายเข้าสู่ภาวะการพักผ่อนหรือนอนหลับ ปริมาณความต้องการโลหิตในร่างกายก็จะลดน้อยลง โลหิตส่วนที่เหลือก็จะถูกเก็บสะสมไว้ในตับ ดังนันตับจึงมีหน้าที่เป็นโกดังของโลหิตนั่นเอง
1
อนึ่ง เนื่องจากตับมีหน้าที่ในการปรับปริมาณการหมุนเวียนของโลหิต ดังนั้นการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายจึงมีความเกี่ยวพันกับตับอย่างแนบแน่น เมื่อตับป่วย การทำหน้าที่ในการสะสมโลหิตของตับก็จะเริ่มเกิดปัญหา เมื่อนั้นย่อมกระทบต่อการทำงานปกติของร่างกาย และจะมีอาการป่วยในทางโลหิตเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเลือดในตับไม่เพียงพอ ก็จะมีอาการตาลาย ตะคริว แขนขาชา หรือปัญหาเรื่องประจำเดือนที่น้อยลงหรือไร้ประจำเดือนในสตรี เป็นต้น
2. คุมเรื่องของการระบาย (主疏泄)
คำว่าระบายมีความหมายว่าการทะลุทะลวงให้เกิดความลื่นไหล เนื่องจากตับคุมเรื่องของการระบาย ดังนั้นตับนอกจากจะมีหน้าที่ในการทำให้ตัวตับมีลมปราณที่ลื่นไหลแล้ว ตับยังมีหน้าที่ในการทำให้การหมุนเวียนแห่งลมปราณของอวัยวะอื่น ๆ เกิดความลื่นไหลอีกด้วย
ดังนั้นหากตับทำหน้าที่ปกติ ตับก็จะมีความสำคัญในการปรับสภาพการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ให้ทำงานอย่างเป็นปกติ แต่ตับเป็นอวัยวะที่ชอบความปลอดโปร่ง เกลียดความอุดอั้น ดังนั้นหากเรามีสภาพจิตใจที่ไม่ปกติจนทำให้ตับเกิดอาการอุดอั้นแล้ว ก็จะทำให้ตับไม่สามารถทำหน้าที่ในการระบายได้ตามปกติ เมื่อนั้นก็จะทำให้เกิดอาการสามด้านด้วยกันคือ
หนึ่ง อาการทางด้านจิตใจ สภาพจิตใจของร่างกายนอกจากจะมีความเกี่ยวข้องกับหัวใจแล้ว ความจริงก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับตับอีกด้วย หากตับที่ทำหน้าที่ในการระบายมีสภาพการหมุนเวียนของลมปราณที่ปลอดโปร่งโล่งสบาย ก็จะทำให้สภาพของเลือดลมมีความเรียบสงบ สภาพจิตใจมีความปลอดโปร่งไม่อุดอู้ แต่หากตับมีสภาพที่อุดอู้ เราก็จะมีสภาพจิตใจที่หงุดหงิด ขี้สงสัยและคิดมาก หรือกระทั่งอาจจะมีอาการเศร้าโศกอยากร้องไห้ หากตับมีลักษณะร้อนแรง เราก็จะมีอาการใจร้อนขี้โมโห ในทางตรงกันข้าม หากเรามีสภาพจิตใจที่ไม่ปกติ สุดท้ายก็จะกระทบต่อการทำงานของร่างกายจนผิดปกติไปด้วยเช่นกัน
สอง อาการทางด้านการย่อย ในการทำหน้าที่ด้านการระบายของตับนั้น ไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่ในการปรับสภาพของเลือดลมให้ปกติราบเรียบ และช่วยปรับการขึ้นลงแห่งลมปราณของกระเพาะม้ามให้ปกติเท่านั้น หากตับยังมีความเกี่ยวข้องกับการหลั่งน้ำดีอีกด้วย ดังนั้นตับจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบการย่อยอาหารอย่างขาดมิได้
สาม อาการทางด้านเลือดลม การหมุนเวียนของโลหิต จำเป็นต้องอาศัยลมปราณในการผลักดัน ดังนั้นโบราณจึงกล่าวว่า ลมปราณเป็นแม่ทัพแห่งโลหิต (氣為血之帥) อันการหมุนเวียนของเลือดลมนั้นจะมีหัวใจและปอดทำหน้าที่ในการควบคุมหลัก แต่ทั้งนี้ก็จะมีตับเป็นผู้ช่วยสำคัญในการระบาย สามส่วนที่ผสานกันอย่างลงตัวเช่นนี้จึงจะทำให้เลือดลมมีการหมุนเวียนปกติไม่อุดอั้น แต่หากตับทำหน้าที่ที่ผิดปกติแล้ว เมื่อนั้นก็จะทำให้การระบายแห่งเลือดลมไม่คล่องโปร่ง ซึ่งจะกระทบต่อการโคจรของโลหิตและทำให้เกิดอาการลมอุดอั้นเลือดอุดตันขึ้น ผู้ป่วยจะเกิดอาการแน่นหน้าอก ปวดสีข้างและชายโครง ปวดประจำเดือน และยังจะมีอาการก้อนเลือดแข็งหรือก้อนลมแข็งตามหน้าท้องอีกด้วย
3. ดูแลเส้นเอ็น (主筋) ความสมบูรณ์ปรากฏที่เล็บ (其華在爪)
เส้นเอ็นจะเป็นตัวยึดเหนี่ยวข้อต่อและกล้ามเนื้อไว้ด้วยกัน จึงเป็นอวัยวะที่มีส่วนในการทำให้การเคลื่อนไหวมีความเป็นปกติ ดังนั้นความเป็นปกติแห่งตับจึงมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นปกติแห่งเส้นเอ็นทั้งร่างกาย เพราะเส้นเอ็นทั้งหมดจำเป็นต้องอาศัยการหล่อเลี้ยงจากตับ ดังนั้นเมื่อตับเกิดอาการบาดเจ็บ เส้นเอ็นขาดการหล่อเลี้ยง ยามนั้นจะเกิดอาการเส้นเอ็นหย่อนอ่อนแรง แขนขาชา การยืดหดแห่งข้อต่อต่าง ๆ มีการติดขัด
หากตับมีอาการร้อนและทำร้ายเอ็นแล้ว ก็จะพบอาการแขนขาเป็นตะคริว เส้นเอ็นยึดจนร่างกายโค้งเป็นรูปคันธนู และกรามหุบแน่นจนมิอาจอ้าปากได้
ส่วนความสมบูรณ์ที่จะปรากฏที่เล็บนั้น หมายถึงว่าเมื่อโลหิตในตับมีความเพียงพอหรือขาดพร่อง ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายแล้ว หากยังจะส่งผลต่อความสมบูรณ์ของเล็บมือเล็บเท้าอีกด้วย หากเลือดในตับเพียงพอ เส้นเอ็นจะมีพลัง เล็บจะมีความแข็งแรง หากเลือดในตับพร่อง เส้นเอ็นจะอ่อนแรง ส่วนเล็บก็จะเปราะบาง เสียรูป สีสันดูเหี่ยวแห้ง หรือกระทั่งมีอาการเล็บแตกได้
4. มีทวารเปิดที่ดวงตา (開竅於目)
ในหลิงซู (靈疏) ได้กล่าวไว้ว่า “พลังจิงของห้าอวัยวะอินและหกอวัยวะหยางล้วนพุ่งไปที่ดวงตาและเป็นจิงให้กับดวงตา (五臟六腑之精氣,皆上注於目而為之精.)” จึงทราบว่าสารจิงของอวัยวะทั้งหมดล้วนไหลไปที่ดวงตาทั้งสิ้น
ดังนั้นอวัยวะทั้งหลายจึงมีความเกี่ยวพันกับดวงตาอย่างขาดมิได้ แต่ที่สำคัญที่สุดจะเป็นตับ เนื่องจากตับทำหน้าที่เก็บสะสมโลหิต ทั้งยังมีเส้นลมปราณที่โยงไปที่ดวงตา ดังนั้นการทำหน้าที่ของตับจะปกติหรือไม่ก็มักจะสะท้อนไปที่ดวงตา ยกตัวอย่างเช่น เมื่อโลหิตของตับไม่เพียงพอ ดวงตาทั้งสองก็จะแห้งขัด หรือมองไม่ชัด หรือกระทั่งมีอาการตาฟาง สำหรับเส้นตับที่ถูกลมร้อนเข้ากระทำ ก็จะทำให้ดวงตาปวดบวมแดงได้
4 บันทึก
7
1
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตำราฝังเข็ม (針灸學) ภาคทฤษฎี บทที่1-9
4
7
1
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย