4 ต.ค. 2019 เวลา 05:04 • สุขภาพ
ตำราฝังเข็มฉบับสมบูรณ์ (針灸學) ภาคทฤษฎี
บทที่ 4
ห้าอวัยวะอิน
①หัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจ
หัวใจมีตำแหน่งอยู่ที่กลางอก เส้นหัวใจจะเชื่อมกับเส้นลำไส้เล็กในลักษณะนอกใน (表裡) เป็นธาตุไฟ มีหน้าที่ที่ควบคุมเส้นโลหิต (主血脈) ความสมบูรณ์ปรากฏที่ใบหน้า (其華在面) เป็นที่สถิตแห่งจิตใจ (主藏神) และมีทวารเปิดที่ลิ้น (開竅於舌)
1. หน้าที่ควบคุมเส้นโลหิตและมีความสมบูรณ์ปรากฏที่ใบหน้า (主血脈 其華在面)
การที่หัวใจดูแลเรื่องเส้นโลหิต สาเหตุเพราะหัวใจเป็นต้นกำเนิดของแรงขับเคลื่อนโลหิตทั้งร่างกาย ยามที่หัวใจมีการบีบเต้นดี เส้นโลหิตก็จะมีพลัง หากหัวใจมีการบีบเต้นอ่อน เส้นโลหิตก็จะมีพลังอ่อน และการที่หัวใจสามารถผลักดันการโคจรโลหิตของทั้งร่างกาย นั่นก็เพราะหัวใจมีพลังแห่งหัวใจ (心氣) หากพลังหัวใจดีพอ หัวใจก็จะสามารถบีบเต้นและส่งโลหิตไปทั้งร่างกายได้อย่างเพียงพอ ดังนั้น เมื่อโลหิตสามารถถูกส่งไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั้งหมดของร่างกาย ชีพจรการเต้นก็จะมีพลังและไม่รัวเร็ว ใบหน้าก็จะดูมีความสดใสแดงเรื่อ แต่หากพลังหัวใจอ่อนลง ชีพจรก็จะอ่อนเล็ก ใบหน้าจะไม่มีความสดใส
2. เป็นที่สถิตแห่งจิตใจ (主藏神)
คำว่าจิตใจ (神) สามารถอธิบายได้สองลักษณะ คือเป็นคำนิยามแบบกว้างและคำนิยามแบบแคบ ในด้านคำนิยามแบบกว้างนั้น คำว่าจิตใจหมายถึงกิริยาท่าทาง หรือบุคลิกที่แสดงออกที่ภายนอก ในด้านคำนิยามแบบแคบนั้น จะหมายถึงเรื่องของกระบวนการความคิดทั้งหมด ในทางปรัชญาการแพทย์จีนจะบอกว่าเรื่องของความคิดมีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออวัยวะหัวใจ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกำลังใจ ความคิดอ่าน ความจำ การนอน ทั้งหมดล้วนมีความเกี่ยวข้องกับหัวใจที่ทำหน้าที่ในการเป็นที่สถิตแห่งจิตใจได้ทั้งสิ้น
3. มีทวารเปิดที่ลิ้น (開竅於舌)
คำว่า “เปิดทวารที่” คำนี้ หมายถึงว่าอวัยวะที่กล่าวถึงนี้จะมีความเกี่ยวพันกับอวัยวะอีกอวัยวะหนึ่ง เช่นหัวใจมีทวารเปิดที่ลิ้นหมายความว่า หัวใจมีความเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับลิ้น โดยลิ้นมีความเชื่อมโยงกับเส้นโลหิต ควบคุมเรื่องของรสชาติและการพูดจา หัวใจจะดีหรือไม่ดีก็จะสะท้อนออกมาที่สภาพการทำงานของลิ้นอีกทางหนึ่ง เป็นต้นว่า ลิ้นมีเนื้อลิ้นสวยงามไหม สัมผัสรสชาติได้ดีไหม การพูดจาคล่องแคล่วไหม ลิ้นมีความอ่อนนุ่มและเคลื่อนไหวอย่างไม่ติดขัดไหมดีไหม และหากหัวใจป่วย อาการทางหัวใจก็จะสะท้อนออกมาที่ลิ้นได้อย่างชัดเจน เป็นต้นว่า เมื่อเลือดไม่เพียงพอ ลิ้นก็จะมีสีซีด เมื่อไฟในหัวใจแรง ลิ้นก็จะเป็นแผลพุพอง ปลายลิ้นแดงจัด เมื่อเลือดมีการอุดอั้น เนื้อลิ้นจะมีลักษณะเป็นสีม่วงหรือมีจุดจ้ำเลือด และก็ด้วยเพราะหัวใจมีความเกี่ยวพันกับลิ้น ดังนั้นโบราณจึงกล่าวว่า “หัวใจมีทวารเปิดที่ลิ้น (開竅於舌)” และ “ลิ้นเป็นต้นกล้าแห่งหัวใจ (舌為心之苗)”
4. เยื่อหุ้มหัวใจ (心包)
เยื่อหุ้มหัวใจเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นเยื่อที่ห่อหุ้มหัวใจเอาไว้ มีเส้นลมปราณที่เชื่อมโยงกับอวัยวะซันเจียว มีความสัมพันธ์กับซันเจียวในลักษณะนอกใน (表裡) เยื่อหุ้มหัวใจจะทำหน้าที่ในการคุ้มครองหัวใจเอาไว้ ดังนั้นเมื่อมีพลังร้ายเข้ากระทบต่อหัวใจ พลังนั้นก็จะกระทบต่อเยื่อหุ้มหัวใจก่อนเป็นอันดับต้น และเมื่อเยื่อหุ้มหัวใจเกิดปัญหา ก็จะแสดงอาการเหมือนดั่งว่าหัวใจก็เกิดปัญหาด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีพิษอุ่นร้อนเข้าสู่ภายใน ก็จะมีอาการสลึมสลือ พูดจาเพ้อเจ้อ เป็นต้น แต่ความเป็นจริงแล้ว เมื่อเยื่อหุ้มหัวใจป่วยก็จะเสมือนหนึ่งว่าหัวใจป่วย เพียงแต่การที่เยื่อหุ้มหัวใจป่วย เยื่อหุ้มหัวใจจะหน้าที่เป็นหนังหน้าไฟรับผลกระทบนั้นก่อน จะไม่ยอมให้หัวใจซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของร่างกายต้องถูกทำร้ายก่อนนั่นเอง
โฆษณา