19 ต.ค. 2019 เวลา 05:00
China Modern History 7
"สภาแห่งชาติครั้งแรก"
เนื่องจากความเกรงกลัวในการสูญเสียเอกราชของประเทศจีน ราชวงศ์แมนจูหรือราชวงศ์ชิงในสมัยนั้นจึงจัดทำโครงการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามอย่างตะวันตกด้วยความจำเป็นอย่างไม่เต็มใจมากนัก เริ่มด้วยการยกเลิกการสอบไล่เพื่อเข้ารับราชการแบบเก่าและหันมาใช้ระบบการศึกษาที่ทันสมัยตามอย่างตะวันตกแทนมีการคัดเลือกนักศึกษาส่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ มีการจัดตั้งกองทัพใหม่ที่ผ่านการฝึกฝนและใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น
มีการปฏิรูปการปกครองให้เป็นรัฐบาลที่ปกครองโดยกฏหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ ในส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดให้มีการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1909 จากนั้นอีก 1 ปี จึงให้มีการจัดตั้งสภาบริหารแห่งชาติขึ้น สมาชิกของสภานี้ครึ่งหนึ่งมากจากการเลือกของสภาบริหารท้องถิ่น และครึ่งหนึ่งมากจากราชสำนักเป็นผู้เลือก
ราชวงศ์ชิง
แต่ด้วยสัดส่วนสมาชิกในสภากึ่งหนึ่งยังเป็นของราชสำนักจึงทำให้ สภาบริหารงานได้อย่างไม่เต็มที่ สมาชิกที่เข้ามาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่มีหน้าที่เพียงแค่เป็นที่ปรึกษาส่วนการตัดสินใจโครงการต่างๆยังเป็นอำนาจของสมาชิกจากราชสำนัก สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งจึงพยายามเรียกร้องให้ราชสำนักโอนถ่ายอำนาจให้เพื่อสภาบริหารแห่งชาติจะได้ทำหน้าที่บริหารงานอย่างเต็มที่เฉกเช่นเดียวกับตะวันตก ข้อเรียกร้องนี้จึงนำมาซึ่งข้อขัดแย้ง ราชสำนักไม่เพียงปฏิเสธแต่ยังห้ามไม่มีการเรียกร้องในเรื่องนี้อีกต่อไป
1
ในประเทศจีนสมัยนั้นมีผู้นำที่มีอำนาจทางการทหารและการปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่สองคน ได้แก่ ชาง ชือ ตุง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมพื้นที่ทางภาคเหนือบริเวณใจกลางลุ่มแม่น้ำแยงซี และอีกคนคือ หยวน ซือ ไข ควบคุมพื้นที่ทางภาคเหนือซึ่งเป็นดินแดนอิทธิพลเก่าของ หลี หุง จาง สองคนนี้ช่วยเหลือและจงรักภักดีต่อราชสำนักมาโดยตลอดแม้กระทั้งตอนกบฏนักมวย แต่ทางราชสำนักของราชวงศ์แมนจูกลับมองว่า สองคนนี้มีอำนาจเกินไป จะเป็นภัยกับราชวงศ์ได้ จึงสั่งปลดตำแหน่งทั้งสองคนนี้เสีย ผลจากการกระทำนี้จึงทำให้ขาดผู้มีอำนาจในท้องถิ่น คอยคุมพฤติกรรมของปัญญาชนที่มีความคิดการปกครองอย่างตะวันตก
1
หยวน ซือ ไข
ผลจากการออกโครงการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยอย่างไม่จริงใจของราชสำนักและการปลดขุนนางผู้มีอำนาจและจงรักภักดีต่อราชวงศ์ออกไป จึงทำให้เกิดการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1911 ขึ้น ภายใต้การนำของท่าน ซุน ยัด เซ็น ซึ่งได้การขนานนามว่า “บิดาแห่งสาธารณรัฐจีน” เรื่องราวการปฎิวัติครั้งนี้จะเป็นอย่างไร จะพลิกหน้าประวัติศาสตร์จีนได้หรือไม่ โปรดติดตามต่อนต่อไปครับผม
ขอบคุณที่ติดตามรับชมครับ :)
1.ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ (History of Modern China), รศ.มาตยา อิงคนารถ, ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา