24 ต.ค. 2019 เวลา 00:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
มันฝรั่งเปลี่ยนโลก
มันฝรั่งเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับที่ 4 ของโลก รองจาก ข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าว
ถึงแม้ว่าในประเทศไทยมันฝรั่งจะเป็นของกินเล่นหรือพืชอาหารรองจากข้าว แต่ในหลายประเทศมันฝรั่งเป็นพืชอาหารหลัก
ชื่อของมันฝรั่งในภาษาไทยอาจจะระบุที่มาของมันฝรั่งได้ดีว่าไม่ได้มาจากประเทศไทย (เพราะมีฝรั่งอยู่ในชื่อ) แต่คำถามคือ มันฝรั่งมาจากไหน? และทำไมมันฝรั่งถึงมีผลกระทบมากมายต่อประชากรบนโลกในยุคหนึ่ง?
มันฝรั่งแบบปลูกเองที่สวนหลังบ้าน
มันฝรั่งป่าเป็นพืชพบขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปในทวีปอเมริกา ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาจนถึงตอนใต้ของชิลี และโดยมันฝรั่งป่ามีการแบ่งออกเป็นมากกว่า 200 ชนิดพันธุ์ และพืชกลุ่มมันฝรั่งที่นิยมปลูกกันสามารถแบ่งออกได้เป็น 8-9 ชนิดพันธุ์ และมีถึง 5,000 สายพันธุ์
มันฝรั่งชนิดพันธุ์ที่นิยมปลูกกันแพร่หลายที่สุดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Solanum tuberosum] จากการศึกษาในระดับพันธุกรรมพบว่า มันฝรั่งนี้มีต้นกำเนิดจากพืชในกลุ่มของมันฝรั่งป่าที่มีชื่อว่า [Solanum brevicaule] complex (Complex แสดงกลุ่มของชนิดพันธุ์หลายๆ ชนิดพันธุ์ที่เป็นญาติใกล้ชิดกัน และมีลักษณะคล้ายกันทำให้ต่อการระบุชนิดได้ยาก) และถูกนำมาปลูกในตอนใต้ของประเทศเปรูและทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโบลิเวียเมื่อ 7,000-10,000 ปีก่อน และแพร่กระจายไปในทวีปอเมริกาใต้ แถบบริเวณเทือกเขาแอนดิสโดยมันฝรั่งเป็นหนึ่งในอาหารหลักของอาณาจักรอินคา ในศตวรรษที่ 16 ก่อนการรุกรานของชาวสเปน
มันฝรั่งมีที่มาจากทางตอนใต้ของประเทศเปรูและตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโบลิเวียที่อยู่ติดกัน (ที่มา By OCHA, CC BY 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=32649822)
ขอบเขตของอาณาจักรอินคาในยุคที่รุ่งเรืองที่สุดในปี ค.ศ. 1525 (ที่มา By L'Américain, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=9097872)
มันฝรั่งเป็นหนึ่งในพืชที่เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลกหลังจากที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ได้ค้นพบอเมริกา ในช่วงปี ค.ศ. 1492 ถึง 1503 และเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างชาวยุโรปกับชนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างโลกเก่า (ยุโรป และเอเชีย) และโลกใหม่ (อเมริกา) ยุโรปและเอเชียได้รู้จักพืชใหม่ๆ หลายชนิดที่มีต้นกำเนิดจากทวีปอเมริกาตั้งแต่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ วะนิลา ข้าวโพด ใบยาสูบ และอื่นๆ ในขณะที่อเมริกาก็ได้รับพืช สัตว์ โรคระบาด วัฒนธรรม และผู้คนจากโลกเก่าที่อพยพเข้าไปในทวีปอเมริกา
มันฝรั่งถูกนำมายังยุโรปโดยชาวสเปน ซึ่งเป็นผลจากการรุกรานชาวอินคาในเปรูโดยชาวสเปนในอเมริกาใต้ โดยมันฝรั่งน่าจะมายุโรปในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1570 ที่ประเทศสเปน และประมาณปี ค.ศ. 1588-1593 ที่หมู่เกาะอังกฤษ ซึ่งเชื่อกันว่าในช่วงแรกๆ ชาวสเปนไม่ได้ตั้งใจว่าจะนำมันฝรั่งมาเป็นปลูกเป็นอาหารในยุโรป แต่อาจจะอาหารของทหารบนเรือ และหัวมันฝรั่งที่เหลือจากการกินบนเรือก็ถูกนำมาปลูก และเจริญเติบโตได้ดี แต่คนยุโรปส่วนใหญ่ที่ไม่เคยเห็นมันฝรั่งมาก่อนจึงไม่กล้ากิน เนื่องจากกลัวว่ามันจะมีพิษ
ต้นและหัวมันฝรั่ง
จนกระทั่งในยุคศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมามันฝรั่งถูกยอมรับมากขึ้นจากผู้คนในยุโรป จนกลายเป็นพืชอาหารหลักของยุโรปชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะสำหรับคนยากจน เนื่องจากเมื่อเทียบกับพืชอาหารอื่นๆ มันฝรั่งเน่าเสียได้ยาก มีขนาดใหญ่ ทำให้อิ่มง่าย และราคาถูก ในอังกฤษมันฝรั่งมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 เนื่องจากมันฝรั่งสามารถถูกปลูกในพื้นที่แปลงเล็กๆ ในแปลงในเมืองเพื่อเป็นแหล่งอาหารของคนงานในเขตเมืองที่เริ่มเข้ามาอยู่กันอย่างหนาแน่น
มีการประมาณกันว่าการนำมันฝรั่งเข้ามาปลูกในยุโรปส่งเสริมให้ประชากรของยุโรปเพิ่มขึ้นถึง 1 ใน 4 ในระหว่างศตวรรษที่ 18 และ 19 และช่วยให้เกิดการพัฒนาเมืองขึ้น เนื่องจากมันฝรั่งให้พลังงาน วิตามินและสารอาหารต่อพื้นที่ที่ปลูกสูงที่สุด เมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ ที่ปลูกกันในยุโรป ได้แก่ ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์
มันฝรั่งที่ถูกนำมาขาย
เนื่องจากสายพันธุ์มันฝรั่งที่นำมาปลูกในยุโรปมีเพียงไม่กี่สายพันธุ์ และมันฝรั่งที่เพาะปลูกกัน สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยใช้หัวมาเพาะเป็นหลัก (ในภาษาอังกฤษ seed potato หมายถึงหัวของมันฝรั่ง ไม่ใช่เมล็ดจริงๆ เหมือนพืชอื่นๆ ส่วนเมล็ดจริงจะเรียกว่า "true potato seed", "TPS" หรือ "botanical seed") ทำให้มันฝรั่งขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม เพราะมันฝรั่งที่เกิดจากหัวจะมีพันธุกรรมเหมือนต้นแม่ทุกประการ
เมื่อเชื้อราไฟทอปโทรา [Phytophthora infestans] ที่ก่อให้เกิดโรคใบไหม้ และถ้าลุกลามลงไปที่หัว จะทำให้เกิดหัวมันฝรั่งเน่าได้ แพร่กระจายมาถึงยุโรป ทำให้การระบาดเกิดอย่างรวดเร็วและรุนแรง เนื่องจากมันฝรั่งที่สายพันธุ์ที่ชาวยุโรปนำมาปลูกไม่มีความต้านทานเชื้อราชนิดนี้ได้
อาการเน่าของหัวมันฝรั่ง (ที่มา Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=232492)
โดยเชื้อรานี้มีจุดกำเนิดมาจากเม็กซิโก และแพร่กระจายไปยังสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะมาถึงยุโรปในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1845 จากการเดินทางขนส่งมันฝรั่งทางเรือจากสหรัฐอเมริกาไปยังเบลเยี่ยม เชื้อราเริ่มต้นแพร่ระบาดในยุโรปภาคพื้น ทำให้มีคนอดตายในระดับแสนคน และแพร่กระจายต่อมาถึงไอร์แลนด์และในสก็อตแลนด์
ในไอร์แลนด์ผลของการแพร่ระบาดของเชื้อรานี้มีความรุนแรงมากที่สุด เนื่องจากในไอร์แลนด์แทบจะมีการปลูกมันฝรั่งเพียงสายพันธุ์เดียว นั่นคือ Irish Lumpar ที่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ต้านทานเชื้อราไฟทอปโทรา และชาวไอร์แลนด์ที่ยากจนก็กินมันฝรั่งเป็นอาหารหลัก โดยในปี ค.ศ. 1845 ที่เกิดการระบาดของเชื้อราในไอร์แลนด์พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1 ใน 3 กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่ง ในปีแรกที่เกิดการระบาด ผลผลิตมันฝรั่งประมาณ 1 ใน 3 ถูกทำลายโดยเชื้อรา และในปี ค.ศ. 1846 ผลผลิตมันฝรั่งประมาณ 3 ใน 4 ถูกทำลายโดยเชื้อรา การระบาดที่รุนแรงนี้ส่งผลไปถึงปี 1849 โดยเหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า The Great Famine หรือความอดอยากครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ หรือบางครั้งก็ถูกเรียกว่า Irish Potato Famine หรือการขาดแคลนมันฝรั่งของชาวไอริช
แผนภาพแสดงการกระจายของเชื้อราไฟทอปเทอรา การอดอยากครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์เกิดจากการมาของเชื้อราตามเส้นทางสีแดง (ที่มา https://elifesciences.org/articles/00731)
ผลที่เกิดขึ้นจาก The Great Famine นี้ทำให้คนตายไปถึงกว่า 1,000,000 คน โดยคนบางส่วนตายจากการขาดอาหาร แต่คนส่วนใหญ่ตายจากโรคระบาดที่เกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อมันฝรั่งไม่ได้ผลผลิต ทำให้เกษตรกรไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่ทำการเกษตร และถูกไล่ออกจากพื้นที่ ทำให้ต้องย้ายเข้าไปหางานในเมือง จนเมืองเกิดความแออัดและโรคระบาด เช่น ไข้ โรคคอตีบ โรคบิด อหิวาตกโรค โรคฝีดาษ และไข้หวัดใหญ่ และในภาวะที่ร่างกายขาดสารอาหาร ทำให้โรคเหล่านี้มีความรุนแรงถึงตายได้
ในสภาวะที่ขาดแคลนอาหารนี้คนไอริชกว่า 1,000,000 คนได้อพยพไปจากประเทศไอร์แลนด์ไปยังประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดาและออสเตรเลีย ทำให้ประชากรในไอร์แลนด์ลดลงถึง 20-25% จากที่เคยมีอยู่ก่อนหน้าเชื้อราระบาด
ผลที่ตามมาจากการระบาดของเชื้อราไฟทอปโทราและการขาดแคลนอาหารในยุโรปเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติในหลายประเทศในยุโรปในปี 1848 และชาวไอริชที่อพยพไปยังอเมริกาได้เข้าร่วมในสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1861-1865 โดยเข้าร่วมทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้นับแสนคน
ในยุคต่อมามีการใช้สารเคมี Copper (II) Sulfate ผสมกับน้ำปูนใส ในการป้องกันและกำจัดเชื้อราชนิดนี้ได้ เรียกว่า Bordeaux Mixture
อย่างไรก็ตามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนีใช้ทองแดงไปในสงครามจนหมด ทำให้ไม่มีทองแดงในการผลิต Copper (II) Sulfate เพื่อฉีดพ่นมันฝรั่ง และทำให้เชื้อราไฟทอปโทราได้ระบาดในประเทศเยอรมนี และทำให้เกิดการอดตายของคนเยอรมันกว่า 700,000 คนในช่วงฤดูหนาวปี ค.ศ. 1916-1917 ทำให้เยอรมนีที่ได้เปรียบในสงครามกลับขาดแคลนกำลังคน และแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ไปในที่สุด
ผลของมันฝรั่ง (ที่มา Midgley DJ, CC BY-SA 2.5, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2367165)
จริงๆ แล้วมันฝรั่งเป็นพืชสกุลเดียวกันกับมะเขือเทศและมะเขือม่วง คือ [Solanum] แต่น้อยครั้งที่มันฝรั่งจะออกดอกและออกผลเหมือนมะเขือเทศ ทำให้มันฝรั่งนิยมปลูกกันโดยใช้หัวเป็นหลัก โดยมันฝรั่งจะออกดอกและผลเฉพาะในสภาวะที่หนาวเย็นจัด มีน้ำมาก และมีเวลาเพียงพอให้เกิดการถ่ายละอองเกสรระหว่างพืช โดยผลที่เกิดขึ้นจะมีคล้ายกับมะเขือเทศราชินี แต่มีสีเขียว และมีพิษ เนื่องจากมีสารแอลคาลอยด์ที่ชื่อว่า โซลานิน [Solanine] สารชนิดนี้พบทั่วไปในต้นมันฝรั่งทุกส่วนยกเว้นหัว เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรกินส่วนอื่นๆ ของต้นมันฝรั่ง และเมื่อเก็บหัวมันฝรั่งไว้ที่ที่มีแสง หัวมันฝรั่งอาจจะกลายเป็นสีเขียวและเริ่มงอกต้นออกมา ส่วนนั้นก็มีสารพิษเช่นกัน และสารพิษนี้จะไม่ถูกทำลายด้วยความร้อน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงที่จะกิน
2
ปิดท้ายกันด้วยของกินจากมันฝรั่งครับ
เฟรนช์ฟรายด์ชีส
มันอบ
เอกสารอ้างอิง
2. Spooner, DM; et al. (2005). "A single domestication for potato based on multilocus amplified fragment length polymorphism genotyping". PNAS. 102 (41): 14694–99. doi:10.1073/pnas.0507400102
3. จุมพล สาระนาค อรพรรณ วิเศษสังข์ และเกตุอร ทองเครือ. โรคมันฝรั่ง. http://www.eto.ku.ac.th/neweto/e-book/plant/r_plant/rplant13.pdf
4. Goss, E. M.; Tabima, J. F.; Cooke, D. E. L.; Restrepo, S.; Fry, W. E.; Forbes, G. A.; Fieland, V. J.; Cardenas, M.; Grünwald, N. J. (2014). "The Irish potato famine pathogen Phytophthora infestans originated in central Mexico rather than the Andes". Proceedings of the National Academy of Sciences. 111 (24): 8791–96. doi:10.1073/pnas.1401884111.
8. Nunn N, Qian N. The Potato's Contribution to Population and Urbanization: Evidence from a Historical Experiment. Quarterly Journal of Economics. 2011; 126 (2) : 593-650.
10. "Greening of potatoes". Food Science Australia. 2005. https://web.archive.org/web/20111125205141/http://www.csiro.au/resources/green-potatoes
12. The Origin of Plant Pathology and The Potato Famine, and Other Stories of Plant Diseases. http://www.botany.hawaii.edu/faculty/wong/BOT135/LECT06.HTM
โฆษณา