19 ต.ค. 2019 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) กำแพงแห่งการแบ่งแยกเยอรมนี ตอนที่ 5
เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเต็มตัว
วันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) หนังสือพิมพ์ของเบอร์ลินตะวันตกได้พาดหัวข่าว
“ตะวันตกไม่ทำอะไรเลย”
เย็นวันนั้นเอง “วิลลี บรันท์ (Willy Brandt)” นายกเทศมนตรีของเบอร์ลินตะวันตก ได้กล่าวกับประชาชนกว่า 200,000 คนที่มามุงอยู่หน้าศาลากลางเมืองว่า
“เราชาวเบอร์ลินมีบางอย่างอยากจะบอกกับผู้ที่ปกป้องคุ้มครองเรา นั่นก็คือ “สันติภาพไม่เคยได้มาจากความอ่อนแอ”
บรันท์ได้เขียนจดหมายถึงเคนเนดี้ พร้อมกล่าวโทษที่เขานั้นเลือกที่จะเงียบ
บรันท์เกรงว่าหากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรไม่ทำอะไรซักอย่าง เยอรมนีตะวันออกและผู้นำสหภาพโซเวียตอาจจะแยกหรือรุกรานเบอร์ลินตะวันตกได้
ในขณะเดียวกัน “วัลเทอร์ อุลบริชท์ (Walter Ulbricht)” และ “นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)” ก็ได้มุ่งสู่แผนต่อไป
เพียงหนึ่งวันหลังจากที่มีการขึ้นรั้วลวดหนาม คนงานก็เตรียมการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตที่มีความสูงถึงแปดฟุต (240 เซนติเมตร) และภายในหนึ่งปี หอคอยสังเกตการณ์กว่า 100 หอก็ได้ถูกสร้างขึ้นเช่นกัน
1
กำแพงเบอร์ลินนั้นเสร็จสมบูรณ์ โดยถนน Bernauer และทางเดินเท้าอยู่ในเบอร์ลินตะวันตก ในขณะที่อพาร์ทเม้นและตึกที่หันหน้าไปทางถนน Bernauer นั้นอยู่ฝั่งตะวันออก
ในเมื่อตอนนี้ตำรวจเบอร์ลินตะวันออกไม่สามารถข้ามไปตรวจตราบนถนนฝั่งตะวันตกได้ พวกตำรวจจึงได้ทำการรักษาการณ์บริเวณโถงทางเดินในตึกต่างๆ รวมถึงบันได ตำรวจบางนายถึงขั้นเข้าไปยืนรักษาการณ์ในอพาร์ทเม้นของประชาชน
1
ตำรวจสั่งให้ผู้คนที่อยู่อพาร์ทเม้นชั้นล่างส่งมอบกุญแจห้องให้ตำรวจ พวกเขาจะได้แอบหนีไปเบอร์ลินตะวันตกไม่ได้
ตำรวจได้ทำการตอกตะปูปิดประตูหน้า และทำการสร้างทางเข้าอาคารจากทางฝั่งตะวันออกแทน ทำให้ประชาชนที่อยู่เบอร์ลินตะวันออกและคิดจะหนีไปตะวันตกต้องกระโดดจากหน้าต่างลงมาเพื่อที่จะหนีเข้าเบอร์ลินตะวันตก โดยมีพนักงานดับเพลิงกางตาข่าย รอรับพวกเขาอยู่ที่พื้นข้างล่าง
2
แต่ก็มีเหตุน่าเศร้าเกิดขึ้น “Ida Siekmann” พยาบาลวัย 58 ปีได้พยายามหนีด้วยการกระโดดหน้าต่าง
แต่ Siekmann ไม่ได้รอให้พนักงานดับเพลิงมาช่วยเหลือ เธอโยนพวกเครื่องนอน เช่น หมอน ผ้าห่มลงมาบนพื้นและกระโดดลงมาโดยหวังว่าหมอนกับผ้าห่มจะช่วยรองรับเธอ
Siekmann กระโดดลงมาจากชั้นสี่และหล่นลงมาบนทางเดิน เธอบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตก่อนจะถึงโรงพยาบาล
1
Siekmann กลายเป็นเหยื่อรายแรกของกำแพงเบอร์ลิน
Ida Siekmann
ในเวลาต่อมา “Günter Litfin” ช่างตัดเสื้อวัย 24 ปีได้พยายามว่ายน้ำข้ามไปยังเบอร์ลินตะวันตก ก่อนจะถูกทหารเยอรมันตะวันออกยิงเสียชีวิต
Litfin กลายเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกที่ถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารเยอรมันตะวันออก
Günter Litfin
ต่อมา ทหารเยอรมันตะวันออกได้สั่งให้ประชาชนจำนวน 2,000 คนออกจากอพาร์ทเม้น และประชาก็ใช้โอกาสนี้ในการหนี
25 กันยายน ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) “Frieda Schulze” วัย 77 ปีได้ปีนออกมาจากหน้าต่างอพาร์ทเม้น ก่อนที่จะเตรียมตัวกระโดดลงสู่ตาข่ายที่เตรียมไว้ช่วยเหลือบนพื้น
แต่ทหารเยอรมันตะวันออกเห็นก่อน เลยพยายามดึงเธอกลับขึ้นมา ในขณะที่ชาวเบอร์ลินตะวันตกยื้อยุดฉุดเท้าของเธอไว้เพื่อดึงเธอลงมายังพื้นฝั่งเบอร์ลินตะวันตก
ทั้งสองฝ่ายต่างยื้อยุดกันไปมา แต่ในที่สุด Schulze ก็ตกลงมายังตาข่าย และเข้ามาในเบอร์ลินตะวันตกได้สำเร็จ
ทหารเยอรมันตะวันออกกำลังดึง Frieda Schulze ในขณะที่ชาวเบอร์ลินตะวันตกพยายามดึง Schulze ลงมา
ประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้ตัดสินใจส่งกองทัพไปเบอร์ลิน
1
กองทัพสหรัฐที่เคนเนดี้ส่งไปมีรถบรรทุก 300 คันซึ่งบรรทุกอาวุธเต็มอัตรา พร้อมทหารอเมริกันจำนวน 1,500 คน
กองทัพสหรัฐออกจากฐานที่เยอรมนีตะวันตก ก่อนจะใช้เส้นทางหลวงเข้าไปในเขตแดนเยอรมนีตะวันออก
2
สหรัฐอเมริกากำลังส่งสัญญาณบอกเป็นนัยว่า
“สหรัฐอเมริกายืนอยู่ข้างเบอร์ลินตะวันตก และจะทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้คอมมิวนิสต์รุกรานได้”
การที่สหรัฐอเมริกาให้ทหารเดินทางผ่านเส้นเขตแดนเยอรมนีตะวันออก เปรียบเสมือนการท้าทายว่าถ้าแน่จริง ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ปิดเส้นทางเข้าออกเบอร์ลินตะวันตกสิ
ซึ่งการท้าทายของสหรัฐอเมริกานั้น ก็เป็นสิ่งที่เยอรมนีตะวันออกล้มเหลวมาแล้วเมื่อคราวปิดเส้นทางเข้าออกเบอร์ลินตะวันตก และสหรัฐก็แก้เกมด้วยการส่งเสบียงมาให้ทางเครื่องบิน
1
รองประธานาธิบดี “ลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson)” ได้เดินทางมาเบอร์ลินตะวันตกเพื่อพบกับกองทัพอเมริกัน
ระหว่างทางไปยังศาลากลางเมือง ชาวเบอร์ลินตะวันตกจำนวนมากออกมาต้อนรับจอห์นสันอย่างดีใจ
ที่ศาลากลางเมือง จอห์นสันได้ขึ้นเวที พูดกับประชาชนที่มารอกว่า 300,000 คน
2
เด็กกลุ่มหนึ่งได้ยืนอยู่หน้าฝูงชน พร้อมชูป้ายที่เรียงต่อกันซึ่งเขียนว่า “freiheit” ซึ่งเป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า “อิสรภาพ”
จอห์นสันกล่าวว่า
“ท่านประธานาธิบดีอยากให้พวกคุณรู้ว่าสัญญาที่พวกเราให้ไว้ว่าเบอร์ลินตะวันตกจะได้รับอิสรภาพนั้น เป็นอันแน่นอนแล้ว เกาะแห่งนี้ไม่ได้ยืนอยู่เพียงลำพัง”
ต่อมา ทหารสหรัฐที่เข้ามาในเบอร์ลินตะวันตก ได้รับการต้อนรับอย่างดีราวกับวีรบุรุษ
ชาวเบอร์ลินตะวันตกให้การต้อนรับทหารสหรัฐ
แต่ในขณะเดียวกัน กองทัพสหภาพโซเวียตและเยอรมนีตะวันออกต่างก็ยังคงปิดเส้นทางแถบชายแดนต่อไป
23 สิงหาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) จำนวนผู้ข้ามเขตแดนก็ได้ลดลงจาก 12 เหลือเพียงเจ็ดคน โดยในเวลานั้น ชาวตะวันตกบางคนก็มีบัตรประจำตัวที่สามารถข้ามไปทำงานยังฝั่งตะวันออกได้ แต่ประชาชนในฝั่งตะวันออกจะข้ามไปฝั่งตะวันตกไม่ได้
1
แต่ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ชวนให้ตื่นเต้นขึ้นยังจุดตรวจคนเข้าเมืองระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตก
จุดตรวจคนเข้าเมืองนั้นคือจุด “Checkpoint Charlie”
Checkpoint Charlie
เหตุการณ์เริ่มจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เกิดอะไรขึ้นที่ Checkpoint Charlie และในเวลานี้ สหรัฐอเมริกาก็เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้อย่างเต็มตัว
จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามต่อในตอนหน้านะครับ
โฆษณา