18 ต.ค. 2019 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
กำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall) กำแพงแห่งการแบ่งแยกเยอรมนี ตอนที่ 4
ความแตกแยกอย่างสมบูรณ์แบบ
ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) ประชาชนชาวเยอรมนีตะวันออกกว่า 200,000 คนหนีออกจากประเทศ
ชาวเยอรมนีตะวันออกหนีออกจากประเทศเฉลี่ยสัปดาห์ละ 4,000 คน โดยสามในสี่จะหนีโดยเข้ามาทางเบอร์ลินตะวันตก
มิถุนายน ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) แห่งสหรัฐอเมริกาได้พบกับนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำสหภาพโซเวียต
1
ทั้งคู่พบกันที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
เคนเนดี้กล่าวว่าสหรัฐอเมริกาต้องการให้สันติสุขเกิดในเบอร์ลิน แต่ในระหว่างการประชุม เคนเนดี้ ซึ่งในเวลานั้นยังอ่อนประสบการณ์ ก็ได้พูดเป็นนัยว่าสหรัฐอเมริกายอมรับได้ที่เบอร์ลินแตกออกเป็นสองส่วน และสหภาพโซเวียตจะทำอะไรที่เบอร์ลินตะวันออกก็ได้
การพบปะระหว่างเคนเนดี้และครุชชอฟ
ไม่ถึงสองอาทิตย์หลังจากเคนเนดี้พบกับครุชชอฟ “วัลเทอร์ อุลบริชท์ (Walter Ulbricht)” ผู้นำเยอรมนีตะวันออกก็ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวเรื่องการแบ่งเขตแดนระหว่างตะวันออกกับตะวันตก
1
อุลบริชท์กล่าวแก่นักข่าวว่า
“ไม่มีใครคิดจะสร้างกำแพงหรอก”
วัลเทอร์ อุลบริชท์ (Walter Ulbricht)
อุลบริชท์กำลังโกหก อันที่จริง เขาได้ออกคำสั่งให้ปิดเส้นทางชายแดนในเวลาเช้าตรูของวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) และครุชชอฟก็ได้อนุมัติคำสั่งนี้แล้ว
แทบไม่มีใครรู้ถึงแผนการลับของอุลบริชท์เลย แม้แต่ประธานาธิบดีเคนเนดี้เองก็ไม่รู้ ซีไอเอก็ไม่รู้ แม้แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายเยอรมนีตะวันออกส่วนใหญ่เองก็ไม่รู้
วิลลี บรันท์ (Willy Brandt) นายกเทศมนตรีแห่งเบอร์ลินตะวันตกเองก็ไม่ทราบถึงแผนการของอุลบริชท์ ในเวลานั้นเขาอยู่ในเมืองนูเรมเบิร์ก ซึ่งอยู่ห่างจากเบอร์ลินกว่า 200 ไมล์ (ประมาณ 322 กิโลเมตร)
วิลลี บรันท์ (Willy Brandt)
วันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) บรันท์ได้กล่าวกับประชาชนเรื่องจำนวนผู้อพยพชาวเยอรมนีตะวันออกที่ทะลักเข้ามาในเบอร์ลินตะวันตกว่า
“นี่เป็นครั้งแรกที่เราจะรับผู้อพยพจำนวน 2,500 คนภายใน 24 ชั่วโมง”
1
คืนนั้นที่เบอร์ลิน ชาวเบอร์ลินต่างรู้สึกได้ว่ามีบางอย่างแปลกๆ เกิดขึ้น
ชาวเบอร์ลินตะวันออกต่างเห็นตำรวจและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจำนวนมากมาประจำการบนท้องถนน รถไฟที่เข้ามาในเยอรมนีตะวันออกก็ไม่ได้กลับออกไป
1.30 น. วันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) ได้มีคำสั่งไปถึงทหารเบอร์ลินตะวันออก และภายในหนึ่งชั่วโมง ทหารกว่า 25,000 นายก็ได้มาสมทบกับตำรวจที่ชายแดน
ตำรวจและทหารต่างช่วยกันขุดถนนและทางเดินเพื่อติดตั้งรั้ว และได้มีการราดยางมะตอยเพื่อติดตั้งเครื่องกีดขวาง
ทหารต่างติดตั้งรั้วลวดหนามบนพื้นเป็นระยะทางหลายไมล์ ก่อนจะยืนรักษาการณ์โดยมีปืนและไฟฉายประจำมือ
2
จุดข้ามแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตกจำนวน 69 จาก 81 จุดถูกสั่งปิดภายใน 24 ชั่วโมง และต่อมา รั้วลวดหนามที่มีความยาวกว่า 69 ไมล์ (111 กิโลเมตร) ก็จะถูกนำมาใช้ในการปิดจุดข้ามแดน
ภายในคืนเดียว ทั้งเพื่อนบ้าน เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องต้องถูกแยกกัน ชาวเบอร์ลินต่างช็อกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ชาวเบอร์ลินตะวันออกหลายคนพยายามจะใช้รถไฟเข้าไปในเบอร์ลินตะวันตก แต่ก็สายไปแล้ว ได้มีประกาศติดไว้เต็มสถานีรถไฟ เขียนว่า
“รถไฟสายตรงที่เดินทางระหว่างตะวันออกกับตะวันตกได้ถูกยกเลิกแล้ว”
1
ในระยะแรก กำแพงที่ขวางกั้นตะวันออกกับตะวันตกยังเป็นเพียงแค่รั้วลวดหนาม ชาวเบอร์ลินตะวันออกหลายรายจึงสามารถข้ามไปยังฝั่งตะวันตกได้ บางคนก็ว่ายน้ำข้ามคลองเทลโทมและแม่น้ำชเปร
เจ้าหน้าที่เบอร์ลินตะวันออกหลายๆ คนก็ช่วยให้ประชาชนหนี
ค็อนราท ชูมัน (Conrad Schumann) ทหารเบอร์ลินตะวันออกวัย 19 ปี ได้กระโดดข้ามรั้วลวดหนามเข้าไปยังฝั่งตะวันตก
การหนีของเขาได้รับการบันทึกภาพไว้และโด่งดังไปทั่วโลก
1
ค็อนราท ชูมัน (Conrad Schumann) กำลังกระโดดหนีเข้าไปยังฝั่งตะวันตก
ต่อมา ประชาชนทั้งสองฝั่งต่างมารวมตัวที่จุดข้ามแดนและโบกมือให้ญาติและเพื่อนๆ ที่อยู่อีกฝั่ง
ในขณะที่ฝั่งเบอร์ลินตะวันออก ตำรวจได้มาทำการสลายฝูงชน มีการใช้แก๊สน้ำตาและปืนแรงดันน้ำ
3
ได้มีการประท้วงอย่างต่อเนื่องทั้งฝั่งเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตก
คืนวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) เวลา 22.30 น. ชาวเบอร์ลินตะวันตกจำนวน 4,000 คนได้มาชุมนุมกันที่ประตูบรันเดินบวร์ค
ตำรวจเบอร์ลินตะวันตกไม่อยากจะใช้กำลังต่อฝูงชน พวกเขาจึงเพียงผลักเหล่าฝูงชนให้ถอยห่างจากจุดข้ามแดน
ในขณะที่ฝั่งสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีเคนเนดี้ได้บอกกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไม่ให้แสดงความเห็นที่รุนแรงต่อรั้วที่กั้นเบอร์ลินตะวันออกกับตะวันตก และประธานาธิบดีเคนเนดี้ยังออกคำสั่งไม่ให้ฝั่งตะวันตกทำอะไรที่เป็นการต่อต้านการขึ้นรั้วลวดหนามหรือเครื่องกีดขวางระหว่างทั้งสองฝั่ง ให้อยู่เฉยๆ
เคนเนดี้ได้พูดกับผู้ติดตามเป็นการส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“นี่คือจุดจบของวิกฤตการณ์เบอร์ลิน ตอนนี้เราจะไม่ทำอะไรทั้งนั้น เพราะว่าตอนนี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสงคราม และ “กำแพง” นั้นดีกว่าสงครามมากนัก
1
จะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามในตอนหน้านะครับ
โฆษณา