21 ต.ค. 2019 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) กำแพงแห่งการแบ่งแยกเยอรมนี ตอนที่ 7 (ตอนจบ)
อวสานกำแพงแห่งการแบ่งแยก
ก่อนที่จะมีการสร้างกำแพงเบอร์ลิน ชาวเบอร์ลินตะวันออกหลายคนได้ทำงานที่เบอร์ลินตะวันตก ซึ่งชาวเบอร์ลินตะวันออกเหล่านี้ก็มีรายได้สูงและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
แต่ชาวเบอร์ลินตะวันออกส่วนใหญ่ไม่ได้โอกาสทำงานที่เบอร์ลินตะวันตก และยังคงมีชีวิตที่ยากลำบาก
ชาวเบอร์ลินตะวันออกที่ไม่ได้ไปทำงานที่เบอร์ลินตะวันตกรู้สึกไม่พอใจนักที่บางคนได้ไปทำงานที่เบอร์ลินตะวันตก พวกเขารู้สึกว่าการมีกำแพงก็ดี ทุกคนจะได้เท่าเทียม
นอกจากนั้น กำแพงเบอร์ลินก็ทำให้การเดินทางไปเบอร์ลินตะวันตกนั้นทำได้ยากขึ้น ก่อนหน้านี้ ชาวเบอร์ลินตะวันตกสามารถข้ามมาตะวันออกเพื่อซื้อของใช้จากเบอร์ลินตะวันออกในราคาไม่แพง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน หรือมาทำผม ทำให้ของใช้ในเบอร์ลินตะวันออกเริ่มจะไม่พอและขาดตลาด แต่พอมีกำแพงเบอร์ลิน ชาวเบอร์ลินตะวันตกก็ข้ามมาได้ลำบากขึ้น
และก็ไม่ใช่ว่าชาวเบอร์ลินตะวันออกทุกคนจะต่อต้านระบอบคอมมิวนิสต์ หลายคนคิดว่าประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างเสรีทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นมาเรืองอำนาจ ดังนั้นการปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์น่าจะไม่ทำให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นอีก
1
เบอร์ลินตะวันออก
ในขณะที่เบอร์ลินตะวันออกนั้นดูเก่าและทรุดโทรม เบอร์ลินตะวันตกนั้นกลับคึกคักและสดใส
ห้างร้านผุดขึ้นเต็มไปหมด ของก็ไม่เคยขาด ประชาชนก็ไม่ต้องรอนานเพื่อจะมีรถเป็นของตนเอง ทั้งทหารอังกฤษ ชาวอเมริกัน รวมถึงฝรั่งเศสต่างก็จัดงานเลี้ยงสนุกสนาน บาร์และไนท์คลับต่างๆ ก็เปิดเพลงที่กำลังฮิตในอเมริกา
นอกจากนั้น ชาวเบอร์ลินตะวันตกยังสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้โดยอิสระ ซึ่งต่างจากชาวเบอร์ลินตะวันออก ชาวเบอร์ลินตะวันออกไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้หากไม่ได้รับอนุญาต
1
อิสรภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่มีในเบอร์ลินตะวันออก การตั้งคำถามหรือสงสัยอาจทำให้ถูกจับได้ โดยเยอรมนีตะวันออกนั้นมีตำรวจลับที่เรียกว่า “Stasi” ซึ่งจะคอยส่งสายลับไปอยู่แทบทุกหัวมุม และจะมีการดักฟังโทรศัพท์ของประชาชน ทำให้ประชาชนต่างไม่ไว้ใจกัน เนื่องจากไม่รู้ว่าใครเป็นสายลับบ้าง
เบอร์ลินตะวันตก
ภายในค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) มีคนทำงานให้ Stasi กว่าสองล้านคน และ Stasi ก็ได้ทำการเก็บประวัติของประชาชนชาวเยอรมันตะวันออกกว่าหกล้านคน
นอกจากนั้นสื่อในเบอร์ลินตะวันออกและเยอรมนีตะวันออกทั้งประเทศก็ถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ต่างถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหมด หนังสือและภาพยนตร์ก็ต้องได้รับการอนุญาตก่อนถึงจะวางจำหน่ายหรือนำออกฉายได้
ไอเดียใหม่ๆ หรือวัฒนธรรมใหม่ๆ จากตะวันตกต่างก็ถูกแบน เช่นการฟังเพลง ชาวโซเวียตที่อยากฟังเพลงใหม่ล่าสุดจากศิลปินอเมริกันหรืออังกฤษ ก็ต้องไปหาซื้อแผ่นเสียงผิดกฎหมายมาฟัง
ผู้คนหลายๆ คนในเบอร์ลินตะวันออกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชีวิตทางฝั่งตะวันตกเป็นอย่างไร แต่ไม่ว่ากำแพงเบอร์ลินจะสูงแค่ไหน ชาวเบอร์ลินตะวันออกหลายคนก็ยังคงเสี่ยงที่จะหนีไปอีกฝั่ง
ตลอดเวลาที่กำแพงเบอร์ลินตั้งอยู่ ได้มีความพยายามที่จะหนีข้ามกำแพงเบอร์ลินของประชาชนกว่า 100,000 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการที่ทหารเยอรมันตะวันออกขโมยรถถังและขับทะลุกำแพงไป หรือการข้ามไปตะวันตกด้วยการยิงเชือกไปคล้องที่ฝั่งตรงข้าม ก่อนจะข้ามไปด้วยการใช้ซิปไลน์ไถไปบนเชือก ข้ามไปยังฝั่งตะวันตก
แต่ไม่ใช่การหนีจะเป็นการหนีข้ามกำแพงทุกครั้ง ภายในค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) ผู้คนเริ่มจะขุดอุโมงค์กว่า 70 แห่งระหว่างเบอร์ลินตะวันตกและเบอร์ลินตะวันออก
1
ผู้ที่ทำการขุดอัโมงค์นั้นส่วนมากเป็นนักศึกษา ซึ่งอุโมงค์ที่พวกเขาขุดก็ได้ช่วยคนให้ข้ามไปยังฝั่งตะวันตกได้กว่า 300 คน โดยหนึ่งในอุโมงค์ที่ขุดนั้นได้ถูกถ่ายทำเป็นภาพยนตร์สารคดีของช่อง NBC ซึ่งเป็นช่องโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกา
1
ตลอดเวลาของกำแพงเบอร์ลิน มีคนประมาณ 5,000 คนหนีข้ามกำแพง รวมถึงผ่านอุโมงค์เข้าไปยังฝั่งตะวันตกได้สำเร็จ
แน่นอนว่ารัฐบาลเยอรมันตะวันออกก็ต้องการจะป้องกันการหลบหนีให้มากที่สุด
มิถุนายน ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ได้เริ่มมีการสร้างกำแพงที่สองซึ่งอยู่ห่างจากกำแพงแรกประมาณ 100 หลา รวมทั้งมีการสร้างพื้นที่ที่จะบรรจุทหารยามไว้คอยสอดส่องดูแล
ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) กำแพงเบอร์ลินแห่งใหม่ก็สร้างเสร็จ โดยมีความสูง 10–12 ฟุต (ประมาณ 3 เมตร)
1
พื้นที่รอบๆ กำแพงมีการตรวจตราอย่างเข้มงวด ทั้งกับระเบิด ปืนกลอัตโนมัติ และสัญญาณเตือนภัยติดตั้งอยู่เต็มไปหมด และยังมีการสร้างหอสังเกตการณ์กว่า 300 หอ และมีการใช้สุนัขเฝ้ายามคอยตรวจตราอีกด้วย
ภายในยุค 80 (พ.ศ.2523-2532) ก็ได้มีการวางกับระเบิดไปแล้วกว่าหนึ่งล้านลูก รวมถึงกับดักอื่นๆ อีกมาก
1
รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกอ้างว่าที่ทำไปเพราะต้องการจะป้องกันไม่ให้ตะวันตกเข้ามาบุกรุก แต่ที่จริงแล้ว เหตุผลจริงๆ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวเยอรมันตะวันออกหนีออกไป
2
เมื่อเวลาผ่านไป เยอรมนีตะวันออกก็ค่อยๆ มีการปรับปรุงหลายๆ ด้าน
ชาวเบอร์ลินตะวันออกที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปสามารถกลับไปเยี่ยมญาติที่เบอร์ลินตะวันตกได้ ซึ่งหลายรายที่ไปเบอร์ลินตะวันตก ก็ถือโอกาสหนี ไม่กลับมาเบอร์ลินตะวันออก แต่รัฐบาลก็ไม่ได้สนใจ เนื่องจากคนแก่ก็ไม่ได้ทำงานแล้ว แถมเป็นภาระต้องเลี้ยงดูอีก
4
ค.ศ.1971 (พ.ศ.2514) ได้มีการติดตั้งระบบโทรศัพท์ระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตก
ต้นยุค 70 (พ.ศ.2513-2522) ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีตะวันออกและเยอรมนีตะวันตกก็ค่อยๆ พัฒนา ได้มีการตั้งสถานทูตสหรัฐอเมริกาในเยอรมนีตะวันออกในค.ศ.1974 (พ.ศ.2517)
แต่อย่างไรก็ตาม เยอรมนีตะวันออกก็ยังคงทุ่มงบประมาณนับพันล้านดอลลาร์กับการป้องกันชายแดน และเพราะว่าจำเป็นต้องใช้เงิน จึงได้มีการขายนักโทษการเมืองกว่า 35,000 รายให้กับเยอรมนีตะวันตก และในปีค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) เยอรมนีก็ยอมปลดอาวุธที่ประจำการอยู่ตามแนวชายแดนเป็นจำนวนมากแลกกับเงินกู้ยืมจากเยอรมนีตะวันตก
ในขณะเดียวกัน สหภาพโซเวียตเองก็เริ่มจะไปไม่รอด ระบบคอมมิวนิสต์ทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ พัง ผู้คนต่างไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล
ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) “มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)” ได้ขึ้นเป็นผู้นำสหภาพโซเวียต
มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)
กอร์บาชอฟนั้นอายุน้อยกว่าผู้นำสหภาพโซเวียตคนก่อนๆ และเขาก็ไม่ต้องการจะให้ระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย
กอร์บาชอฟให้เสรีภาพแก่ประเทศกลุ่มคอมมิวนิสต์มากขึ้น เขาให้คำมั่นว่ากองทัพสหภาพโซเวียตจะไม่เข้าไปวุ่นวายในเรื่องการเมืองภายใน
1
ต่อมากอร์บาชอฟได้ตกลงทำสนธิสัญญากับสหรัฐอเมริกาว่าจะลดจำนวนระเบิดนิวเคลียร์ที่ครอบครอง
กอร์บาชอฟตกลงกับสหรัฐอเมริกา เรื่องการให้สหภาพโซเวียตลดจำนวนนิวเคลียร์
แต่ถึงแม้กอร์บาชอฟจะผ่อนปรนความเข้มงวดของระบอบคอมมิวนิสต์ลงมากแล้ว แต่ประธานาธิบดี “โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan)” แห่งสหรัฐอเมริกาต้องการมากกว่านั้น ชาวเบอร์ลินตะวันออกเรียกหาอิสรภาพมาเป็นเวลานานแล้ว กำแพงนี้ควรต้องถูกทำลายลงได้แล้ว
1
ในเวลานั้น “เอริช ฮ็อนเน็คเคอร์ (Erich Honecker)” เป็นผู้นำเยอรมนีตะวันออก เขาไม่เห็นด้วยกับแผนการพัฒนาของกอร์บาชอฟ
ฮ็อนเน็คเคอร์คิดว่าทุกอย่างคงไม่เป็นอะไร กำแพงควรจะอยู่อย่างนั้นต่อไป ซึ่งก็ได้มีการประท้วงทั่วเยอรมนีตะวันออก
เอริช ฮ็อนเน็คเคอร์ (Erich Honecker)
ต่อมา หลังจากฮ็อนเน็คเคอร์ได้พ้นตำแหน่ง “กึนเทอร์ ชาบ็อฟสกี (Günter Schabowski)” เจ้าหน้าที่รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกก็ได้แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนถึงความเปลี่ยนแปลงในนโยบายของรัฐบาลเยอรมนีตะวันออก
ในเวลานี้ ชาวเยอรมันตะวันออกต่างเรียกร้องสิทธิในการเดินทางออกนอกประเทศได้โดยไม่ต้องมีการบังคับหรือกีดกัน
1
กึนเทอร์ ชาบ็อฟสกี (Günter Schabowski)
9 พฤศจิกายน ค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) ชาบ็อฟสกีได้รับมอบใบประกาศของทางรัฐบาล ซึ่งเขาก็ได้อ่านให้สื่อมวลชนฟัง
ประชาชนชาวเยอรมันตะวันออกสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้โดยไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากรัฐบาล และการข้ามแดนไปมาระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตกก็สามารถทำได้โดยเสรี
ได้มีนักข่าวถามว่าประกาศนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อไร ชาบ็อฟสกีก็ตอบว่า
“เท่าที่ผมรู้ ก็ทันทีเลยนะ ไม่มีการล่าช้า”
1
ชาบ็อฟสกีนั้นทำผิดมหันต์ เขาควรต้องรอให้ถึงวันรุ่งขึ้น แต่ในเมื่อเขาแถลงไปแล้ว ก็สายเกินกว่าจะแก้ไขอะไรได้แล้ว
เมื่อแถลงการณ์นี้ออกไป ด่านต่างๆ ก็ต้องเปิด
เพราะความผิดพลาดของชาบ็อฟสกี ทหารที่ประจำอยู่ตามจุดตรวจคนเข้าเมืองจึงไม่รู้จะทำอย่างไรดี พวกเขาต้องเผชิญกับฝูงชนนับพันที่พยายามจะเข้าไปในเบอร์ลินตะวันตก และทหารก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องเปิดประตูให้ทุกคนผ่านเข้าไปได้
1
คืนนั้นเต็มไปด้วยความคึกคัก ชาวเบอร์ลินตะวันตกต่างมาหาเพื่อนของตนจากตะวันออก พวกเขาต่างปีนกำแพงและข้ามไปอีกฝั่ง ครอบครัวก็ได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง ผู้คนต่างหยิบค้อน และช่วยกันโค่นกำแพง
1
กำแพงเบอร์ลินได้อวสานแล้ว
ในไม่ช้า ยุโรปตะวันออกเริ่มจะปฏิเสธคอมมิวนิสต์และจัดให้มีการเลือกตั้ง
คอมมิวนิสต์ค่อยๆ ตายลงจนสิ้นสุดไป และเยอรมนีก็ได้รวมเป็นหนึ่งในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533)
1
ทุกวันนี้ เยอรมนีเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งเป็นลำดับต้นๆ ของโลก
สงครามเย็นได้จบลงเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.1991 (พ.ศ.2534) แต่พลังมวลชนที่ช่วยกันทลายกำแพงเบอร์ลินจะเป็นที่จดจำไปตลอด
จบลงแล้วสำหรับซีรีย์ชุดนี้ สำหรับซีรีย์ชุดต่อไป “พระเยซู (Jesus) ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์”
ฝากติดตามด้วยนะครับ
โฆษณา