20 ต.ค. 2019 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) กำแพงแห่งการแบ่งแยกเยอรมนี ตอนที่ 6
เมื่อโลกเกือบจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3
จุดตรวจ Checkpoint Charlie นั้นต่างจากจุดตรวจอื่นๆ ในฝั่งเยอรมนีตะวันออก
จุดตรวจทางฝั่งเยอรมนีตะวันออกนั้นมีขนาดใหญ่ มีทั้งหอคอยสังเกตการณ์ เครื่องกีดขวาง พร้อมเจ้าหน้าที่คอยตรวจยานพาหนะเข้าออก
แต่ Checkpoint Charlie นั้นต่างออกไป
Checkpoint Charlie นั้นเป็นเพียงจุดเล็กๆ เท่านั้น ซึ่งสาเหตุที่เป็นอย่างนั้นก็เพื่อจะสื่อว่ากำแพงเบอร์ลินนั้นไม่ใช่เขตแดนที่ถูกต้องตามกฎหมายนานาชาติ จุดตรวจพวกนี้เป็นเพียงจุดชั่วคราวเท่านั้น
Checkpoint Charlie
22 ตุลาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) “อัลลัน ไลท์เนอร์ (Allan Lightner)” ข้าราชการสถานทูตที่ประจำการอยู่เบอร์ลินตะวันตก ได้เดินทางเข้ามาผ่านจุด Checkpoint Charlie
ไลท์เนอร์ถูกทหารเยอรมันตะวันออกเรียกและขอตรวจพาสปอร์ต ซึ่งไลท์เนอร์ก็ได้ปฏิเสธ ทำให้ทหารเยอรมนีตะวันออกไม่ยอมให้ไลท์เนอร์ผ่านและไล่ให้เขากลับไป
1
อัลลัน ไลท์เนอร์ (Allan Lightner)
วันต่อมา ทหารเยอรมันตะวันออกยังคงปฏิเสธที่จะให้ชาวอเมริกันเดินทางผ่านเข้าไปในเบอร์ลินตะวันออก
22 ตุลาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) สหรัฐอเมริกาได้ส่งรถถังมายัง Checkpoint Charlie
รถถังของสหรัฐอเมริกาได้เร่งเครื่องเสียงดังกระหึ่มอย่างท้าทายและข่มขู่ ควันสีดำลอยพุ่งเต็มท้องฟ้า
สหภาพโซเวียตก็ไม่อยู่เฉย ได้ส่งรถถังมายัง Checkpoint Charlie เช่นกัน และในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) รถถังของสหภาพโซเวียตก็ได้เคลื่อนมาประจำจุด
รถถังของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตอยู่ห่างจากกันเพียง 100 หลา
รถถังสองฝ่ายประจันหน้ากันที่ Checkpoint Charlie
รถถังทั้งสองฝั่งยืนประจันหน้ากันกว่า 24 ชั่วโมง และทั้งโลกก็จับตาด้วยใจระทึกว่าทั้งสองชาติที่อุดมสมบูรณ์ด้วยนิวเคลีย์จะทำอย่างไรต่อ
ทั้งโลกเกรงว่าหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยิงก่อน อาจจะเป็นชนวนของสงครามโลกครั้งที่ 3
ประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้ติดต่อครุชชอฟ พร้อมทั้งรับรองว่าสหรัฐอเมริกาไม่คิดจะบุกเบอร์ลินตะวันออก แต่เคนเนดี้ก็ได้แสดงเจตนาชัดแจ้งว่าทางเข้าเบอร์ลินตะวันออกจะต้องเคลียร์ ผ่านเข้าออกได้อย่างอิสระ ซึ่งครุชชอฟก็ตอบตกลง
ครุชชอฟสั่งให้ถอนรถถังสหภาพโซเวียตออกจากจุด และอีกไม่กี่นาทีต่อมา รถถังของสหรัฐอเมริกาก็ได้ถอยออกเช่นกัน
1
ความขัดแย้งซึ่งทำให้โลกทั้งโลกต้องกลั้นหายใจ ลุ้นตัวโก่งว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ได้ผ่านพ้นไปด้วยดี แต่กำแพงเบอร์ลินก็ยังไม่ทลาย
ภายในเวลาไม่นาน เหล่าผู้นำคนสำคัญจากประเทศต่างๆ ก็ได้มาเยือนเบอร์ลิน
“มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)” ได้เดินทางมาเบอร์ลินในปีค.ศ.1964 (พ.ศ.2507)
ภายหลังจากคิงได้ข่าวว่ามีชาวเบอร์ลินตะวันออกได้ถูกยิงหลังจากพยายามจะหนี คิงก็ได้แสดงความต้องการจะไปเยี่ยมเบอร์ลิน แต่ทางการสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้คิงไปเบอร์ลิน และสถานทูตสหรัฐอเมริกาก็ได้ยึดพาสปอร์ตของคิง
มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.)
คิงก็ไม่ยอมแพ้ ได้ใช้บัตรเครดิตอเมริกันเอ็กซ์เพรสส์เพื่อยืนยันตัวตนยังจุด Checkpoint Charlie
ขณะเข้าไปเยี่ยมชมโบสถ์ของเบอร์ลินตะวันออก คิงก็ได้เปรียบเทียบการแบ่งแยกระหว่างชาวเบอร์ลินตะวันออกกับตะวันตก เปรียบเทียบกับการแบ่งแยกระหว่างชาวอเมริกันผิวขาวและผิวดำ
1
คิงกล่าวว่า
“ประชาชนทั้งสองฝั่งเป็นบุตรของพระเจ้า และจะไม่มีเครื่องกีดขวางที่มนุษย์ทำขึ้นชิ้นไหนจะสามารถปิดกั้นความจริงข้อนี้ได้”
ประธานาธิบดีเคนเนดี้ก็ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนกำแพงเบอร์ลินในปีค.ศ.1963 (พ.ศ.2506) และเขาก็ได้กล่าวสปีช ความว่า
“อิสรภาพนั้นมีความยากลำบากหลายอย่างและประชาธิปไตยก็ไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์ แต่เราก็ไม่เคยต้องสร้างกำแพงเพื่อปิดกั้นคนของเราให้อยู่ข้างใน”
ประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้กล่าวสรุปว่า
“บุคคลที่เป็นอิสระทุกคน ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ไหนก็ตาม ต่างก็เป็นประชาชนของเบอร์ลิน และในฐานะบุคคลที่เป็นอิสระ ผมก็ยึดมั่นในศักดิ์ศรีของประโยค “Ich bin ein Berliner (ผมคือชาวเบอร์ลิน)”
1
ประธานาธิบดีเคนเนดี้กำลังบอกกับประชาชนชาวเบอร์ลินว่าเขาเองนั้นอยู่ข้างชาวเบอร์ลิน และเขากับคนทั้งโลกต่างก็สนับสนุนเบอร์ลินตะวันตก
ประเด็นที่น่ารู้ต่อมาคือ ชาวเบอร์ลินมีวิถีชีวิตอย่างไร?
คำตอบนั้นขึ้นอยู่กับว่าชาวเบอร์ลินที่ว่านั้นอาศัยอยู่ด้านไหนของกำแพง
ภายหลังการก่อสร้างกำแพงเบอร์ลิน ชีวิตผู้คนในเบอร์ลินตะวันออกและเยอรมนีตะวันออกก็ได้รับการพัฒนา
สตรีเริ่มจะได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม และผู้หญิงในเบอร์ลินตะวันออกกว่า 90% ก็มีงานทำ มีที่อยู่อาศัย อาหาร การศึกษา รวมถึงการรักษาทางการแพทย์ ต่างก็ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล อาชญากรรมก็ลดต่ำลง
1
แต่ถึงจะฟังดูดี สิ่งอื่นๆ นอกเหนือจากสิ่งจำเป็น สิ่งของหรูหราต่างๆ นั้นได้รับการแบน เป็นสิ่งต้องห้าม
ช็อกโกแลต หมากฝรั่ง โคคาโคล่าต่างก็ถูกแบนในเบอร์ลินตะวันออก ผู้คนต้องรอกว่า 15 ปีกว่าจะได้มีรถยนต์เป็นของตนเอง
อพาร์ทเม้นต่างก่อสร้างจากคอนกรีตง่ายๆ ไม่มีการทาสีตกแต่งอะไรทั้งนั้น อพาร์ทเม้นบางแห่งไม่มีแม้แต่ห้องอาบน้ำ มีเพียงอ่างล้างมือเท่านั้น
แต่ถามว่าชาวเบอร์ลินตะวันออกทุกคนรู้สึกไม่สบายใจกับการที่มีกำแพงเบอร์ลินมากั้นระหว่างตะวันออกกับตะวันตกหรือไม่?
คำตอบคือไม่ หลายคนรู้สึกสบายใจด้วยซ้ำ
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ผมจะมาเล่าให้ฟังในตอนหน้านะครับ
โฆษณา